รู้ไหมคะ ว่าการกระทำเพียงเล็กๆ น้อยๆ ของพ่อแม่ หรือ คนที่ดูแลเด็กเล็กอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตของเด็กน้อยได้เลยนะคะ โดยเฉพาะการเขย่าลูก หรือเด็กเล็กๆเพื่อพยายามทำให้น้องหยุดร้องไห้ หรือการเล่นกับลูกแบบโยนสูงๆ ก็มีโอกาสที่จะทำให้ลูกเป็น Shaken Baby Syndrome หรือกลุ่มอาการทารกถูกเขย่าได้เช่นกันนะคะ ซึ่งส่งผลให้เด็กเล็กเสียชีวิตได้เลยนะคะ พออ่านถึงตรงนี้แล้ว อาจจะมีหลายคนสงสัยนะคะ เพราะไม่เคยได้ยินมาก่อน ดังนั้นบทความนี้ จึงจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้นกันนะคะ จะเป็นอย่างไรบ้าง ตามมาดูไปพร้อมกันเลยค่ะ
โรค Shaken Baby Syndrome คือโรคที่มักพบในเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี โดยเฉพาะในวัยประมาณ 3-8 เดือน เกิดจากการที่พ่อแม่จับลูกเขย่าแรงๆ อาจจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตามนะคะ ซึ่งแรงเขย่านั้นจะทำให้เนื้อสมองกระแทกกับกะโหลกศีรษะ ปกติสมองของเด็กเล็กจะมีน้ำในช่องสมองมากกว่าเนื้อสมอง การเขย่าไปมาจึงทำให้เนื้อสมองแกว่งไป แกว่งมา แล้วไปกระทบกระแทกกับกะโหลกศีรษะ จนสมองบอบช้ำเสียหาย และอาจจะมีเลือดออกในสองได้ เพราะเส้นเลือดในสมองของเด็กเล็กๆยังไม่แข็งแรงพอ โอกาสที่จะมีการฉีกขาดจึงมีมากกว่าผู้ใหญ่นั่นเองค่ะ และเด็กแบเบาะนั้นยังมีกล้ามเนื้อคอไม่แข็งแรง จึงไม่สามารถพยุงศีรษะได้ตนเองค่ะ
อาการของเด็กที่เป็น โรค Shaken Baby Syndrome
หากดูโดยทั่วไปแล้ว เด็กที่ถูกเขย่าจนเป็นโรค Shaken Baby Syndrome นั้น มักจะไม่ค่อยทิ้งร่องรอยภายนอกนะคะ จึงมักไม่ได้รับการรักษาทันที และถูกปล่อยทิ้งไว้เพราะความไม่รู้ และคิดว่าไม่เป็นอะไร จึงทำให้เด็กมีโอกาสเสี่ยงที่จะเสียชีวิตขึ้นได้ และ ก็มีโอกาสตาบอด หรือเป็นลมชัก และหากรอดชีวิต ก็มักจะมีปัญหาด้านการเรียนรู้ หรือสติปัญญาต่อไปในอนาคตอีกด้วยนะคะ
วิธีสังเกตเด็กว่ามีภาวะเสี่ยงเป็นโรค Shaken Baby Syndrome หรือไม่นั้น สามารถดูได้จาก
อาการเริ่มแรกของผลกระทบจากการเขย่าเด็กรุนแรง ดังนี้นะคะ
• เด็กมักจะอาเจียน
• เด็กจะหายใจลำบาก
• เด็กจะมีอาการ เซื่องซึม ไม่ยอมดูดนม
• เด็กจะร้องไห้งอแงตลอด
• เด็กจะไม่ตอบสนองต่อเสียงเรียก
ผลกระทบที่เกิด เด็กที่ตกอยู่ในภาวะ Shaken Baby Syndrome นั้น จำนวน 1 ใน 3 คน มักจะเสียชีวิตนะคะ
และคนที่เหลือรอดก็มักจะเกิดภาวะตามมาดังนี้ค่ะ
• ตาบอดหรือเกิดการทำลายดวงตา
• มีพัฒนาการช้าลง
• เป็นลมชัก
• เป็นอัมพาต
• สติปัญญาอ่อน
วิธีป้องกัน เพื่อไม่ให้เด็กตกอยู่ในภาวะ Shaken Baby Syndrome
1. ไม่ควรอุ้มเด็กขึ้นโดยจับใต้รักแร้ แล้วแกว่งหรือเขย่าจนหัวสั่นคลอนอย่างรุนแรง
2. ไม่ควรเล่นกับลูกโดยการโยน-รับเด็กขึ้นลง (เล่นโยนสูงๆ)
3. ถ้าให้เด็กนั่งบนตักหรือไหล่ ต้องระวังไม่ให้เด็กล้มตัวลงไปด้านหลังอย่างกะทันหัน
4. เวลาอุ้มเด็กต้องใช้มือประคองศีรษะลูกเสมอ
5. เวลาลูกร้องไห้ไม่ควรเขย่าด้วยความโกรธ เพราอยากให้ลูกหยุดร้อง ควรใช้การปลอบประโลมลูกเบาๆ แทน
จะเห็นได้ว่า เด็กที่ตกอยู่ในภาวะ Shaken Baby Syndrome นั้น ค่อนข้างน่ากลัวและอันตรายมากๆเลยนะคะ ดังนั้น คนเป็นพ่อเป็นแม่ หรือ ใครที่ต้องดูแลเด็กเล็กๆ ควรต้องเพิ่มความระมัดระวังในการอุ้มเด็ก และการดูแลด้วยนะคะ หากพบว่าเด็กน้อย
อาจเสี่ยงกับการเป็นโรคนี้แล้ว ต้องรีบพาน้องไปพบคุณหมอโดยเร็วนะคะ เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่ระยะต้นๆนะคะ