ในปัจจุบันนี้ ต้องยอมรับว่าการใช้ชีวิตสมรส หรือชีวิตคู่นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลยนะคะ ที่ต่างฝ่ายจะประคับประคองกันให้ชีวิตคู่ไปกันได้ตลอดรอดฝั่ง ต้องอาศัยทั้งความรักและความเข้าใจกัน และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ความซื่อสัตย์นั่นเองค่ะ บางคู่ต้องหย่าร้างกัน เกิดเป็นคดีฟ้องร้องกันให้เห็นมากมายเลยนะคะ ยกตัวอย่างเช่น กระแสข่าวความสัมพันธ์คู่รักคนดัง ที่มีเหตุยื่นฟ้องต่อภรรยาในประเด็นด้านการเงิน ดังนั้นบทความนี้จึงมานำเสนอ การจัดการเรื่องทางการเงินของชีวิตคู่ เมื่อต้องจบลงกันนะคะ ว่าต้องทำอย่างไร ? ทรัพย์สินใดถือว่าเป็นหรือไม่เป็นสินสมรสบ้าง ? พร้อมปล้วตามมาดูกันเลยค่ะ

 

เรื่อง “ทางการเงิน” ที่ต้องเคลียร์ก่อนแยกทางกัน

 

 

 

ก่อนอื่นเลยเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมาย “สินสมรส” และ “สินส่วนตัว”กันก่อนนะคะ

การเงินเกี่ยวกับชีวิตคู่คงหนีไม่พ้นเรื่องของ “สินสมรส” และ “สินส่วนตัว” นะคะ เพราะสินสมรสเมื่อเลิกกันแล้วต้องนำมาแบ่งกัน ขณะที่สินส่วนตัว เมื่อแยกกัน ต่างคนก็จะต่างเป็นเจ้าของนั่นเองค่ะ

 

สินสมรส

 

 

คือ ทรัพย์สินที่ทั้งคู่ได้มาระหว่างสมรสกัน ซึ่งรวมถึงมรดก และทรัพย์สินส่วนที่ต้องสงสัยว่าเป็นสินสมรสหรือไม่ก็จะให้ตีว่าเป็นสินสมรสไว้ก่อน

 

สินส่วนตัว

 

 

คือ ทรัพย์สินที่ได้มาก่อนแต่งงาน ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว รวมถึงเครื่องมือทำมาหากิน และของที่มอบให้กัน หรือของที่มีการระบุชัดเจนว่าเป็นของคน ๆ นั้น

 

 

เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า เมื่อเกิดการหย่าร้างเราจึงมักได้ยินคำว่าแบ่งสินสมรสกันอยู่บ่อยครั้งนั่นเองค่ะ แต่หากไม่ใช่การหย่าร้างด้วยความยิมยอม เช่น กรณีฟ้องหย่า อาจมีรายละเอียดข้อตกลงอื่น ๆ ที่เป็นเรื่องทางการเงินที่ต้องจัดการกันต่อไปอีกด้วยค่ะ

 

การจัดการเรื่องเงินและทรัพย์สิน สำหรับคู่รักไม่จดทะเบียน

 

 

บางคู่รักใช้ชีวิตอยู่กินกันโดยไม่ได้มีการจดทะเบียน แม้จะไม่ถือว่าเป็นสามีภรรยากันตามกฎหมาย และทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างนั้นไม่ได้ถือว่าเป็น “สินสมรส” แต่แนวทางการวินิจฉัยเมื่อมีการฟ้องร้องกัน จะให้ถือว่าทรัพย์สินที่ทำมาหากินร่วมกันมานั้น “มีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน” ยกตัวอย่างเช่น กรณีฝ่ายหนึ่งทำงานได้เงินเดือน อีกฝ่ายทำงานบ้านเลี้ยงลูก เงินเดือนฝ่ายหนึ่งจะถือเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันแม้ไม่ได้จดทะเบียนแต่งงานกันก็ตาม

 

“ของที่มอบให้กัน” ต้องคืนหรือแบ่งกัน ?

การมอบของให้กันของคู่รัก โดยเฉพาะของที่มีมูลค่าสูง เช่น การมอบที่ดิน เมื่อเวลาผ่านไป หากเกิดปัญหา หรือแยกทางกัน ตามข้อกฎหมายมาตรา 1471 มีระบุถึงสินส่วนตัวเป็นทรัพย์สินที่มอบให้กันโดยเสน่หาด้วย ดังนั้น สิ่งที่มอบให้กันแล้วจึงถือเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่าย ไม่สามารถเอาคืน หรือเลิกกันก็ไม่ต้องนำมาแบ่งในฐานะของสินสมรส

 

หนี้สินต้องชดใช้ให้ด้วยหรือไม่ ?

 

 

การจัดการหนี้สินมีรายละเอียดขึ้นอยู่กับลักษณะของหนี้สินนั้น ๆ หากหนี้นั้นเป็นหนี้ร่วมกัน ให้ใช้สินสมรสหรือสินส่วนตัวชำระหนี้ โดยนำส่วนไหนมาชำระก่อนก็ได้

แต่หากหนี้นั้นเป็น “หนี้ส่วนตัว” ให้ใช้สินส่วนตัวในการชำระหนี้ก่อน หากไม่พอจึงให้ใช้สินสมรสในการใช้หนี้ ซึ่งหากมีการดำเนินการไปถึงจุดที่มีการยึดเอาสินสมรส สามารถยึดได้เพียงครึ่งเดียว ซึ่งเป็นส่วนของฝ่ายลูกหนี้เท่านั้น จะยึดสินสมรสในส่วนของอีกฝ่ายไม่ได้

ในส่วนกรณีหนี้ส่วนตัวที่ก่อขึ้นระหว่างสมรสกัน เช่น หนี้จากการค่าใช่จ่ายภายในบ้าน ค่ากินอยู่ร่วมกัน ค่าเลี้ยงดูบุตร หนี้จากการทำธุรกิจร่วมกัน รวมถึงหนี้มีสัญญาหรือนิติกรรมว่าจะใช้กัน เหล่านี้ให้ถือว่าคู่สมรสต้องรับผิดชอบร่วมกัน

 

วิธีการรับผิดชอบหนี้สินที่ร่วมกัน เมื่อเลิกกันต้องแบ่งกัน โดยมากเป็นหนี้เรื่องบ้าน มีวิธีจัดการอยู่ 2 ทาง คือ

1. ขายบ้าน แล้วแบ่งเงินตามการผ่อนชำระที่ผ่านมา
2. ขายกรรมสิทธิ์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง กรณีนี้ฝ่ายที่ซื้อต้องมีรายได้เพียงพอที่จะผ่อนต่อด้วย เนื่องจากเดิมที่มีการผ่อนร่วมกัน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการเจรจากับธนาคาร

 

มรดกจากสินสมรสที่ได้มา ต้องจัดการอย่างไร ?

 

 

– กรณีมีการจดทะเบียนสมรส
มรดกที่ได้รับมาในช่วงระหว่างแต่งงานกัน มีการระบุในพินัยกรรมว่าเป็นสินสมรส เมื่อแยกทางต้องแบ่งกัน แต่หากได้รับมาตามกฎหมายโดยไม่ได้มีการระบุในพินัยกรรมไว้ว่าเป็นสินสมรส ก็ไม่ต้องแบ่งเมื่อแยกทางกัน

– กรณีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส
ทรัพย์สินที่ได้มาในช่วงเวลานั้นถือเป็น “กรรมสิทธิ์ร่วม” เพราะถือว่าทำงานร่วมกันมา แต่ “มรดกที่ได้รับมาในช่วงอยู่ด้วยกัน” หากไม่ได้จดทะเบียนสมรส แม้พินัยกรรมมีการระบุให้เป็นสินสมรสก็จะ “ไม่ถือว่าเป็นมีกรรมสิทธิ์ร่วม”  เพราะถือว่าไม่ใช่สิ่งที่ได้มาจากการลงทุนหรือทำงานร่วมแรงกันมา

 

หุ้นหรือธุรกิจที่ทำร่วมกันมาจะแยกอย่างไร ?

สามีภรรยาอาจแยกทางกันได้ แต่หุ้นหรือธุรกิจที่ทำร่วมกันอาจไม่สามารถแยกส่วนออกจากกันได้ แล้วจะจัดการอย่างไรได้บ้างนั้น มาดูกันค่ะ

กรณีนี้หากไม่ได้มีการระบุไว้เป็นกรณีพิเศษว่าใครเป็นเจ้าของ จะถือว่าหุ้นหรือธุรกิจนั้นมีความเป็นเจ้าของร่วมกัน จึงมีสิทธิ์ในหุ้นหรือธุรกิจนั้นคนละครึ่ง ตามมาตรา 1367 เมื่อเลิกกันจึงให้แบ่งทรัพย์สินด้วยการขายแล้วแบ่งเงินกัน

อย่างไรก็ตาม หากมีการตกลงให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจัดการหุ้นหรือธุรกิจนั้น จะถือว่าหุ้นหรือธุรกิจนั้น ๆ เป็นสินส่วนตัวแทน เมื่อแยกกันก็ไม่ต้องนำมาแบ่งกัน

จะเห็นได้ว่า กฎหมายเกี่ยวกับคู่รักมีขึ้นเพื่อความเสมอภาคกันในการใช้ชีวิตของคน 2 คน แม้ในวันที่แยกทางกัน หลายสิ่งอาจเปลี่ยนไป แต่การพูดคุยตกลงกันอย่างชัดเจน เพื่อให้ต่างฝ่ายต่างแยกไปเดินบนทางของตนเองได้ด้วยดีนั่นเองค่ะ แม้จะเป็นจุดจบของชีวิตคู่ แต่ก็นำไปสู่จุดเริ่มต้นที่ดีได้ ทั้งนี้ทั้งสองฝ่ายต้องหันหน้ามาคุยกันด้วยสันติด้วยนะคะ อย่าใช้อารมณ์ในการแก้ปัญหา เพราะสุดท้ายคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคงหนีไม่พ้นสมาชิกในครอบครัวนั่นก็คือลูกๆนั่นเองค่ะ

 

 

 

 

ที่มา : Thai PBS