ผู้จัดการมรดก บุคคลผู้เสียสละและมักจะต้องรับความเสี่ยง

 

 

หลายคนอาจเคยประสบปัญหาหลังจากสมาชิกครอบครัวเสียชีวิตแล้วนะคะ เช่น การไปเบิกถอนเงินหรือไปดำเนินการโอนที่ดิน แล้วเจ้าหน้าที่แจ้งว่าต้องมีคำสั่งศาลมาแสดงก่อนหรืออะไรประมาณนี้ใช่ไหมคะ แล้วคำสั่งศาลที่เจ้าหน้าที่พูดถึงนั้นคือคำสั่งอะไร คำสั่งที่เจ้าหน้าที่ต้องการนั้นก็คือ “คำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดก” นั่นเองค่ะ

 

 

บทความนี้จึงจะพามาทำความเข้าใจว่ากับความหมาย และหน้าที่ของผู้จัดการมรดก กันนะคะ เราตามมาดูไปพร้อมกันเลยดีกว่าค่ะ ก่อนอื่นเลยมาดูกันค่ะว่า ผู้จัดการมคดกคือใคร?

ผู้จัดการมรดกคือใคร

ผู้จัดการมรดก คือ บุคคลที่ศาลมีคำสั่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก เพื่อทำหน้าที่รวบรวม จัดทำบัญชี และแบ่งทรัพย์สินซึ่งเป็นมรดกของผู้ตาย ให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิ์รับมรดกของผู้ตายในอัตราส่วนตามกฎหมาย และที่สำคัญ ผู้จัดการมรดก ต้องเป็นบุคคลซึ่งศาลมีคำสั่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกเท่านั้นนะคะ

ผู้จัดการมรดก มีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็น เพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป และมีหน้าที่รวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งให้ทายาทโดยธรรม หรือผู้รับพินัยกรรม ตลอดจนชำระหนี้สินของเจ้ามรดกแก่เจ้าหนี้ ทำบัญชีทรัพย์มรดก และทำรายการแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งมรดก โดยต้องจัดการไปในทางที่เป็นประโยชน์ แก่มรดก จะทำนิติกรรมใด ๆ ที่เป็นปรปักษ์ต่อกองมรดกไม่ได้เด็ดขาดค่ะ

 

 

หากผู้จัดการมรดก ละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ เช่น ปิดบังมรดกต่อทายาท หรือเบียดบังเป็นของตน หรือเพิกเฉยไม่แบ่งมรดกให้แก่ทายาท ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก หรือผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้อีกเช่นกันค่ะ และอาจมีความผิดอาญามีโทษจำคุกได้นะคะ

 

ผู้ที่มีสิทธิ์เป็นผู้จัดการมรดก

– ผู้ที่ผู้ตายระบุไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้จัดการมรดก
– ผู้ที่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก

ผู้ที่ไม่มีสิทธิ์เป็นผู้จัดการมรดก

– บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ (ยังไม่บรรลุนิติภาวะ)
– บุคคลวิกลจริต
– คนไร้ความสามารถ
– คนเสมือนไร้ความสามารถ
– บุคคลล้มละลาย

การยื่นคำร้องขอจัดการมรดกต้องยื่นที่ศาลใด

ศาลที่เจ้ามรดก (ผู้ตาย) มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาล ในขณะถึงแก่ความตาย
โดยมีค่าธรรมเนียมศาล 200 บาท ไม่รวมค่าส่งสำเนาคำร้อง / ส่งหมาย ไปให้ทายาทที่เกี่ยวข้อง ผู้ร้องกับผู้จัดการมรดกนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเดียวกันนะคะหลังยื่นคำร้องแล้ว จะได้รับคำสั่งศาล ประมาณ 2-4 เดือน นะคะ ในกรณีที่ไม่มีผู้คัดค้าน แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของคดีภายในศาลแต่ละช่วงอีกด้วยค่ะ หลังศาลมีคำสั่งแล้ว ก็ยังไม่สามารถจัดการมรดกทันทีเลยนะคะ ต้องทำการยื่นคำร้องขอให้ศาล ออกหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดก่อนค่ะ

 

 

การยื่นคำร้องขอจัดการมรดกในแต่ละกรณีนั้น อาจมีความซับซ้อนแตกต่างกันไปตามข้อเท็จจริงพื้นหลังครอบครัวของผู้ตายนะคะ เพราะฉะนั้นการยื่นคำร้องขอจัดการมรดกจึงควรดำเนินการโดยทนายความ หรือสำหรับท่านที่ไม่มีทุนทรัพย์พอจะว่าจ้างทนายความแล้ว สามารถติดต่อสำนักงานอัยการเพื่อขอความช่วยเหลือทางกฎหมายต่อไปได้เช่นกันค่ะ

 

ที่มา : บทความกฎหมาย โดย สุพิชญา ปิยานนท์พงศ์