วันอัฏฐมีบูชาในปี 2567 นี้ ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม 2567 ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของเรานะคะ แต่อาจจะมีหลายหลงลืม หรือแทบจะไม่รู้จักด้วยซ้ำ เนื่องจากอาจไม่ได้จัดเป็นวันหยุดของราชการหรือเอกชนนั่นเองค่ะ
สำหรับวันอัฏฐมีบูชา ถือเป็นวันคล้ายวันถวายพระเพลิงพุทธสรีระ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 8 วัน แต่ในวันดังกล่าวได้เกิดเหตุการณ์ใดขึ้นบ้าง และพุทธศาสนิกชนควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร ตามมาดูพร้อมกันเลยค่ะ
ประวัติวันอัฏฐมีบูชา
หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานใต้ต้นสาละ ในราตรี 15 ค่ำ เดือน 6 เจ้ามัลลกษัตริย์ได้จัดพิธีบูชาด้วยของหอม ดอกไม้ และดนตรีทุกชนิด ที่มีอยู่ในเมืองกุสินาราตลอด 7 วัน และให้เจ้ามัลละระดับหัวหน้า 8 คน สรงเกล้า นุ่งห่มผ้าใหม่ อัญเชิญพระสรีระไปทางทิศตะวันออกของพระนคร เพื่อถวายพระเพลิง
จากนั้นให้พวกเจ้ามัลละระดับหัวหน้า 4 คน พยายามจุดไฟที่เชิงตะกอน แต่ไม่อาจติดไฟได้ ทั้งที่ได้ทำตามคำของพระอานนท์เถระที่ให้ห่อพระสรีระพระพุทธเจ้าด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลี แล้วใช้ผ้าใหม่ห่อทับอีก ทำเช่นนี้จนหมดผ้า 500 คู่ แล้วเชิญลงในรางเหล็กที่เติมด้วยน้ำมัน แล้วทำจิตกาธานด้วยดอกไม้จันทน์ และของหอมทุกชนิด
พระอนุรุทธะได้เห็นดังนั้น จึงแจ้งว่า เพราะเทวดามีความประสงค์ให้รอพระมหากัสสปะ และภิกษุหมู่ใหญ่ 500 รูป ผู้กำลังเดินทางมาเพื่อถวายบังคมพระบาทเสียก่อน ไฟก็จะลุกไหม้ เนื่องจากเทวดาเหล่านี้ เคยเป็นโยมอุปัฏฐากของพระเถระและพระสาวกผู้ใหญ่มาก่อน จึงไม่ยินดีที่ไม่เห็นพระมหากัสสปะอยู่ในพิธี
และเมื่อภิกษุหมู่ 500 รูป โดยมีพระมหากัสสปะเป็นประธานเดินทางมาพร้อมกัน ณ ที่ถวายพระเพลิงแล้ว ไฟก็ลุกโชนขึ้นเองโดยไม่ต้องมีใครจุด
หลังจากที่พระเพลิงเผาไหม้พระพุทธสรีระพระบรมศาสดาดับมอดลงแล้ว บรรดากษัตริย์มัลละทั้งหลาย จึงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมด ใส่ลงในหีบทองแล้วนำไปรักษาไว้ภายในนครกุสินารา ส่วนเครื่องบริขารต่าง ๆ ของพระพุทธเจ้าได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐานตามที่ต่างๆ อาทิ ผ้าไตรจีวร อัญเชิญไปประดิษฐานที่แคว้นคันธาระ บาตร อัญเชิญไปประดิษฐานที่เมืองปาตลีบุตร เป็นต้น
จุดเริ่มต้นของการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ
ในระยะเวลาต่อมา เมื่อบรรดากษัตริย์จากแคว้นต่าง ๆ ได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานที่นครกุสินารา จึงได้ส่งตัวแทนไปขอแบ่ง “พระบรมสารีริกธาตุ” เพื่อนำกลับมาสักการะยังแคว้นของตน แต่ก็ถูกกษัตริย์มัลละปฏิเสธ จึงทำให้ทั้งสองฝ่ายขัดแย้งและเตรียมทำสงครามกัน แต่ในสุดเหตุการณ์ก็มิได้บานปลาย เนื่องจาก “โทณพราหมณ์” พราหมณ์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งได้เสนอให้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 8 ส่วนเท่า ๆ กัน กษัตริย์แต่ละเมืองก็ยอมรับแต่โดยดี และกลับไปสร้างเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตามเมืองของตัวเอง ดังนี้
– กษัตริย์ลิจฉวี ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองเวสาลี
– กษัตริย์ศากยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองกบิลพัสดุ์
– กษัตริย์ถูลิยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองอัลลกัปปะ
– กษัตริย์โกลิยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองรามคาม
– มหาพราหมณ์ สร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองเวฏฐทีปกะ
– กษัตริย์มัลละแห่งเมืองปาวา ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองปาวา
– พระเจ้าอชาตศัตรู ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองราชคฤห์
– มัลลกษัตริย์แห่งกุสินารา ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองกุสินารา
– กษัตริย์เมืองโมริยะ ทรงสร้างสถูปบรรจุพระอังคาร (อังคารสถูป) ที่เมืองปิปผลิวัน
– โทณพราหมณ์ สร้างสถูปบรรจุทะนานตวงพระบรมสารีริกธาตุ ที่เมืองกุสินารา
ทั้งนี้ กรณีของกษัตริย์เมืองโมริยะนั้น ที่ได้พระอังคารไปเนื่องจาก ได้ส่งผู้แทนมาหลังจากที่โทณพราหมณ์แบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้ทั้ง 8 เมืองไปแล้ว จึงได้อัญเชิญพระอังคารไปแทน
ส่วนโทณพราหมณ์ ได้สร้างสถูปบรรจุทะนานที่ใช้สำหรับตวงพระบรมสารีริกธาตุสำหรับตนเอง และผู้คนได้สักการะดังที่ได้กล่าวไป
ประเพณีวันอัฏฐมีบูชาในประเทศไทย
การจัดงานวันอัฏฐมีบูชาในประเทศไทย อาจไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ในราชสำนักปัจจุบัน ปรากฏในการพระราชพิธีในเดือนหก “พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า” ทั้งนี้ไม่มีหลักฐานปรากฏว่าก่อนสมัยรันตโกสินทร์มีการประกอบพระราชพิธีนี้หรือไม่
แต่เดิมการพระราชพิธีนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา กระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกพระราชพิธีนี้ออกมา
โดยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงพระราชอุทิศและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์เสด็จไปทรงจุดเทียนรุ่งบูชาพระรัตนตรัยพระอารามหลวง 7 อาราม ประกอบด้วย วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม วัดบวรนิเวศวิหาร วัดนิเวศธรรมประวัติ วัดบรมนิวาส และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ในส่วนของพิธีชาวบ้าน จะมีการประกอบพิธีเพียงบางวัดเท่านั้น ตามความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น ส่วนใหญ่จะเป็นการทำบุญตักบาตร ฟังเทศก์ แสดงธรรม และมีเพียงบางวัดที่พบประเพณีการถวายพระเพลิงพระบรมศพจำลอง เช่น วัดบรมธาตุทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ และ วัดใหม่สุคนธาราม จังหวัดนครปฐม ที่สืบทอดประเพณีโบราณนี้มาจนถึงปัจจุบันนานกว่า 100 ปี
หลักธรรมสำคัญในวันอัฏฐมีบูชา
เนื่องจากเป็นวันที่ตรงกับวันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เป็นวันที่ชาวพุทธสูญเสียพระบรมศาสนาซึ่งเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูง พุทธศาสนิกชนจึงควรตระหนักถึง “ชีวิตมนุษย์ว่าคืออะไร และเข้าใจว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นเป็นของไม่เที่ยง มีการเกิด แก่ เจ็บ และตาย เป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีใครหนีพ้น” ซึ่งตรงกับหลักธรรมทางพุทธศาสนาดังนี้
– ขันธ์ 5 (รูปธรรมและนามธรรมทั้ง 5 ที่ทำให้เกิดความเป็นตัวตนขึ้นมา สอดคล้องเรื่องของทุกข์
– หลักอริยสัจ 4 : รูป สิ่งที่มองเห็น ได้ยิน จับต้องได้เวทนา ความรู้สึก เช่น ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์สัญญา ความจำได้หมายรู้สังขาร ความคิดปรุงแต่งจิตวิญญาณ รู้แจ้งในอารมณ์ สัมผัสทั้ง 6
– ไตรลักษณ์ 3 (ความจริง 3 ประการ อันเป็นกฎธรรมดาของสรรพสิ่งทั้งปวง)อนิจจัง ความไม่เที่ยงแท้ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงตลอดทุกขัง ความทุกข์อนัตตา ทุกอย่างเป็นของนอกกาย เป็นสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมา ความไม่ประมาทต้องมีสติเสมอ เพราะสติคือการระลึกได้ การระลึกได้อยู่เสมอจะทำให้เราใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท
ข้อปฏิบัติในวันอัฏฐมีบูชา
พุทธศาสนิกชนอาจ เข้าวัดทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรม หรือ สวดมนต์ถวายดอกไม้ธูปเทียน ได้ดังต่อไปนี้
ที่มา : สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, คณะมนุษยศาสตร์ มจร, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ชมรมพุทธธรรมรามาธิบดี และ ประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย