เทศกาลไหว้บะจ่าง มีอีกชื่อหนึ่งว่า เทศกาลตวนอู่ ซึ่งตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติ เพื่อเป็นการระลึกถึงชีหยวน กวีคนสำคัญของจีนที่กระโดดน้ำเสียชีวิตด้วยความรักชาติ
ประวัติเทศกาลไหว้บะจ่าง
สมัยเลียดก๊ก มีกวีผู้เป็นปราชญ์มีความรู้รอบด้าน ชื่อว่า ชีหยวน เขาได้รับราชการเป็นขุนนางในสมัยพระเจ้าฉู่หวายอ๋อง โดยเป็นที่ปรึกษาและดูแลเชื้อพระวงศ์ ชีหยวนเป็นคนที่สื่อสัตย์และเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าฉู่หวายอ๋อง
ด้วยความที่ชีหยวนเป็นคนที่ซื่อตรงเป็นอย่างมาก จึงทำให้มีคนไม่พอใจในการทำงานของเขาเนื่องจากเขาไปขัดขวางการโกงกินของขุนนางกังฉิน พวกของขุนนางกังฉินจึงเริ่มรวมหัวกันใส่ร้ายชีหยวนจนพระเจ้าฉู่หวายอ๋องเริ่มเชื่อ
ต่อมาพระเจ้าฉู่หวายอ๋องสวรรคต รัชทายาทจึงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ใหม่ และเชื่อคำยุยงของเหล่าขุนนางกังฉิน จนทำให้เนรเทศชีหยวนออกจากแคว้น ชีหยวนเสียใจอย่างมาก จนกระทั่งเดินทางไปถึงแม่น้ำเปาะล่อกัง และตัดสินใจกระโดดน้ำจบชีวิตของตนเองในวันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5
เมื่อชาวบ้านรู้เรื่องราวของชีหยวนก็ได้ออกเรือตามหา และระหว่างตามหาก็ได้มีการนำอาหารโปรยลงในแม่น้ำเผื่อไม่ให้สัตว์น้ำมากินซากศพของชีหยวน หลังจากนั้นทุกปีเมื่อครบรอบวันตายของชีหยวน ชาวบ้านก็จะนำอาหารไปโปรยลงแม่น้ำเปาะล่อกัง ชาวบย้านทำแบบนี้ติดต่อกันมา 2 ปี จนมีชาวบ้านคนนึงฝันถึงชีหยวน โดยชีหยวนบอกว่าอาหารที่ชาวบ้านโปรยลงแม่น้ำเพื่อเป็นเครื่องเซ่นได้โดนเหล่าสัตว์น้ำกินจนหมด ชีหยวนจึงแนะนำให้ห่ออาหารเหล่านั้นด้วยใบไผ่หรือใบจากก่อนโยนลงน้ำ เพื่อสัตว์น้ำเหล่านั้นจะได้ไม่กิน
หลังจากนั้นชาวบ้านก็ทำตามที่ชีหยวนแนะนำ จนชีหยวนมาเข้าฝันว่าครั้งนี้ได้กินอาหารมากขึ้น แต่ก็ยังโดนสัตว์นี้แย่งกินอยู่ จึงให้เปลี่ยนวิธีการห่ออาหารให้ตกแต่งเป็นรูปมังกร เมื่อสัตว์น้ำเห็นจะได้นึกว่าเป็นเครื่องเซ่นของพญามังกร และไม่กล้ากิน