บทความนี้จะมานำเสนอเกี่ยวกับเรื่อง เช็กเงื่อนไข ติดโซลาร์บ้าน ลดหย่อนภาษีไม่เกิน 2 แสนกันนะคะ โดยล่าสุด ครม.มีมติเห็นชอบใช้มาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษี ติดโซลาร์บ้าน ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 2 แสนบาทแล้วนะคะ พร้อมแล้วตามมาดูรายละเอียดกันได้เลยค่ะ

 

เช็กเงื่อนไข ติดโซลาร์บ้าน ลดหย่อนภาษีไม่เกิน 2 แสน

 

 

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ หนึ่งในนั้นเป็นมาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีหนุนพลังงานทดแทน จูงใจผู้ประกอบการและภาคครัวเรือนลงทุนลดภาระค่าไฟ ติดตั้ง Solar Rooftop มีสิทธิลดหย่อนภาษีได้ถึง 200,000 บาท เตรียมนำร่างกฎหมายส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เข้า ครม.เร็ว ๆ นี้ โดยรายละเอียดมาตรการส่งเสริมการติดตั้ง Solar Rooftop ในบ้านอยู่อาศัย วัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนลงทุนติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนและลดภาระค่าไฟฟ้าในครัวเรือน มีเป้าหมายส่งเสริมการติดตั้ง Solar Rooftop ในภาคครัวเรือนทั่วประเทศ และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน

 

ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมาย เน้นประชาชนกลุ่มบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้ง Solar Rooftop จะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สามารถนำเงินลงทุนในการติดตั้งระบบ Solar Rooftop มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในวงเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

 

เงื่อนไขการดำเนินการ

 

 

 

– เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 (เฉพาะบ้านอยู่อาศัย)

– เป็นผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 40 (1) – ( แห่งประมวลรัษฎากร ไม่รวมห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

– ชื่อผู้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีต้องตรงกับชื่อเจ้าของมิเตอร์ไฟฟ้าของบ้านอยู่อาศัย

– สิทธิการลดหย่อนภาษี 1 บุคคล ต่อ 1 มิเตอร์ ต่อ 1 ระบบ

– ระบบ Solar Rooftop ที่ติดตั้งต้องเป็นระบบ On-grid (ระบบโซลาร์เซลล์ที่เชื่อมต่อกับการไฟฟ้า ซึ่งระบบนี้จะผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์และใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้ทันที) และมีกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 กิโลวัตต์สูงสุด (kWp) ต่อหลัง

– ต้องเป็นระบบที่มีการจัดซื้อ ติดตั้ง และยื่นขออนุญาตเชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย

– มีหลักฐานใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ (Tax Invoice) ของการจัดซื้อและติดตั้งระบบ Solar Rooftop และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เอกสารขออนุญาตเชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้า

 

ระยะเวลามาตรการ : นับถัดจากวันที่ราชกิจจานุเบกษาประกาศให้มีผลบังคับใช้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2570 คาดการณ์ผู้ใช้สิทธิ 90,000 ราย

 

 

 

 

 

ที่มา : กรมประชาสัมพันธ์