ในวันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม 2024 เป็นวันที่ตลาดหุ้นโลกบันทึกไว้ว่า เป็น เหตุการณ์ จันทร์ทมิฬ หรือ แบล็กมันเดย์ (Black Monday) ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้นโลก หลังมีแรงเทขายออกมาอย่างหนัก เรียกได้ว่าเป็นภาวะตื่นตระหนก หรือ แพนิค จากความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย

 

 

– ตลาดหุ้นญี่ปุ่น (นิกเคอิ 225 ) อาการหนักสุด ปรับตัวลง 12.4 % ทำสถิติร่วงหนักที่สุดในรอบ 37 ปี   นับจากเกิดเหตุการณ์แบล็กมันเดย์ เมื่อปี 1987 (พ.ศ.2530 ) หรือเมื่อ 37 ปีที่แล้ว

– ตามมาด้วยตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ปรับตัวลง 8.8 %

– ตลาดหุ้นไต้หวัน ปรับตัวลง 8.4 %

– ตลาดหุ้นเวียดนาม ปรับตัวลง 3.9 % ตลาดหุ้นเซินเจิ้น ปรับตัวลง 1.9 %

– ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ ปรับตัวลง 1.5 %

– ตลาดหุ้นฮ่องกง ปรับตัวลง 1.5 %

– ส่วนหุ้นไทย ปรับตัวลง 2.93 %

 

 

เหตุผลที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นอาการหนักกว่าตลาดหุ้นอื่น ๆ นักวิเคราะห์มองว่า เพราะโดน 3 หมัดหนัก คือ

 

 

 

1. กังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯถดถอย

2. ธนาคารกลางญี่ปุ่น ( BOJ) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้่ยกระทันหันที่ 0.25 % ทำให้เงินเยนแข็งค่า กระทบส่งออก ขณะที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะมีรายได้จากการส่งออก และ

3. นักลงทุนกังวลหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์( AI) เป็นฟองสบู่ หลังราคาปรับขึ้นมามากแล้ว

 

ย้อนรอยเหตุการณ์ แบล็กมันเดย์ ครั้งแรกในประวัติศาสต์ตลาดหุ้นโลก เมื่อ 37 ปีก่อน หรือปี 1987

 

 

 

ข้อมูลจากวิกิพีเดีย บันทึกไว้ว่า การปรับตัวลงอย่างรุนแรงของตลาดหุ้นโลกเริ่มต้นในฮ่องกง แล้วค่อยลุกลามไปทางตะวันตกถึงทวีปยุโรป และส่งผลต่อสหรัฐอเมริกาหลังตลาดอื่นปรับตัวลดลงอย่างมากแล้ว ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (DJIA) ปรับตัวลดลงถึง 507.99 จุด ไปปิดที่ 1738.74 จุด หรือลดลง 22.61 %

จนถึงปลายเดือนตุลาคมปีนั้น ตลาดหลักทรัพย์ในฮ่องกง ปรับตัว -45.5 % ออสเตรเลีย -41.8 % สเปน- 31 % สหราชอาณาจักร – 26.45 % สหรัฐฯ- 22.68 % และแคนาดา – 22.5 % ส่วนตลาดหลักทรัพย์ของนิวซีแลนด์ได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ โดยลดลงถึง 60 % นับจากสถิติสูงสุดในปีเดียวกัน และใช้เวลาอีกหลายปีในการฟื้นตัว

 

สาเหตุของการเกิด แบล็กมันเดย์ ปี 1987

ฟินโนมีนา มองว่า เหตุการณ์แบล็กมันเดย์ เมื่อ 37 ปีที่แล้ว น่าจะมีอยู่ 3 ข้อด้วยกัน

ประเด็นที่ 1. เกิดจากการปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงของ Dow Jones จากระดับ 2,000 จุด และขึ้นไปถึง 2,747 จุด ภายในระยะเวลา 3 เดือน หรือเพิ่มขึ้น 43% นับจากต้นปีอย่างที่บอกไป การปรับตัวขึ้นรวดเดียวแบบนี้ เป็นใครก็ต้องนึกได้ว่า มันน่าจะมีการปรับฐานตามมาบ้าง

ประเด็นที่ 2. อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐ หรือ CPI ปรับตัวขึ้นมากกว่า 4% ภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งเป็นสัญญาณการเร่งตัวของเศรษฐกิจที่ร้อนแรงเกินไปอยู่แล้ว แต่ผู้คนในตลาดกลับมองว่าภาวะกระทิงน่าจะยังดำเนินต่อไป เพราะจะมีการเลือกตั้งในปี 1988 พร้อมนโยบายใหม่ๆในอนาคตจนลืมตรวจสอบสภาวะปัจจุบัน ณ ตอนนั้น

ประเด็นที่ 3. สาเหตุของเงินเฟ้อ ก็มาจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น 107% จากระดับ $10.80 ในเดือน มี.ค. ปี 1987 ไปสู่ $22.40 ในเดือน ส.ค. ใครเห็นภาพแบบนี้ก็ต้องรู้ว่ามัน Bubble ชัดๆ แต่คนในตลาดตอนนั้นกลับมองแง่ดีเกินไป

 

 

สำหรับตลาดหุ้นอื่นๆทั่วโลก ก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เช่นกัน ดัชนี SET Index ของไทย ราคาก็ลดลงอย่างรวดเร็วจากระดับสูงสุดที่ 472.86 จุด มาอยู่ที่ 243.97 จุด ณ วันที่ 11 ธันวาคม ปีนั้น โดยระดับดัชนีลดลงถึง 228.89 จุด หรือ 48.4% ในช่วงเวลาไม่ถึง 2 เดือน

 

 

 

 

 

ที่มา : กองบรรณาธิการ การเงินธนาคาร