บทความนี้จะมานำเสนอเกี่ยวกับเรื่อง โรคอันตรายที่พบได้ในลูกแมวกันนะคะ ปกติแล้วสำหรับลูกแมวหลังคลอดจะได้รับภูมิคุ้มกันผ่านทางน้ำนมแม่ เพราะในระยะนี้ร่างกายยังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงและสมบูรณ์พอ ลูกแมวจึงสามารถติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย ที่ก่อโรคอันตรายทำให้ลูกแมวป่วยได้หลายโรค แต่โรคที่ติดต่อได้ง่าย พบได้บ่อย ที่เจ้าของลูกแมวควรต้องระวังเอาไว้จะมีโรคไหนบ้าง พร้อมแล้วตามมาดูกันเลยค่ะ
โรคอันตรายที่พบได้ในลูกแมว
– โรคไข้หัดแมว
เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Feline parvovirus ทำให้ลูกแมวท้องเสีย มีอาการซึม เบื่ออาหาร มีไข้สูง อาเจียน หรือถ้าลูกแมวท้องเสียแบบมีเลือดปนในอึออกมา เชื้อโรคจะมีผลต่อสมอง ทำให้การทรงตัวผิดปกติไป นอกจากนี้ยังทำให้ลูกแมวตาบอด และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โรคนี้ติดต่อได้ง่ายหากลูกแมวไปสัมผัสอึ ฉี่ และใช้ของรวมกับแมวป่วย ซึ่งลูกแมวในช่วงอายุระหว่าง 2-6 เดือน จัดว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคนี้ได้ง่าย – โรคหวัดแมว จากชื่อโรคก็ทำให้เราพอจะเดากันได้ไม่ยาก ว่าโรคนี้ทำให้แมวเป็นหวัด ที่สำคัญโรคนี้เกิดได้จากการติดเชื้อหลายชนิด เช่น Feline herpesvirus และ Feline calicivirus แค่สูดดมไวรัสที่กระจายมาในอากาศก็ติดโรคได้แล้ว อาการเด่นที่เห็นได้ชัดคือ ลูกแมวเป็นหวัด และแสดงอาการต่างๆ เกี่ยวกับหวัดออกมา เช่น ไอ จาม มีน้ำมูก ตาอักเสบ มีแผลหลุมในปาก หรือบางตัวเป็นรุนแรงอาจเกิดปอดอักเสบตามมา
– โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในแมว
เกิดจากเชื้อ Feline Leukemia Virus (FeLV) ซึ่งไวรัสจะเข้าทำลายจนทำให้ภูมิคุ้มกันเสียหาย หากเป็นโรคแล้วก็ไม่สามารถรักษาได้หายขาด ทำได้เพียงการรักษาตามอาการ สามารถติดต่อจากแม่แมวไปยังลูกแมวได้ ผ่านน้ำลายและสิ่งคัดหลั่ง ช่วงแรกของโรคอาจสังเกตเห็นว่าเริ่มมีอาการซึม และพบว่าลูกแมวท้องเสีย จากนั้นอาจมีอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น ตัวซีดเหลือง ไม่มีแรง ขนหยาบ น้ำหนักตัวลด ลูกแมวท้องเสียเรื้อรัง ช่องปากอักเสบ
– โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อ โรคนี้จัดว่าเป็นโรคที่น่ากลัวมากๆ สำหรับเจ้าของลูกแมวหลายๆ คน ซึ่งเกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัส Feline Coronavirus (FCoV) ยังไม่มีการรักษาใดที่ได้ผล 100% โรคนี้ติดต่อง่ายผ่านทางน้ำลาย อุจจาระ และการใช้ของร่วมกับแมวป่วย ลูกแมวที่ป่วยระยะแรกอาจดูซึม ผอมลง อาจพบอาการท้องบวมน้ำ เพราะมีของเหลวสะสมในช่องท้อง หรือ/และ ช่องอก และรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ภายในระยะเวลาอันสั้น พบได้ในลูกแมวอายุตั้งแต่ 3 เดือนถึง 3 ปี ที่เลี้ยงน้องแมวแออัดมากกว่าเลี้ยงตัวเดียว
ดังนั้นการฉีดวัคซีนแมวตามที่คุณหมอนัดหมายจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเหล่านี้ได้ นอกจากการฉีดวัคซีนแมวแล้วก็ควรเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของลูกแมวให้แข็งแรงยิ่งขึ้น ด้วยอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน สำหรับลูกแมว เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันของลูกแมวทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนะคะ