บทความนี้จะมานำเสนอเกี่ยวกับเรื่อง อาการปวดหลังที่ควรไปพบแพทย์นะคะ หากคุณกำลังประสบปัญหาปวดหลังเรื้อรังที่ไม่ยอมหายขาดสักที แม้จะกินยาคลายกล้ามเนื้อ ทายา นวดแก้อาการ หรือลองวิธีอื่นๆ มาหมดแล้วก็ตาม อาการปวดหลังที่เรื้อรังเช่นนี้อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงกว่าที่คิดก็เป็นได้นะคะ พร้อมแล้วตามมาดูกันเลยค่ะว่า อาการปวดหลังที่ควรไปพบแพทย์นั้นจะมีอะไรบ้างนะคะ
อาการปวดหลังที่ควรไปพบแพทย์
1. ปวดหลังเรื้อรังนานเกิน 3 เดือนขึ้นไป
หากปวดหลังต่อเนื่องนานเกิน 3 เดือน และไม่มีท่าทีว่าจะหาย นั้นอาจเป็นสัญญาณของภาวะปวดหลังเรื้อรัง ที่ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม การปวดหลังในระยะยาวอาจเกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บ หรือความผิดปกติของกระดูกสันหลังหรือกล้ามเนื้อ
2. ปวดหลังรุนแรงจนกระทบการใช้ชีวิต
อาการปวดหลังที่รุนแรงจนไม่สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เช่น ไม่สามารถทำงาน เดิน หรือเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ อาจเป็นปัญหาสุขภาพบางอย่างที่ต้องการการรักษาอย่างเร่งด่วน
3. ปวดจนนอนไม่หลับ หรือปวดตั้งแต่ตื่นนอน
หากปวดหลังจนทำให้ไม่สามารถนอนหลับได้อย่างเต็มที่ หรือปวดหลังทันทีตั้งแต่ตื่นนอน นั่นอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ควรไปตรวจสอบ ไม่ควรปล่อยไว้เพราะมันส่งผลต่อทั้งคุณภาพชีวิต และสุขภาพจิตใจจากการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
4. กินยา ทายา นวดแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น
หากคุณลองทำตามวิธีต่างๆ ดังกล่าวเพื่อบรรเทาอาการปวดหลัง แต่อาการก็ไม่สามารถบรรเทาลงได้ ก็ถึงเวลาที่ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไปค่ะ
5. ไอ จาม หรือเบ่งถ่ายแล้วจะทำให้ยิ่งปวด
หากปวดหลังแบบเฉียบพลันขึ้นมาในขณะที่ไอ จาม หรือเบ่งถ่าย นั่นแสดงว่าอาจมีการกดทับเส้นประสาทหรือปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลัง ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมต่อไป
6. มีอาการปวดร้าวลงขา ขาชาร่วมด้วย
หากคุณมีอาการร่วมอื่นๆ นอกจากอาการปวดหลัง เช่น ปวดร้าวลงขาหรือมีความรู้สึกชาตามขา นั่นอาจเป็นสัญญาณของปัญหาที่รุนแรง เช่น หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท หรือภาวะกระดูกสันหลังเคลื่อน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
ปวดหลังเรื้อรังไม่หาย เสี่ยงโรคอะไรได้บ้าง ?
1. หมอนรองกระดูกเคลื่อน
หมอนรองกระดูกเคลื่อนเป็นสาเหตุที่พบบ่อยสำหรับอาการปวดหลังเรื้อรัง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม เช่น ยกของหนักอย่างไม่ถูกวิธี เกิดจากการเคลื่อนที่ของหมอนรองกระดูกที่อยู่ระหว่างกระดูกสันหลัง ทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทและกล้ามเนื้อโดยรอบ ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังตรงแถวบั้นเอวหรือกระเบนเหน็บ ร่วมกับอาการปวดร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง
2. กระดูกสันหลังเสื่อม
กระดูกสันหลังเสื่อมเป็นภาวะที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของกระดูกและหมอนรองกระดูก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีการสึกหรอของกระดูกสันหลังอย่างเป็นธรรมชาติ การเสื่อมสภาพนี้อาจทำให้กระดูกสันหลังเสียรูปและเกิดแรงกดทับต่อเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการปวดหลังแบบขัดๆ ภายในข้อ ปวดลึก ปวดเสียว และรู้สึกข้อกระดูกฝืดเคือง
3. กระดูกสันหลังคด
กระดูกสันหลังคดเป็นภาวะที่กระดูกสันหลังโค้งผิดรูปมากกว่าปกติ จนเป็นตัว C หรือตัว S ซึ่งอาจเกิดจากการเจริญเติบโตของกระดูกไม่สมดุลหรือการนั่งทำงานในท่าที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานานๆ การที่กระดูกสันหลังคดนั้นอาจทำให้เกิดอาการปวดหลังที่รุนแรงกว่าปกติ เอวและลำตัวเบี้ยวจนเสียบุคลิก หรืออาจมีอาการปวดขาร่วมด้วยเนื่องจากแรงกดทับของเส้นประสาท
4. กระดูกสันหลังเคลื่อน
กระดูกสันหลังเคลื่อนคือภาวะที่กระดูกสันหลังเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิม ซึ่งมักเกิดจากการบาดเจ็บหรือการใช้งานที่ไม่ถูกต้อง อาการที่พบคือปวดหลังส่วนล่าง ปวดร้าวลงสะโพก ก้น ต้นขา แต่ถ้ากระดูกเคลื่อนไปโดนเส้นประสาทจะมีอาการขาชา และขาอ่อนแรงร่วมด้วย การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ บางรายอาจต้องการการผ่าตัดเพื่อแก้ไข
5. กล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง
โรคนี้ไม่ได้เกิดหรือเกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลังโดยตรง แต่เป็นที่กล้ามเนื้อหลังโดยเฉพาะ เกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อหลังอย่างต่อเนื่องและไม่ถูกต้อง หรืออาจเกิดจากการบาดเจ็บในอดีตที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาการที่พบบ่อยคือปวดแบบกว้างๆ ไปทั้งแผ่นหลัง ก้มหรือแอ่นหลังไม่ได้ และจะปวดมากขึ้นเมื่อต้องทำกิจกรรมที่ต้องก้มๆ เงยๆ
กลุ่มเสี่ยงที่ควรระวังเป็นพิเศษ
1. คนที่มีน้ำหนักตัวมากเกินเกณฑ์
น้ำหนักที่มากเกินไปทำให้กระดูกและกล้ามเนื้อหลังต้องรับภาระหนักมากขึ้น จึงเสี่ยงต่อการปวดหลังได้ง่ายขึ้น การลดน้ำหนักและรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยงนี้ได้
2. ทำกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมบ่อยๆ
การยกของหนัก การก้ม หรือนั่งท่าเดิมนานๆ เป็นพฤติกรรมที่ทำให้กระดูกสันหลังและกล้ามเนื้อหลังต้องทำงานหนักเกินไป ควรหลีกเลี่ยงการทำงานที่มีการใช้กล้ามเนื้อหลังอย่างหนักเกินไป และควรใช้เทคนิคที่ถูกต้องในการยกของหนัก เช่น การงอเข่าแทนการงอหลัง
3. ชอบสูบบุหรี่จัด
หลายคนอาจไม่ทราบข้อนี้ แต่การสูบบุหรี่ทำให้หมอนรองกระดูกเสียหายได้ง่ายขึ้น เนื่องจากการสูบบุหรี่ทำให้การไหลเวียนเลือดไม่ดี ส่งผลให้การซ่อมแซมของกระดูกและกล้ามเนื้อทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร
4. ผู้สูงอายุที่กระดูกพรุน กระดูกบาง
เมื่ออายุมากขึ้น กระดูกจะมีความแข็งแรงน้อยลง ทำให้เสี่ยงต่อการปวดหลังมากขึ้น จึงควรดูแลสุขภาพกระดูกด้วยการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง และการออกกำลังกายที่ช่วยเสริมสร้างกระดูก
แนวทางดูแลและป้องกัน
เพื่อป้องกันและบรรเทาอาการปวดหลังเรื้อรัง ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การนั่งในท่าที่ถูกต้อง ออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อหลัง
1. ออกกำลังกายให้บ่อยขึ้น
โดยเลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสม เช่น โยคะ การเดินเร็ว การว่ายน้ำ เพราะสามารถช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อหลังและลดความเสี่ยงในการปวดหลังได้
2. การปรับท่าทางในชีวิตประจำวัน
ควรหลีกเลี่ยงการนั่งก้มหน้าเป็นเวลานาน และใช้หมอนรองหลังเมื่อจำเป็น การปรับความสูงของเก้าอี้และโต๊ะทำงานให้เหมาะสมก็เป็นสิ่งสำคัญ
3. การพักผ่อนที่เพียงพอ
การนอนพักผ่อนที่เพียงพอช่วยให้กล้ามเนื้อและกระดูกได้พักฟื้นและซ่อมแซมตัวเอง ควรเลือกที่นอนที่รองรับกระดูกสันหลังได้ดี
4. การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูง เช่น นม โยเกิร์ต ปลาแซลมอน ช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน
5. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
การเลิกสูบบุหรี่จะช่วยให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น และช่วยให้กระดูกและกล้ามเนื้อฟื้นฟูได้เร็วขึ้น
เพราะฉะนั้นแล้ว อย่าละเลยอาการปวดหลังที่เกิดขึ้นบ่อยๆกันนะคะ เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่รุนแรงได้ หากใครมีอาการปวดหลังที่เรื้อรังไม่ยอมหาย ก็ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัย และรักษาอย่างถูกวิธีนะคะ