บทความนี้จะมานำเสนอเกี่ยวกับเรื่อง 5 สมุนไพรไทย รักษาโรคผิวหนัง-โรคน้ำกัดเท้า ต้านเชื้อรา กลาก เกลื้อน กันนะคะ ด้วยสถานการณ์น้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ในเมืองไทย ตอนนี้ นอกจากโรคติดต่อติดเชื้อต่างๆที่ต้องระวังแล้ว ปัญหาหนึ่งที่ต้องระวังก็คือ โรคผิวหนังและโรคน้ำกัดเท้านั่นเองนะคะ หลายคนอาจจะยังไม่ทราบนะคะว่า สมุนไพรในครัวเรือนของเรานั้นสามารถนำมาใช้รักษาโรคผิวหนัง และโรคน้ำกัดเท้า ได้นะคะ พร้อมแล้วตามมาดูกันเลยค่ะว่า 5 สมุนไพรไทย รักษาโรคผิวหนัง-โรคน้ำกัดเท้า ต้านเชื้อรา กลาก เกลื้อน จะมีอะไรกันบ้าง
5 สมุนไพรไทย รักษาโรคผิวหนัง-โรคน้ำกัดเท้า ต้านเชื้อรา กลาก เกลื้อน
1. ขมิ้นชัน แก้คัน ยับยั้งเชื้อโรคและเชื้อราได้ดี
โดยวิธีรักษาน้ำกัดเท้าด้วยขมิ้นชันให้นำแง่งขมิ้นชัน มาฝนกับน้ำ หรือตำกับน้ำแล้วนำมาชโลมแผลน้ำกัดเท้าก็ได้
2. ข่าแก่ เป็นยารักษาโรคผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคน้ำกัดเท้าได้
ข่ายังมีฤทธิ์ ในการรักษากลาก เกลื้อน และแก้ลมพิษได้ด้วย โดยในการใช้ข่ารักษาโรคผิวหนังสามารถใช้เหง้าข่าแก่เท่าหัวแม่มือตำให้ละเอียด แล้วผสมเหล้าโรงจนเข้ากันดี จากนั้นนำมาเป็นยาสำหรับทาแผลน้ำกัดเท้าหลาย ๆ ครั้งจนกว่าอาการจะทุเลาลง
3. ใบพลู
เป็นสมุนไพรรักษาโรคมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งมีการนำใบพลูมาล้างสะอาด แล้วตำใบพลูผสมกับเหล้าขาว หรือแอลกอฮอล์ ใช้ทาแก้อาการคัน ลมพิษ หรือคั้นน้ำใบพลู มารักษาโรคกลาก เกลื้อน ฝี หนอง สิว และแผลอักเสบต่างๆ โดยทางการแพทย์แผนปัจจุบันก็พบว่า ใบพลูมีน้ำมันหอมระเหย ที่เรียกว่า Betel oil ที่มีสรรพคุณยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและ เชื้อราบนผิวหนัง น้ำมันหอมระเหยที่มีในใบพลู ยังมีส่วนช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนังได้อีก
4. เปลือกมังคุดแห้ง
เนื่องจากมีสารแทนนินมาก มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและมีฤทธิ์ช่วยรักษาแผลน้ำกัดเท้าได้ นำเปลือกมังคุดแห้งมาฝนกับน้ำหรือน้ำปูนใสให้ข้นพอควร แล้วทาแผลน้ำกัดเท้า วันละ 2-3 ครั้ง ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการน้ำกัดเท้าได้
5. ทองพันชั่ง
มีสรรพคุณเด่นๆ คือการต้านเชื้อรา เนื่องจากพบสาร Diospyrol สารที่มีฤทธิ์รักษาเชื้อรา รักษากลาก เกลื้อน และต้านอาการผิวหนังอักเสบ โดยใช้ใบทองพันชั่งประมาณ 1 กำมือตำให้ละเอียด แล้วนำมาพอกหรือทาบริเวณที่เป็น วันละ 3-4 ครั้ง ติดต่อกันทุกวัน จนกว่าแผลจะหาย
ในปัจจุบัน จะพบว่ามียาแผนไทยในบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่รักษากลุ่มอาการทางระบบผิวหนังที่มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน ซึ่งผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ยาสมุนไพรเพื่อให้สะดวกต่อการใช้ ได้แก่
– ยาทิงเจอร์ทองพันชั่ง สรรพคุณ ทาแก้ กลาก เกลื้อน โรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา น้ำกัดเท้า
– ยาทิงเจอร์พลู สรรพคุณ บรรเทาอาการผิวหนังอักเสบ อาการอักเสบจากแมลง กัด ต่อย
– ยาเปลือกมังคุด สรรพคุณ ทาแผลสด และ แผลเรื้อรัง
– ยาขี้ผึ้งพญายอ สรรพคุณ บรรเทาอาการอักเสบ ปวด บวม จากแมลง กัด ต่อย
เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ควรปฏิบัติตามคำแนะนำ และวิธีการใช้ยา ตามฉลากกำกับยา อย่างเคร่งครัดด้วยนะคะ และเพื่อป้องกันการเกิดโรคผิวหนังและโรคน้ำกัดเท้า ในช่วงฤดูฝน ในกรณีถ้ามีความจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ หรือ แช่เท้าในน้ำเป็นเวลานานๆ ก็ควรสวมรองเท้าบูธ และดูแลความสะอาดของเท้าอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะง่ามนิ้วเท้านะคะ ระวังอย่าให้เกิดการอับชื้น ควรสวมถุงเท้าที่สะอาด และไม่อับก็สามารถช่วยได้เช่นกันค่ะ
ที่มา : กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก