บทความนี้จะมานำเสนอเกี่ยวกับ ข้อควรรู้ก่อนใช้งาน “Google Wallet” กันนะคะ จะมีอะไรกันบ้างนั้น ตามมาดูกันเลยค่ะ

 

ข้อควรรู้ก่อนใช้งาน “Google Wallet”

 

 

ก่อนจะเริ่มใช้งาน Google Wallet นั้น เรามารู้จักกันก่อนนะคะว่า Google Wallet คืออะไร และทำงานอย่างไรค่ะ

 

1. Google Wallet คืออะไร

– Google Wallet คือบริการกระเป๋าเงินดิจิทัล (อดีตคือ Google Pay) ที่ภายในนอกจากจะใช้เก็บบัตรเครดิตแล้ว ยังเก็บบัตรผ่าน ตั๋วต่าง ๆ เช่น ตั๋วเครื่องบิน บัตรสะสมแต้ม การ์ดวัคซีน ผลตรวจเชื้อต่าง ๆ ฯลฯ ได้อีกด้วยค่ะ โดยผู้ใช้งานจะต้องเพิ่มบัตรที่ต้องการลงไปก่อนจึงจะใช้งานได้นะคะ

 

 

– สำหรับการใช้ Google Wallet ในการจ่ายเงินแบบ Contactless ก็สามารถทำได้เลย เพียงแค่เลือกบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิทที่ต้องการใช้ จากในแอปพลิเคชันเท่านั้น (แต่ต้องเป็นร้านที่รองรับ Google Pay หรือมีโลโก้การชำระเงินแบบ Contactless ปรากฏอยู่) ลักษณะการจ่ายจะเป็นการแตะที่เครื่องรูดบัตร โดยใช้ได้ทั้งสมาร์ทโฟน และสมาร์ทวอทช์ค่ะ

 

2. Google Wallet ทำงานอย่างไร

Google Wallet ทำงานภายใต้ระบบรักษาความปลอดภัยของโทรศัพท์ Android รวมถึงการแปลงโทเค็นตามมาตรฐานอุตสาหกรรม ด้วยเหตุนี้ ในการทำธุรกรรมแต่ละครั้ง ระบบจะสมมติหมายเลขบัตรขึ้นมา (โทเค็น) ซึ่งเป็นหมายเลขเฉพาะของอุปกรณ์นั้น ๆ และเชื่อมโยงกับรหัสความปลอดภัยแบบไดนามิก ที่จะไม่ซ้ำกันในแต่ละธุรกรรมเพื่อความปลอดภัยนั่นเองค่ะ

 

 

ทั้งนี้ ผู้ใช้งานต้องได้รับการยืนยันจากธนาคารก่อนว่าเป็นผู้ถือบัตรตัวจริง ถึงจะสามารถเพิ่มบัตรลงในโทรศัพท์ได้ และควรตั้งค่าการล็อกหน้าจอเพื่อไม่ให้คนแปลกหน้าเข้าถึงข้อมูลในอุปกรณ์ด้วยนะคะ

 

3. Google Wallet ในไทยมีใครเป็นพาร์ทเนอร์บ้าง

ปัจจุบัน Google Wallet เปิดใช้งานแล้วใน 45 ประเทศและภูมิภาค รวมถึงไทยเราด้วยค่ะ ซึ่งในประเทศไทย มีการจับมือกับหลายภาคส่วนเพื่อให้ประสบการณ์ในการใช้งานไหลลื่น ได้แก่

– ธนาคารกรุงเทพ (บัตรเครดิต Visa และ Mastercard) และ
– บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
– หรือ เคทีซี (บัตรเครดิต Visa และ Mastercard)

โดยสามารถเพิ่มบัตรของทั้งสองค่ายนี้ลงใน Google Wallet ได้แล้ว ส่วนทรูมันนี่ (บัตร Prepaid Mastercard) จะมีการเชื่อมต่อ และเปิดให้บริการในเร็ว ๆ นี้ค่ะ

นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังสามารถเพิ่ม

– Boading pass ของสายการบินแอร์เอเชีย
– บัตรสะสมแต้ม OneSiam ของสยามพิวรรธน์ และ
– บัตรเข้าชมงานต่าง ๆ จากไทยทิคเก็ตเมเจอร์

ลงใน Google Wallet ได้ด้วยเช่นกัน รวมถึงการชำระค่าสินค้าออนไลน์จากผู้ให้บริการรายต่าง ๆ ด้วย เช่น Airbnb ดีแทคอีกด้วยนะคะ

 

4. ไฟล์ทเปลี่ยนก็เตือนได้ผ่าน Google Wallet

นอกจากการบันทึก และเข้าถึงบัตรชำระเงินแล้ว การเพิ่ม Boading pass ของสายการบินแอร์เอเชียลงใน Google Wallet ยังทำให้เจ้าของตั๋วเครื่องบินได้รับการแจ้งเตือนหากเวลาออกเดินทาง และประตูขึ้นเครื่อง มีการเปลี่ยนแปลง โดยสามารถแสดงตั๋วที่อยู่ใน Google Wallet แล้วผ่านประตูขึ้นเครื่องที่สนามบินได้อย่างสะดวกรวดเร็วอีกด้วยค่ะ

 

 

5. หากโทรศัพท์ที่ติดตั้ง Google Wallet หายต้องทำอย่างไร

กรณีโทรศัพท์สูญหายหรือถูกขโมย เจ้าของสามารถใช้ฟังก์ชัน “หาอุปกรณ์ของฉัน” (Find My Device) เพื่อล็อกอุปกรณ์นั้นโดยทันทีได้จากทุกที่ ตั้งรหัสผ่านใหม่เพื่อความปลอดภัย หรือแม้แต่ลบข้อมูลส่วนตัว และรายละเอียดเกี่ยวกับบัตรชำระเงินทั้งหมดที่อยู่ในอุปกรณ์นั้นได้เลยทันทีเลยค่ะ โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ myactivity.google.com/product/wallet

ปัจจุบัน Google Wallet ยังรองรับการเป็นกุญแจรถยนต์ดิจิทัลได้ด้วย แต่รองรับแค่ในรถยนต์บางรุ่นเท่านั้น โดยหากตั้งค่าเรียบร้อยแล้ว ผู้ใช้งานจะสามารถล็อก ปลดล็อก หรือสตาร์ทรถได้ด้วยโทรศัพท์แอนดรอยด์เลยทีเดียวนะคะ นอกจากนั้นในบางประเทศได้แก่ สหรัฐอเมริกา – แคนาดา – ออสเตรเลีย ยังมีการผนวกบัตรนักศึกษาเข้าไปใน Google Wallet ด้วยเช่นกันทำให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่รองรับระบบดังกล่าว สามารถชำระค่าสินค้า และบริการในมหาวิทยาลัยผ่าน Google Wallet ได้โดยตรง เช่น ซื้ออาหาร จ่ายเงินค่าเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ซื้อหนังสือ ฯลฯ