ในช่วงนี้ มักจะมีข่าว เด็กๆท้องเสีย ถ่ายเหลว กันเยอะมากเลยนะคะ เด็กนักเรียนต้องระวังกันให้ดีนะคะ เพราะในโรงเรียนมักจะมีเชื้อโรคระบาดอยู่เป็นประจอยู่แล้วค่ะ ดังนั้นบทความนี้จะมานำเสนอความรู้และพาไปรู้จัก กับไวรัสที่เป็นสาเหตุ ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ที่ระบาดในเด็กกันนะคะ ซึ่งก็คือ “โนโรไวรัส” นั่นเองค่ะ ซึ่งหากภูมิต้านทานไม่ดี หรือมีโรคแทรกซ้อนขึ้นมา ก็อาจกลายเป็นเชื้อมรณะทำให้เด็กน้อยเสียชีวิตได้เลยทีเดียวนะคะ เพราะฉะนั้นเราต้องรู้เท่าทันเจ้าเชื้อ “โนโรไวรัส “กันนะคะ
มารู้จัก Norovirus กันค่ะ
โนโรไวรัส (Norovirus) เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร พบได้ในเด็ก และผู้ใหญ่ ทำให้เกิดอาการท้องเสีย อาเจียน โนโรไวรัสสามารถติดต่อกันได้ง่ายจากคนสู่คน ผ่านการสัมผัสอาหาร น้ำดื่ม หรือการหายใจใกล้กับผู้ป่วยที่อาเจียนด้วยนะคะ อีกทั้งโนโรไวรัสสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็วค่ะ แม้ร่างกายจะได้รับเชื้อในปริมาณเพียงเล็กน้อย จนทำให้บางครั้งอาจป่วยพร้อมกันทั้งครอบครัว หรือระบาดในโรงเรียน และสถานรับเลี้ยงเด็กนั่นเองค่ะ ที่สำคัญเชื้อตัวนี้ยังทนต่อความร้อน และน้ำยาฆ่าเชื้อต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีอีกด้วยนะคะ ซึ่งในปัจจุบันนี้ยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกัน เชื้อโนโรไวรัส นะคะ
สำหรับโนโรไวรัส ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยว่า เป็นเชื้อไวรัสซึ่งเป็นสาเหตุ ของการระบาดของการติดเชื้อท้องเสีย ที่ไม่ใช่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และ พบบ่อยที่สุดในโลกเลยนะคะ
ได้มีการตรวจพบเชื้อโนโรไวรัสครั้งแรกในโรงเรียน ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2511 (ค.ศ.1968) โดยพบครู และนักเรียนเป็นโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และมีอาการอาเจียนร่วมด้วย ระบาดในโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งที่เมือง Norwalk รัฐ Ohio ประเทศสหรัฐอเมริกา ณ เวลานั้นจึงตั้งชื่อไวรัสนี้ว่า Norwalk virus ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการระบาดของโรคอุจจาระร่วงทั่วโลกนั่นเองค่ะ
ระยะฟักตัวของเชื้อโนโรไวรัส และความคงทน
โนโรไวรัสมีระยะฟักตัว 12-48 ชั่วโมง และยังมีความคงทนในสภาพแวดล้อมเป็นอย่างมากด้วยนะคะ น้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆที่ใช้อยู่ รวมทั้งแอลกอฮอล์ยังไม่สามารถที่จะฆ่าเชื้อได้ เลยค่ะ ในทางปฏิบัติ สารเคมีที่ใช้ในการฆ่าเชื้อได้จะอยู่ในจำพวก ฟอร์มาลิน กลูตารอลดีไฮด์ และสารประกอบจำพวกคลอรีน เช่น โซเดียมไฮโปคลอไรด์ คลอรอกซ์ และไฮเตอร์ เพราะฉะนั้นจึงแนะนำให้ใช้น้ำ และสบู่ล้างมือทำความสะอาดให้มากที่สุด ล้างมือนาน ๆ เพื่อทำให้ไวรัสเจือจางไปให้ได้มากที่สุด และทำความสะอาดเครื่องใช้ด้วยหลักการเดียวกันค่ะ
การติดต่อของเชื้อ โนโรไวรัส
โนโรไวรัส สามารถติดต่อกันได้หลายทาง ได้แก่
• ติดต่อทางอาหาร และน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค (fecal-oral route) โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงไม่สุก ไม่สะอาด
• การสัมผัสผู้ป่วยที่ติดเชื้อโนโรไวรัสโดยตรง
• การสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อโนโรไวรัส เช่น ของเล่น หรือดินสอสีที่เด็กมักจะเผลอหยิบเข้าปาก
• เด็ก ๆ มักจะชอบอมนิ้ว ดูดนิ้ว หลังจับสิ่งของ จึงสามารถเกิดการระบาดได้ง่ายในกลุ่มเด็กตามโรงเรียน
อาการที่พบได้บ่อย หากได้รับเชื้อโนโรไวรัส ภายใน 24-28 ชม.
• คลื่นไส้ อาเจียนค่อนข้างรุนแรง
• ถ่ายเหลวเป็นน้ำ
• ปวดท้อง มักจะไม่ปวดเฉพาะที่ หรือปวดเกร็งที่หน้าท้อง
• อาจมีไข้ต่ำร่วมด้วย บางรายมีไข้สูง 38-39 องศาเซลเซียสได้
• ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัว
ผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อจะมีอาการเกิดขึ้นอย่างฉับพลันภายใน 24-48 ชั่วโมง หลังรับเชื้อ เป็นผลให้เกิดภาวะขาดน้ำ จนต้องเข้าโรงพยาบาลเลยนะคะ แต่ถ้าเด็กมีภูมิต้านทานต่ำ มีอาการรุนแรง ถึงขั้นถ่ายตลอดเวลาต้องนำส่งโรงพยาบาลโดยทันทีเลยนะคะ และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะอาจเกิดการช็อก ความดันต่ำ และเสียชีวิตขึ้นได้นั่นเองค่ะ
อาการที่ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน
• ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำจำนวนมาก มีมูกเลือดปน ไข้ขึ้นสูง ร่วมกับอาเจียน กินไม่ได้ จนเป็นสาเหตุของภาวะขาดน้ำปานกลางถึงรุนแรง
• ปัสสาวะออกน้อย ซึม กระสับกระส่าย ปลายมือปลายเท้าเย็น ชีพจรเร็วและเบา อาการเหล่านี้แสดงออกถึงความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด
• ปวดท้อง ร่วมกับกดเจ็บบริเวณ ช่องท้อง หรือ หน้าท้องแข็งตึง อาเจียนมีน้ำดีปน
การรักษาโรคติดเชื้อโนโรไวรัส
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโดยเฉพาะนะคะ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะค่อยๆมีอาการดีขึ้น และหายเป็นปกติได้เอง โดยปฎิบัติตามคำแนะนำดังนี้
• การตรวจเชื้อโนโรไวรัส จะทำโดยการเก็บตัวอย่างอุจจาระ เพื่อส่งตรวจพิเศษกับห้องปฏิบัติการ ซึ่งสามารถทำได้ในบางโรงพยาบาลเท่านั้น เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มียาขจัดเชื้อนี้โดยเฉพาะนั่นเองค่ะ
• รักษาตามอาการเป็นหลัก เช่น เด็กมีไข้ ก็ให้ยาลดไข้ พักผ่อนมาก ๆ และหากเด็กมีภูมิต้านทานที่ดี อาการก็จะดีขึ้น และหายได้เองภายใน 2-3 วัน
• ระวังอย่าให้เด็กขาดน้ำ อาจทดแทนด้วยการให้ดื่มน้ำเกลือแร่ หรือให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดในกรณีที่อาการรุนแรง รวมทั้งให้ทานอาหารอ่อนๆ เช่น ข้าวต้ม แกงจืด เป็นต้น และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด
• หากอาการรุนแรงถึงขั้นถ่ายตลอดเวลา ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจเกิดภาวะช็อก ความดันโลหิตต่ำ และเสียชีวิตได้
การป้องกันโรคร้ายโนโรไวรัส
• ล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ ด้วยสบู่ และน้ำ เป็นเวลาอย่างน้อย 15 วินาที
• ล้างผัก ผลไม้สด ให้สะอาด ทำหอยนางรมหรือหอยชนิดอื่นให้สุกก่อนกิน
• เด็กควรงดไปโรงเรียน หรือสถานที่รับเลี้ยงเด็ก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
• ใช้ช้อนกลางเมื่อทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
• เลี่ยงการหยิบจับหรือทำอาหารให้ผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะติดเชื้อ
• ผู้ป่วยต้องงดการประกอบอาหาร เพราะสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้หลังจากมีอาการเป็นระยะเวลา 3 วัน
การดูแลที่พักอาศัย เมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้ป่วย
การสัมผัสอุจจาระและอาเจียนของผู้ป่วย อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการติดต่อโนโรไวรัสได้นะคะ เพราะเชื้อโนโรไวรัสนั้นสามารถอยู่ในอุจจาระได้นานถึง 2 สัปดาห์ แม้ผู้ป่วยจะไม่มีอาการแล้วก็ตาม ดั้งนั้นเราจึงต้องป้องกันตนเอง และดูแลที่พักอาศัยอย่างเคร่งครัด หากต้องอยู่ร่วมกับผู้ป่วยนั่นเองค่ะ อย่าลืมรักษาสุขภาพ รักษาความสะอาดกันนะคะ “ ด้วยการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ “ เพื่อจะได้ห่างไกลจาก โนโรไวรัส ตัวร้ายนะคะ