บทความนี้จะพามารู้จัก และทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ภาวะหมดไฟในการทำงาน กันนะคะ และอย่างที่ทราบกันแล้วว่า Burnout Syndrome หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงานนั้น ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโรคใหม่ จากองค์การอนามัยโลก (WHO)แล้วนะคะ โดยเป็นโรคที่เป็นผลจากการความเครียดเรื้อรังในสถานที่ทำงาน ซึ่งผู้ที่ประสบกับภาวะดังกล่าวนี้ ควรจะต้องได้รับการดูแลจากแพทย์เฉพาะทางนะคะ ก่อนที่อาการจะรุนแรง และคุกคามการใช้ชีวิตของผู้ป่วยนั่นเองค่ะ เพราะฉะนั้นการหมั่นสังเกตสัญญาณเตือน และรู้เท่าทันโรคนี้ จะช่วยให้เราสามารถรับมือได้อย่างถูกวิธี ก่อนสายเกินไปนั่นเองค่ะ

 

มารู้จักภาวะหมดไฟในการทำงานกันค่ะ

ภาวะหมดไฟ หรือ Burnout Syndrome เป็นภาวะความอ่อนล้าทางอารมณ์ ที่มีความเครียดจากการทำงานที่มากเกินไป เป็นระยะเวลายาวนานจนเป็นต้นเหตุทำให้เกิดความรู้สึกว่างานนั้นเกินกำลังที่จะทำได้ ส่งผลให้มีอารมณ์ร่วมกับงานลดลง จนทำงานออกมาได้ไม่ดีเหมือนเคย โดยหากปล่อยทิ้งไว้นานวัน ก็จะยิ่งทำให้เสียแรงจูงใจในการทำงาน กลายเป็นความรู้สึกว่าทำอะไรก็ไม่ได้ดี ตามมาด้วยสารพัดความคิดด้านลบ หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน ก็คือ ภาวะการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ ที่เป็นผลมาจากความเครียดเรื้อรังในที่ทำงาน และไม่ได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

แบ่งลักษณะอาการออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1. กลุ่มที่เหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกหมดพลัง สูญเสียพลังจิตใจ

2. กลุ่มที่มีทัศนคติเชิงลบต่อความสามารถในการทำงานของตนเอง ขาดความเชื่อมั่นในความสำเร็จ

3. กลุ่มที่ประสิทธิภาพของการทำงานลดลง ความสัมพันธ์ในที่ทำงานเหินห่าง หรือเป็นไปทางลบกับผู้ร่วมงานและลูกค้า

ลองเช็คอาการภาวะหมดไฟได้ด้วยตัวเองนะคะ ว่าเรามีอาการเข้าข่าย 3 กลุ่มด้านบนรึเปล่านะคะ ต่อไปเรามาดู สัญญาณเตือนภาวะหมดไฟในการทำงานกันต่อเลยค่ะ

 

สัญญาณเตือนภาวะหมดไฟในการทำงาน

 

การสังเกตสัญญาณเตือนว่าเริ่มเข้าสู่ภาวะหมดไฟในการทำงาน แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ดังนี้นะคะ

1. ด้านอารมณ์
– หดหู่
– ซึมเศร้า
– หงุดหงิด โมโหง่าย
– อารมณ์แปรปรวน
– ไม่พอใจในงานที่ทำ

 

2. ด้านความคิด
– มองคนอื่นในแง่ลบแง่ร้าย
– โทษคนอื่นเสมอ
– ระแวง
– หนีปัญหา ไม่จัดการปัญหา
– สงสัยและไม่เชื่อในศักยภาพของตนเอง

 

3. ด้านพฤติกรรม
– ผัดวันประกันพรุ่ง
– ขาดความกระตือรือร้น
– หุนหันพลันแล่น
– บริหารจัดการเวลาไม่ได้
– ไม่อยากตื่นไปทำงาน
– มาสายจนผิดสังเกตติดต่อกัน
– ไม่มีสมาธิในการทำงาน
– ไม่มีความสุขในการทำงาน

เมื่อสังเกตเห็น และเริ่มพบว่า มีอาการของสัญญาณเตือนภาวะหมดไฟในการทำงาน ตามข้อมูลด้านบนแล้ว ต่อไปเรามาดู ขั้นตอนการจัดการภาวะหมดไฟในการทำงานกันต่อเลยนะคะ

 

การจัดการภาวะหมดไฟในการทำงาน

 

การจัดการภาวะหมดไฟในการทำงานนั้น เราสามารถฟื้นฟูแก้ไขได้นะคะ ก่อนที่จะสายเกินไป ตามนี้เลยค่ะ

– ยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ต่าง ๆ

– ยอมรับในความแตกต่าง

– ไม่ด่วนตัดสินใคร

– เปิดใจฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

– มองหาที่ปรึกษาที่รับฟังและแนะนำได้

– ร่วมกิจกรรมขององค์กร

– อย่าทำงานหักโหมเกินไป

– อย่าเอางานไปทำที่บ้าน

– ไม่นำปัญหาที่ทำงานสะสมไปที่บ้าน

– ลดความกดดันในการทำงาน

– รู้จักขอความช่วยเหลือและปฏิเสธอย่างเหมาะสม

– พักผ่อนให้เพียงพอ

– ปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง

 ผลกระทบจากภาวะหมดไฟในการทำงาน

 

 

สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะหมดไฟในการทำงาน ในด้านต่าง ๆ ก็มีตามนี้นะคะ

1. ด้านร่างกาย
– รู้สึกเหนื่อยล้าเรื้อรัง
– มีอาการปวดศีรษะ
– มีอาการปวดเมื่อยตามตัว

2. ด้านจิตใจ
– มีความรู้สึกหมดหวัง
– ท้อแท้ในการทำงาน
– มีอาการนอนไม่หลับ

3. ด้านการทำงาน
– ขาดงานบ่อย
– มาสาย
– ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
– ลาออก

ลักษณะงานแบบไหนที่เสี่ยงกับภาวะหมดไฟ

 

 

– งานหนักและปริมาณมากเกินไป
– งานซับซ้อน งานเร่งรีบ
– งานที่ผลตอบแทนไม่เหมาะสม
– งานที่ทำให้รู้สึกไม่ได้รับคุณค่าและความภูมิใจในการทำงาน
– งานที่ขาดความยุติธรรม ความเชื่อใจ การยอมรับในการทำงาน
– งานที่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจในงานที่ทำ
– งานที่การบริหารงานไร้ระบบ ไม่มีเป้าหมายชัดเจน

จากข้อมูลความรู้ตามรายละเอียดด้านบน อาจมีหลายคนสงสัยนะคะว่า ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) นั้น เป็นอาการของโรคซึมเศร้าด้วยหรือไม่

 

 

คำตอบก็คือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน กับโรคซึมเศร้านั้น มีความแตกต่างกันไม่ใช่โรคเดียวกันนะคะ แต่หากพบ หรือสงสัยไม่ว่าจะเป็นภาวะของโรคใดก็ตามแต่ ไม่ควรนิ่งนอนใจเลยนะคะ ควรรีบปรึกษาจิตแพทย์หรือ ผู้เชี่ยวชาญโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เลยนะคะ เพื่อที่จะได้รับการตรวจวินิจฉัย และทำการรักษาอย่างถูกวิธีและทันท่วงทีนั่นเองค่ะ