บทความนี้จะมานำเสนอ ภัยร้านออนไลน์ที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันนี้ พร้อมวิธีป้องกันนะคะ นั่นก็คือ เตือนภัยบัตรเครดิตถูกหักเงินชำระค่าโฆษณาสื่อสังคมออนไลน์โดยไม่ทราบสาเหตุ ช่วงนี้มีกระแสข่าว เกี่ยวกับมีผู้เสียหายหลายราย ถูกหักเงินจากบัตรเครดิตไปชำระค่าโฆษณาสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยที่ไม่ได้ทำธุรกรรมดังกล่าว ไม่เคยผูกบัตรเครดิตไว้กับแอปพลิเคชันใดๆทั้งนั้น และในการถูกหักเงินออกจากบัตรเครดิตก็ไม่ได้รับรหัส OTP เพื่อยืนยันการทำธุรกรรม รวมไปถึงไม่พบการพยายามเข้าถึงระบบ (Login) ของแอปพลิเคชันดังกล่าวอีกด้วยนะคะ ซึ่งสร้างความเสียหายและความกังวลแก่คนทั่วไปเป็นอย่างมากเลยค่ะ
สาเหตุการหลอกลวงที่เกิดขึ้นนี้ มักจะเกิดได้จาก 2 กรณีหลักๆก็ คือ
1. เกิดจากการที่ผู้เสียหายเผลอให้ข้อมูลบัตรกับมิจฉาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการถูกหลอกลวงให้เข้าไปกรอกข้อมูลทางการเงินผ่านเว็บไซต์ปลอม หรือแอปพลิเคชันปลอม หรือการให้บัตรเครดิตไปกับผู้อื่นเพื่อทำธุรกรรมการเงินในชีวิตประจำวัน แล้วบุคคลนั้นนำข้อมูลที่ได้ ไปใช้แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ เป็นต้น
2. อาจจะเกิดจากการที่ผู้เสียหายกดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม หรือลิงก์โฆษณาต่างๆ ที่ฝังมัลแวร์ดักรับข้อมูลของมิจฉาชีพเอาไว้
เพราะฉะนั้นเมื่อเราทราบถึงภัยร้ายที่เกิดขึ้นในยุคนี้แล้ว สิ่งที่ต้องทำก็คือ ให้ระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเลขหลังบัตรเครดิต หรือ เดบิต (CVV) หรือรหัสเพื่อยืนยันความปลอดภัย ในการชำระค่าสินค้าหรือบริการ ผ่านเว็บไซต์ หรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพกันนะคะ ต่อไปเรามาดูแนวทางป้องกันกันค่ะ ว่าควรจะต้องทำอย่างไรบ้าง
9 วิธีป้องกัน บัตรเครดิตถูกหักเงินชำระค่าโฆษณาสื่อสังคมออนไลน์
1. หากไม่จำเป็นไม่ควรใช้บัตร ไม่เปิดเผยข้อมูลบัตรให้ผู้อื่นล่วงรู้ และอย่าให้บัตรคลาดสายตาเมื่อต้องใช้บัตร ป้องกันการถูกลักลอบนำข้อมูลไปใช้
2. หลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมที่ไม่น่าเชื่อถือออนไลน์ ที่ต้องกรอกข้อมูลเลขด้านหน้าบัตร และรหัส 3 ตัวหลังบัตร (CVV)
3. หลีกเลี่ยงการกดลิงก์ หรือติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก ไม่รู้แหล่งที่มา ควรติดตั้งผ่าน AppStore หรือ Playstore เท่านั้น
4. ระมัดระวัง การกรอกข้อมูลหมายเลขบัตรผ่านเว็บไซต์ปลอม หรือแอปพลิเคชันปลอม ที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมาให้เหมือนกับเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันจริง เพื่อหลอกเอาข้อมูล โดยหากต้องการเข้าไปที่เว็บไซต์ใด ให้พิมพ์ชื่อเว็บไซต์ด้วยตัวเองเท่านั้น
5. หากต้องการซื้อสินค้า หรือบริการประเภทดังกล่าว ควรใช้บัตรเดบิต โดยการโอนเงินเข้าบัตรเพื่อชำระสินค้า หรือบริการเท่าที่จะชำระโดยเฉพาะเท่านั้น
6. ตั้งค่าการแจ้งเตือนการทำรายการผ่านข้อความสั้น (SMS) หรือ แอปพลิเคชันไลน์ (Line)
7. ไม่บันทึกรายละเอียดบัตรไว้กับเบราว์เซอร์ เช่น Chrome, Firefox หรือ Safari โดยเด็ดขาด
8. ควรนำแผ่นสติกเกอร์ทึบแสงปิดรหัส 3 ตัวด้านหลังบัตร (CVV) แล้วจำรหัส 3 ตัวดังกล่าวเอาไว้ เพื่อความปลอดภัยในการใช้จ่ายประจำวัน
9. หมั่นตรวจสอบรายการบัญชีอย่างสม่ำเสมอ หากพบสิ่งผิดปกติให้รีบแจ้งไปยังสถาบันการเงิน เพื่อทำการอายัดบัตร และปฏิเสธการชำระเงินค่าสินค้า หรือบริการทางออนไลน์โดยทันที