ผ่านพ้นกันไปแล้วนะคะ สำหรับเทศกาลสงกรานต์ 2567 ปีนี้ หลายๆคนคงมีช่วงเวลาดีๆกับครอบครัวกันอย่างเต็มที่ แต่หลังจากเทศกาลแห่งความสุข ความสนุกสนานได้ผ่านไปแล้ว ทุกคนต่างก็ต้องกลับมาใช้ชีวิตตามปกติกันเหมือนเดิมนะคะ เพราะฉะนั้นกรมสุขภาพจิต จึงได้ออกมาแนะนำให้ระวังภาวะจิตใจซึมเศร้าหลังหยุดยาว หรือ Post-vacation Blues กันค่ะ จะมีวิธีไหนกันบ้าง ตามมาดูพร้อมกันเลยค่ะ

 

6 วิธีรับมืออาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว ป้องกันภาวะหมดไฟการทำงาน

 

 

1. หาแรงจูงใจในการไปทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเป้าหมายความก้าวหน้าในการทำงาน เช่น การได้ขึ้นเงินเดือน โบนัส เป็นต้น

2. สร้างคุณค่าในการทำงาน โดยการมองหาข้อดีของการทำงาน เช่น มองหาว่าใครได้รับประโยชน์จากการทำงานหรือสิ่งที่สามารถทำประโยชน์ต่อคนอื่น หรืองานที่ทำให้ชีวิตดีขึ้นอย่างไร เช่น มีทักษะเฉพาะด้าน เพิ่มมากขึ้น มีความสามารถที่หลากหลายมากขึ้น มีความก้าวหน้าทางหน้าที่การงาน มีเพื่อนเพิ่มมากขึ้นเป็นต้น

3. อยู่กับปัจจุบัน การคิดถึงช่วงวันหยุดยาว ทำให้เป็นทุกข์ ดังนั้นจึงควรอยู่กับปัจจุบัน วางแผนการทำงานแบบวันต่อวัน เริ่มจากการจดลิสต์รายการที่ต้องทำในแต่ละวัน แล้วจะเห็นเหตุผลที่ต้องไปทำงานในแต่ละวัน ซึ่งการทำลิสต์นี้นอกจากจะทำให้รู้ว่ามีอะไรที่ต้องทำบ้างแล้ว ยังทำให้เห็นความก้าวหน้าในการทำงานอีกด้วย

4. ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานไม่ให้จำเจ เพิ่มท้าทายตัวเองแล้วยังทำให้รู้สึกสนุกกับการทำงาน และเกิดความคิดใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงานอีกด้วย

5. หาเพื่อนรู้ใจและทีมในการทำงาน การทำงานเป็นคู่หรือเป็นทีมนั้นนอกจากจะทำให้งานเสร็จเร็วขึ้น สมบูรณ์แบบขึ้นมีประสิทธิภาพที่สามารถบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้แล้ว ยังลดโอกาสผิดพลาดในการทำงาน มีความสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้น และสนุกกับการทำงานมากขึ้นด้วย

6. วางแผนเที่ยวในวันหยุดครั้งต่อไป และเทคนิคในการลดอาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว ซึ่งการวางแผนเที่ยวในวันหยุดยาวครั้งต่อไป ทำให้เกิดความหวังและรอคอยวันหยุด ครั้งต่อไป จะทำให้เกิดความรู้สึกกระชุ่มกระชวย มีไฟในการเคลียร์งานให้เสร็จอย่างไว และมีใจที่สดใสเพื่อรอไปเที่ยวในวันหยุดครั้งต่อไป

 

 

และนี่คือวิธีรับมือกับอาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาวกันนะคะ และนอกจากนี้กรมสุขภาพจิต ยังได้ชี้แจงอีกว่า แม้อาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันที่รุนแรงมากนัก แต่จะส่งผลอย่างมากต่อทัศนคติ และความรู้สึกที่มีต่อการทำงาน และประสิทธิภาพต่อการทำงานนั่นเองค่ะ ดังนั้นหากปล่อยให้มีอาการซึมเศร้า หรือเบื่อหน่ายต่อการทำงานเป็นเวลานานๆ แล้วล่ะก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อภาวะหมดไฟและความก้าวหน้าในการทำงานอย่างแน่นอนเลยค่ะ เพราะฉะนั้นแล้วเราจึงควรดูแลจิตใจตนเองรับมือกับภาวะนี้อย่างเข้าใจนะคะ