บทความนี้ จะมานำเสนอคุณสมบัติสำคัญของโอมิครอน JN.1 ทั้ง 13 ข้อ ที่ขณะนี้มีสัดส่วนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าจะก่อให้เกิดโรคที่รุนแรงขึ้นนะคะ
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เผย 13 คุณสมบัติสำคัญของ “โอมิครอน JN.1” หลังนักวิชาการคาดอาจกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่จะแพร่ระบาดทั่วโลกในปี 2567 นี้ ขณะที่รายงานล่าสุดพบคนไทยป่วยติดเชื้อโอมิครอน JN.1 แล้ว 1 ราย
ปัจจุบันการเกาะติดสถานการณ์ และเฝ้าระวังไวรัสโคโรนา 2019 ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนะคะ โดยศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า โควิดสายพันธุ์โอมิครอน BA.2.86 หรือ มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า “พิโรลา” ขึ้นชื่อความสามารถในเรื่องของการจับกับผิวเซลล์ปอดของผู้ติดเชื้อได้ดีที่สุด แต่ยังหลบหนีภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ได้ไม่ดีนัก เมื่อเทียบกับโอมิครอนที่ระบาดมาก่อนหน้า เช่น EG.5.1 และ HK.3 อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกกังวลว่า BA.2.86 อาจมีการกลายพันธุ์เกิดขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้น โดยพบมีการซุ่มตัวแพร่เชื้อในระดับต่ำ ๆ มาหลายเดือนแล้ว ความกังวลดังกล่าวได้กลายเป็นจริงเมื่อโอมิครอนสายพันธุ์ JN.1 (B.1.1.529.2.86.1.1) ได้อุบัติขึ้น
สำหรับประเทศไทยเพิ่งพบโอมิครอน JN.1 (รุ่นลูกของโอมิครอน BA.2.86) จำนวน 1 ราย เมื่อ 28 ตุลาคม 2566 โดยมีการแชร์รหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมที่แยกได้จากผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ ไว้บนฐานข้อมูลโควิดโลกจีเสส (GISAID) คาดว่า ต้นปีหน้าอาจแพร่เป็นสายพันธุ์หลักเหมือนประเทศอื่นก็เป็นได้นะคะ
13 คุณสมบัติสำคัญของโอมิครอน JN.1 ที่ควรทราบจากองค์การอนามัยโลก, กรมควบคุมโลกสหรัฐฯ, จีเสด (GISAID), และหน่วยงานหลักประกันสุขภาพของสหราชอาณาจักร (UK Health Security Agency) มีดังนี้ค่ะ
1. คุณสมบัติการหลบหนีระบบภูมิคุ้มกันของโอมิครอนสายพันธุ์ JN.1 อาจทำให้มีการติดเชื้อซ้ำในกลุ่มประชากรเพิ่มขึ้นอย่างมาก
2. ในขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์ ที่บ่งชี้ว่าโอมิครอนสายพันธุ์ JN.1 จะเป็นภัยคุกคามต่อระบบสาธารณสุข มากกว่าโอมิครอนสายพันธุ์อื่นๆ ที่มีการหมุนเวียนติดต่อทั่วโลกอยู่ในขณะนี้
3. บุคคลที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง และบุคคลที่มีโรคร่วมอื่นๆ ที่รุนแรง สามารถป้องกันตนเองได้ด้วยวิธีที่ทดสอบแล้วว่ามีประสิทธิภาพ เช่น การสวมหน้ากากอนามัย
4. คุณสมบัติการหลบหนีระบบภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้นของโอมิครอนสายพันธุ์ JN.1 เมื่อเทียบกับรุ่นพ่อแม่โอมิครอน BA.2.86 อาจทำให้สามารถแข่งขันกับสายพันธุ์อื่นๆ ได้ และกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกในปี 2567
5. องค์การอนามัยโลกกังวลว่าการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019 ทั่วโลกมีจำนวนลดลงอย่างมากอันอาจทำให้เราระบุจำนวนโอมิครอนสายพันธุ์ที่กำลังอุบัติขึ้นในขณะนี้เช่น JN.1, XDD คลาดเคลื่อน ส่งผลให้การวางแผนการป้องกันและการรักษาผิดพลาดได้
6. องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังคงประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับสายพันธุ์ย่อยของ SARS-CoV-2 เช่น JN.1, XDD อย่างต่อเนื่อง
7. ในขณะนี้ ความเสี่ยงทางสาธารณสุขที่คาดว่าจะเกิดจากโอมิครอนสายพันธุ์ JN.1 ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ สำหรับการเกิดเป็นโรครุนแรงเมื่อเทียบกับโอมิครอนสายพันธุ์อื่นๆ
8. โอมิครอนสายพันธุ์ JN.1 มีการแพร่กระจายที่มากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่มีการหมุนเวียนทั่วโลกในปัจจุบัน แต่ประเมินว่าไม่น่าจะถึงระดับของการระบาดครั้งแรกของโควิด-19 หรือการระบาดของโอมิครอนครั้งแรก
9. สัดส่วนของผู้ป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ JN.1 กำลังเพิ่มขึ้น แต่ไม่ปรากฏว่า มีผู้ติดเชื้อเจ็บป่วยหนักต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
10. ยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าสายพันธุ์โอมิครอน JN.1 จะก่อให้เกิดโรคที่รุนแรงขึ้น
11. การแพร่ติดต่ออย่างรวดเร็วของโอมิครอนสายพันธุ์ JN.1 เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ ทำให้เกิดคำถามว่ามันอาจขับเคลื่อนให้เกิดการเพิ่มขึ้นของการติดเชื้อไปทั่วโลก
12. วัคซีนโควิด-19 เจเนอเรชันล่าสุด “XBB.1.5 โมโนวาเลนต์” จากการทดสอบทั้งในสัตว์ และทั้งในอาสาสมัครพบว่าป้องกันการติดเชื้อจากโอมิครอนสายพันธุ์ JN.1 ได้ดี
13. การทดสอบทางห้องปฏิบัติการด้วย ATK, PCR และการรักษาโควิด-19 ด้วยยาต้านไวรัสยังมีประสิทธิภาพต่อโอมิครอนสายพันธุ์ JN.1
ที่มา : แฟนเพจ Center for Medical Genomics