บทความนี้จะมานำเสนอเกี่ยวกับ 10 สุดยอดการค้นพบทางโบราณคดี ปี 2024 กันนะคะ จะเห็นได้ว่าในปี 2023 แวดวงประวัติศาสตร์ โบราณคดี มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุ และโบราณสถานต่าง ๆ มากมาย ซึ่งช่วยไขปริศนา และเติมจิ๊กซอว์ความรู้ให้เต็มยิ่งขึ้น ตั้งแต่การขุดค้นพบสุสานในเมืองซักการา (Saqqara) ประเทศอียิปต์ สถานที่ทำมัมมี่จากยุคอียิปต์โบราณอันยิ่งใหญ่ ไปถึงรูปปั้นโมอายตัวใหม่บนเกาะอีสเตอร์ ประเทศชิลี และต่อเนื่องมาในปี 2024 ความก้าวหน้าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีก็ไม่ได้ลดลงเลยแม้แต่น้อยนะคะ เพราะในปีนี้มีการนำเทคโนโลยี รวมทั้งปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยเหลือในหลายขั้นตอน ควบคู่ไปกับการใช้องค์ความรู้ของเหล่านักประวัติศาสตร์-โบราณคดี ทำให้ค้นพบแหล่งโบราณคดี หรือโบราณวัตถุ ทั้งในไทยและต่างประเทศมากยิ่งขึ้น พร้อมแล้วตามมาดูกันเลยค่ะว่า 10 สุดยอดการค้นพบทางโบราณคดี ปี 2024 จะมีอะไรกันบ้างนะคะ
10 สุดยอดการค้นพบทางโบราณคดี ปี 2024
1. ซากกระดูกไดโนเสาร์ดึกดำบรรพ์ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
จังหวัดขอนแก่นได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งไดโนเสาร์ เพราะมีการค้นพบฟอสซิลสัตว์ดึกดําบรรพ์เป็นจำนวนมาก ข่าวการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดสำหรับชาวขอนแก่น แต่ใครจะนึกว่าจะเจอกันง่าย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นที่อำเภอน้ำพอง เมื่อต้นปี 2024 วันที่ 1 มีนาคม 2024 ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Sathaporn Sitthiphisai สมาชิกในกลุ่มเฟซบุ๊ก “นี่ตัวอะไร” ได้โพสต์ภาพ ฟอสซิลหินเรียงตัวคล้ายโครงกระดูกของสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะคล้ายไดโนเสาร์ พร้อมตั้งคำถามถึงชนิดและสายพันธุ์ของโครงกระดูกดังกล่าว ระบุข้อความว่า “โครงกระดูกไดโนเสาร์สายพันธุ์อะไรครับ รบกวนเจ้าหน้าที่กั้นเขตพื้นที่ให้ด้วยนะครับ พิกัด อ.น้ำพอง ขอนแก่น” ต่อมาเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณีได้ลงพื้นที่บ้านบึงกลาง ตำบลหนองกุง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เพื่อตรวจสอบซากดึกดำบรรพ์ดังกล่าว โดยนำเครื่องมือในการกู้กระดูกไดโนเสาร์เพื่อทำการอนุรักษ์ซากฟอลซิลอย่างรวดเร็ว นักวิจัยได้ข้อสรุปว่า ซากดึกดำบรรพ์กระดูกไดโนเสาร์ที่พบ เป็นชิ้นส่วนของกระดูกใต้กระเบนเหน็บของไดโนเสาร์กินพืช (Sauropod) ขนาดใหญ่ คอยาว หางยาว พบในตำแหน่งที่เห็นได้ทั้งด้านหลังและด้านบนชัดเจน เหมือนกับว่าส่วนบนของตัวฟอสซิลโผล่พ้นขึ้นมาจากพื้นดิน ทว่ากระดูกสันหลังส่วนสะโพกไม่ได้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ แต่ยังสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน ฟอสซิลฝังตัวอยู่ในเนื้อทรายละเอียด ยุคครีเทเชียสตอนต้น (Early Cretaceous) ช่วงสมัยแอปเทียน-แอลเบียน (Aptian-Albian) ซึ่งมีอายุประมาณ 100-110 ล้านปีมาแล้ว คาดว่าฟอสซิลชิ้นนี้อาจมีความเกี่ยวข้องกับฟอสซิลอีกชิ้นหนึ่งที่เป็นส่วนกระดูกคอ พบบริเวณริมตลิ่งฝั่งบ้านโนนพยอม ห่างจากบ้านบึงกลางประมาณ 3.5 กิโลเมตร จึงสันนิษฐานว่าอาจเป็นชิ้นส่วนที่มาจากตัวเดียวกันมานอนตาย และทิ้งร่องรอยไว้ในลำน้ำพอง ทั้งนี้ ต้องทำการอนุรักษ์ตัวอย่างเพื่อศึกษาวิจัยในรายละเอียดเพิ่ม และเปรียบเทียบกับไดโนเสาร์กลุ่มเดียวกันที่พบจากทั่วโลกต่อไป เพื่อให้สามารถระบุชนิดและสายพันธุ์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
2. โครงกระดูกมนุษย์ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา
จังหวัดนครราชสีมา หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “โคราช” ซ่อนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันยาวนานไว้ใต้ผืนดิน โดยเฉพาะหลักฐานทางโบราณคดีที่บ่งบอกความเจริญรุ่งเรืองของอารยธรรมโบราณในภูมิภาคนี้ อย่างปราสาทหินพิมาย และแหล่งโบราณคดีบ้านโนนวัด ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย วันที่ 3 ธันวาคม 2024 กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ร่วมกับฝ่ายปกครองบ้านหนองจอก และองค์การบริหารส่วนตำบลมิตรภาพ ร่วมกันตรวจสอบ พบหัวกะโหลก โครงกระดูกมนุษย์ และเศษถ้วยชามเครื่องปั้นดินเผาแตกหักกระจายอยู่บริเวณรอบอ่างเก็บน้ำซับประดู่ บ้านหนองจอก ตำบลมิตรภาพ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบ สันนิษฐานเบื้องต้นว่าเป็นชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่กระจายตัวอยู่บนผิวดิน มีการตกแต่งด้วยวิธีการรมดำและขัดมัน คล้ายภาชนะแบบพิมายดำ ประกอบกับการตรวจสอบทางโบราณคดี จึงทำให้ทราบว่า โครงกระดูกมนุษย์ที่พบเป็นมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยเหล็ก มีอายุอยู่ช่วง 1,500-2,500 ปีมาเเล้ว เนื่องจากมีการฝังเครื่องมือเหล็กไว้ด้วย การค้นพบครั้งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่สะท้อนให้เห็นถึงสังคมสมัยโบราณของมนุษย์ยุคเหล็กในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา
3. สุสานมนุษย์ยุคหิน ชุดฟันกรามที่สมบูรณ์ที่สุด-เครื่องใช้โบราณ
คาดอายุเกิน 5,000 ปี อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล สตูลเป็นจังหวัดใต้สุดของประเทศไทยทางชายฝั่งทะเลอันดามัน พื้นที่ด้านทิศเหนือ และทิศตะวันออกเป็นเนินเขาและภูเขาสลับซับซ้อน ทำให้มีถ้ำมากมาย แหล่งโบราณคดีถ้ำที่ขึ้นชื่อของจังหวัดสตูล คือ แหล่งโบราณคดีถ้ำภูผาเพชร วันที่ 15 พฤษภาคม 2024 มีการค้นพบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ ประกอบด้วย กระดูกหน้าแข้ง กระดูกสันหลัง เศษกะโหลกไม่น้อยกว่า 10 ชิ้น และชิ้นส่วนฟันกรามล่างที่ค่อนข้างสมบูรณ์ รวมทั้งเปลือกหอยจำนวนมาก และเครื่องมือเครื่องใช้ในยุคหิน ที่ถ้ำเขาค้อม ตำบลควนกาหลง อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นถ้ำที่มีความหลากหลายทางระบบถ้ำมากที่สุด มีความยาวมากที่สุดแห่งหนึ่งในสตูล วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสตูล ได้ประสานไปยังกรมศิลปากรเพื่อให้เข้ามาดำเนินการตรวจสอบอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง โดยมีการกั้นพื้นที่ไว้ก่อนเพื่อไม่ให้มีการเข้ามาเหยียบย่ำหรือขุดทำลาย ทั้งนี้ จากการที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสตูลได้ส่งตัวอย่างไปเปรียบเทียบทางโบราณคดี ทำให้ทราบว่า ชิ้นส่วนกระดูกที่พบมีความใกล้เคียงกับมนุษย์ยุคหิน ที่มีอายุเกิน 5,000-10,000 ปี จึงสันนิษฐานได้ว่า ถ้ำเขาค้อมอาจเคยเป็นสุสานมนุษย์ยุคหินมาก่อน
4. ประติมากรรมหินอ่อนรูปเทพเจ้าเฮอร์มีส ที่เมืองโบราณเฮราเคลีย ซินติกา ประเทศบัลแกเรีย
เทพเจ้าเฮอร์มีส (Hermes) เป็นเทพเจ้าแห่งการสื่อสาร การเดินทาง การค้า ฯลฯ ในตำนานกรีก และยังทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสารของเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่อย่าง ซุส (Zeus) อีกด้วย โดยมีปีกที่เท้าและมีหมวกปีก แสดงถึงความว่องไวและความสามารถในการเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ปี 2024 ลูดมิล วากาลินสกี (Lyudmil Vagalinski) นักโบราณคดีชาวบัลแกเรีย พบประติมากรรมรูปเทพเจ้าเฮอร์มีสของกรีก สูงประมาณ 2 เมตร อยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์ พบในท่อระบายน้ำโบราณโรมัน ที่เมืองโบราณเฮราเคลีย ซินติกา (Heraclea Sintica) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของบัลแกเรีย ใกล้กับชายแดนประเทศกรีก คาดว่ามีอายุนับพันปี โดยมีการขุดค้นเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม นักโบราณคดีกล่าวว่ามีการจัดวางประติมากรรมไว้อย่างระมัดระวังในท่อระบายน้ำ และกลบฝังด้วยดิน หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ราวปี 388 หัวหน้าทีมนักโบราณคดีกล่าวว่า “ส่วนหัวของประติมากรรมยังอยู่ในสภาพที่ดีมาก และมีรอยแตกเล็กน้อยที่มือ” ทั้งนี้ ประติมากรรมดังกล่าวเป็นงานแกะสลักของช่างโรมันที่เลียนแบบมาจากศิลปะแบบกรีกโบราณ นักโบราณคดีเชื่อว่า ผู้ที่เคยอยู่อาศัยในเมืองเฮราเคลีย ซินติกา น่าจะพยายามรักษาประติมากรรมนี้เอาไว้ แม้ว่าช่วงเวลานั้นศาสนาคริสต์จะเป็นศาสนาประจำจักรวรรดิโรมัน การนับถือเทพเจ้ากรีกเป็นเรื่องต้องห้าม และชาวเมืองหันไปนับถือคริสต์ศาสนาแทนความเชื่อเก่า แต่พวกเขาก็ยังคงรักษาและดูแลประติมากรรมเทพเจ้าดั้งเดิมของตนไว้ การค้นพบนี้ให้มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของเมืองเฮราเคลีย ซินติกา ที่พยายามรักษามรดกทางวัฒนธรรมในช่วงเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางศาสนาและสังคม
5. การค้นพบจารึกแกะสลักของฟาโรห์ใต้น้ำ เมืองอัสวาน ประเทศอียิปต์
แม่น้ำไนล์ แม่น้ำสายหลักหล่อเลี้ยงทวีปแอฟริกา เปลี่ยนพื้นที่แห้งแล้งไปสู่ความอุดมสมบูรณ์สองฝั่งน้ำ จนทำให้เกิดอารยธรรมโบราณขึ้น เมื่อกว่า 5,000 ปีมาแล้ว นั่นคือ อารยธรรมอียิปต์ อารยธรรมโบราณนี้สืบเนื่องมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ทำให้มีทั้งร่องรอยโบราณวัตถุและโบราณสถานมากมาย ปี 1960 นักโบราณคดีใต้น้ำชาวอียิปต์ได้ค้นพบภาพแกะสลัก และภาพขนาดเล็กใต้แม่น้ำไนล์ ขณะตรวจสอบจารึกหินที่อยู่ในพื้นที่ของเขื่อนอัสวาน (Aswan) แต่เนื่องจากไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากพอ จึงไม่อาจทราบได้ว่าจารึกนี้กล่าวถึงสิ่งใด เมื่อถึงปี 2024 การสำรวจทางโบราณคดีมีความทันสมัยมากขึ้น เช่น การดำน้ำ การถ่ายภาพใต้น้ำ การถ่ายวิดีโอ การวาดภาพทางโบราณคดี เป็นต้น จึงทำให้สามารถระบุเรื่องราวที่จารึกอยู่บนแผ่นหินโคนอสโซ (Konosso rocks) ที่จมอยู่ใต้ผืนน้ำของแม่น้ำไนล์ได้ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า ภาพแกะสลักนี้กล่าวถึงฟาโรห์ อาเมนโฮเทปที่ 3 (Amenhotep III) ทุตโมสที่ 4 (Thutmose IV) พซัมติกที่ 2 (Psamtik II) และอาโมส (Ahmose) ซึ่งเป็นฟาโรห์ที่ปกครองในช่วงราชวงศ์ที่ 18 เมื่อ 1,292-1,500 ปีก่อนคริสตกาล ขณะนี้นักโบราณคดีกำลังสร้างแบบจำลองสามมิติของจารึกที่เพิ่งค้นพบนี้ รวมถึงวิเคราะห์สำหรับสิ่งพิมพ์ทางวิทยาศาสตร์ในอนาคต เพื่อช่วยปกป้องและอนุรักษ์หลักฐานทางโบราณคดีนี้ต่อไป
6. ซากพระราชวังสมเด็จพระสันตะปาปายุคกลาง กรุงโรม ประเทศอิตาลี
มหาวิหารเซนต์ยอห์น ลาเตรัน (Basilica of St. John Lateran) มหาวิหารที่สำคัญที่สุดและเก่าแก่ที่สุดในบรรดามหาวิหารสำคัญของศาสนาคริสต์ในกรุงโรม รวมทั้งยังเป็นวิหารสาธารณะที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงโรมอีกด้วย อุทิศในปี 324 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาซิลเวสเตอร์ที่ 1 (Pope St. Sylvester I) แม้จะอยู่ภายนอกนครรัฐวาติกัน แต่ก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของคณะพระสันตะปาปา เดือนกรกฎาคม ปี 2024 มีการขุดค้นพบโครงสร้างกำแพงที่จัตุรัสด้านนอกมหาวิหารเซนต์ยอห์น ลาเตรัน คาดว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 9 จนถึงปลายศตวรรษที่ 13 สันนิษฐานว่า มีการปรับปรุงมหาวิหารเซนต์ยอห์น ลาเตรัน หลายครั้งตลอดช่วงยุคกลาง โดยอาจสร้างกำแพงเพื่อเสริมความปลอดภัย มหาวิหารแห่งนี้ยังเคยใช้เป็นที่ประทับของพระสันตะปาปาหลายองค์ตั้งแต่ช่วงยุคกลางจนถึงศตวรรษที่ 14 จากนั้นย้ายไปยังเมืองอาวิญง (Avignon) ประเทศฝรั่งเศส ชั่วคราว ก่อนย้ายไปยังนครรัฐวาติกัน (Vatican City) ซึ่งยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ การขุดพบครั้งนี้อยู่ในช่วงดำเนินการก่อนการปรับปรุงมหาวิหารเพื่อเตรียมรับปีศักดิ์สิทธิ์คาทอลิก 2025 (Year of Jubilee) ซึ่งมักจะจัดขึ้นทุก ๆ 25 ปี โดยมีการเฉลิมฉลองเป็นพิเศษที่กรุงโรม คาดว่าจะดึงดูดนักแสวงบุญและนักท่องเที่ยวกว่า 30 ล้านคนมายังกรุงโรม
7. สีย้อมจากหอยทากโรมัน เมืองคาร์ไลล์ ประเทศอังกฤษ
สีม่วงไทเรียน (Tyrian purple) เป็นสีที่ทำยาก เพราะต้องใช้หอยทากมูเร็กส์ (Indothais sacellum) มากถึง 12,000 ตัว กว่าจะได้ปริมาณสีเพียง 2 กรัม โดยชาวฟินีเซียน (Phoenicia) ชนชาติที่ชำนาญการเดินเรือมากที่สุดกลุ่มหนึ่งในยุคโบราณ ผู้คุมเส้นทางการค้าตามชายฝั่งของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เป็นผู้ค้นพบสีม่วงไทเรียนนี้ ความยากของการสกัดสีม่วงไทเรียนทำให้มันมีราคาสูงมาก และมีเพียงชนชั้นสูงเท่านั้นที่สามารถซื้อสีนี้มาย้อมเสื้อผ้าได้ สีม่วงไทเรียนจึงเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นสูง ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2024 มีการค้นพบชิ้นส่วนสีม่วงไทเรียน ขนาดประมาณลูกปิงปอง ในพื้นที่สโมสรคริกเก็ตคาร์ไลล์ (Carlisle Cricket Club) เมืองคาร์ไลล์ ประเทศอังกฤษ แฟรงค์ จีเอคโค (Frank Giecco) หัวหน้านักโบราณคดี บอกว่า การค้นพบนี้มีความสำคัญมากในระดับนานาชาติ เพราะเป็นครั้งแรกที่ค้นพบสีม่วงอันเลอค่านี้ในสหราชอาณาจักร จีเอคโค กล่าวว่า “เม็ดสีชนิดนี้มีค่ามากกว่าทองคำ มันถูกใช้ย้อมสีเสื้อของบุคคลในราชสำนักและบุคคลที่มีตำแหน่งสูงสุดของสังคม” ย้อนกลับไปในปี 2017 มีการค้นพบโรงอาบน้ำโรมันโบราณในพื้นที่สโมสรคริกเก็ตคาร์ไลล์มาแล้ว สันนิษฐานว่า โรงอาบน้ำแห่งนี้อาจสร้างขึ้นเพื่อจักรพรรดิเซปติมิอุส เซเวอรัส (Emperor Septimius Severus) ซึ่งมาเยือนอังกฤษในปี 208 อย่างไรก็ตาม แม้ไม่เป็นที่ยืนยันชัดเจนว่าจักรพรรดิได้มาเยือนที่นี่จริง แต่การค้นพบสีม่วงไทเรียนในปีนี้ ก็เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า จะต้องมีคนในราชสำนักของจักรพรรดิ หรือชนชั้นสูงของจักรวรรดิโรมันมาเยือนอย่างแน่นอน
8. ซากศพปริศนากับประวัติศาสตร์โบราณของไอร์แลนด์เหนือ
ไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland) มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน มีสถานที่สำคัญหลายแห่งที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมและการตั้งถิ่นฐานในอดีต เช่น หินบีกมอร์ (Beaghmore) ที่มีอายุประมาณ 4,000 ปี ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในยุคหินใหม่ และปราสาทดันลูซ (Dunluce) ที่สร้างขึ้นในยุคกลาง นอกจากนี้ ไอร์แลนด์เหนือยังมีแหล่งโบราณคดีจากยุคเซลติก (The Celtic) และการปกครองของอาณาจักรต่าง ๆ ที่ช่วยให้เราเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และวัฒนธรรมของประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา นักโบราณคดีไอร์แลนด์เหนือได้รับแจ้งจากตำรวจเมื่อเดือนมกราคม ปี 2024 ว่า พบโครงกระดูกมนุษย์ในสภาพดี บริเวณป่าพรุ ในหมู่บ้านเบลลากี (Bellaghy) เมืองลอนดอนเดอร์รี ไอร์แลนด์เหนือ เป็นการค้นพบที่อาจช่วยไขความกระจ่างเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โบราณได้ ซากศพในบึงพรุที่ได้รับการเก็บรักษาอย่างดีโดยธรรมชาติจะเรียกว่า “บอดี้บ็อก” (Bog bodies) ซึ่งส่วนใหญ่มักพบในยุโรปเหนือ การขุดในครั้งนี้พบกระดูกแข้ง กระดูกน่อง กระดูกต้นแขน กระดูกปลายแขนด้านนิ้วก้อย และกระดูกปลายแขนด้านนิ้วหัวแม่มือ ขณะเดียวกันยังพบผิวหนังบางส่วน เล็บมือ เล็บเท้า และอาจมีไตด้วย สันนิษฐานว่า เป็นของเด็กชายอายุระหว่าง 13-17 ปี ตำรวจกล่าวเสริมว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครทราบมากนักว่าบุคคลนี้เสียชีวิตได้อย่างไร หน่วยสืบสวนกล่าวว่า “ตอนแรกพวกเขาไม่แน่ใจว่าโครงกระดูกดังกล่าวเป็นมนุษย์โบราณ หรือเสียชีวิตเมื่อเร็ว ๆ นี้ แต่ภายหลังได้มีการหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสี (Radiocarbon (14C) dating) จึงคาดว่าเสียชีวิตราว 2,000-2,500 ปีก่อน” การค้นพบครั้งนี้เป็นการค้นพบครั้งแรกที่มีการวัดอายุด้วยคาร์บอนกัมมันตภาพรังสี (คาร์บอน-14) กับซากศพในบึงพรุของไอร์แลนด์เหนือ และยังเป็นซากศพที่เหลืออยู่เพียงหนึ่งเดียว นี่จึงเป็นการค้นพบทางโบราณคดีที่สำคัญครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์โบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับซากศพในบึงพรุทั่วทั้งยุโรป
9. รายงานสำคัญการค้นพบเส้นนาซกา (Nazca desert) ประเทศเปรู
ประเทศเปรูตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ เป็นที่ตั้งของอารยธรรมโบราณอันรุ่งเรืองอย่างอาณาจักรอินคา และแหล่งโบราณคดีที่สำคัญคือ มาชูปิกชู ต่อมามีการค้นพบ “จิโอกลิฟ” (Geoglyphs) ครั้งแรกในทศวรรษ 1920 เป็นลายเส้นขนาดใหญ่สร้างขึ้นบนพื้นดินโดยการขุดหรือเคลื่อนย้ายวัสดุ เช่น หินหรือทราย เส้นนาซกา (Nazca lines) คือตัวอย่างสำคัญของจิโอกลิฟ วิธีการสร้างภาพสัตว์ พืช สิ่งมีชีวิตในจินตนาการ และรูปทรงเรขาคณิตเหล่านี้ยังคงเป็นปริศนาทางโบราณคดีที่ดึงดูดความสนใจของนักวิทยาศาสตร์มาร่วมศตวรรษ เพราะนอกจากมันจะสามารถมองเห็นได้ชัดเจนจากอากาศแล้ว ยังไม่มีการยืนยันด้วยว่าสิ่งเป็นการสื่อสารหรือมีวัตถุประสงค์ทางศาสนา ระหว่างปี 1920-1929 มีการค้นพบเส้นนาซกาทั้งสิ้น 430 แห่ง ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีด้านโบราณคดีทันสมัยมากขึ้น การค้นพบเส้นนาซกาใหม่ๆ ก็สามารถทำได้อย่างรวดเร็วตามไปด้วย โดยผู้มีส่วนสำคัญในการค้นพบครั้งหลัง ๆ คือ มาซาโตะ ซาไก (Masato Sakai) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยยามากาตะ (Yamagata University) ประเทศญี่ปุ่น ที่ร่วมกับบริษัทเทคโนโลยี IBM ใช้เทคโนโลยี LiDAR (Light Detection and Ranging) ค้นพบเส้นนาซกาเพิ่มอีก 303 ระหว่างเดือนกันยายน 2022 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2023 ก่อนจะตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสารวิทยาศาสตร์ของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (Proceedings of the National Academy of Sciences : PNAS) เมื่อเดือนกันยายน 2024 โดยระบุว่า เทคโนโลยี LiDAR สามารถนำมาใช้เพื่อย่นระยะเวลาในการค้นพบทางโบราณคดีได้
10. การค้นพบระบบเมืองโบราณในแอมะซอนตอนบนของเอกวาดอร์
การสำรวจทางโบราณคดีด้วยเทคโนโลยี LiDAR การสำรวจทางโบราณคดีที่เพิ่งเกิดขึ้นในหุบเขาอูปาโน (Upano Valley) ที่ตั้งอยู่ในแอมะซอน (Amazon) ตอนบนของประเทศเอกวาดอร์ เมื่อเดือนมกราคม 2024 นำไปสู่ การค้นพบระบบเมืองโบราณยุคก่อนฮิสแปนิก (Pre-Hispanic) ช่วงก่อนศตวรรษที่ 16 ที่หนาแน่นและมีความซับซ้อน ภูมิทัศน์ที่เกิดจากการดัดแปลงมนุษย์นี้ เผยให้เห็นโครงสร้างต่าง ๆ เช่น แท่นสูง ลานกว้าง ถนนที่จัดเรียงตามรูปแบบเฉพาะ รวมทั้งระบบระบายน้ำ และเทือกเขาทางการเกษตรที่กว้างขวาง โดยใช้เทคโนโลยี LiDAR (Light Detection and Ranging) ในการทำแผนที่และสำรวจพื้นที่ในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน การค้นพบดังกล่าวพิสูจน์ถึงการพัฒนาระบบเมืองในพื้นที่ลุ่มน้ำแอมะซอน ซึ่งสามารถเปรียบเทียบได้กับระบบเมืองมายาที่เพิ่งค้นพบในเม็กซิโก และกัวเตมาลา โดยการศึกษาได้เปิดเผยข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับระบบเมืองยุคก่อนฮิสแปนิกในภูมิภาคแอมะซอน ซึ่งอาจเปลี่ยนมุมมองของเราต่อประวัติศาสตร์ และการพัฒนาเมือง การทำแผนที่ด้วย LiDAR ครอบคลุมพื้นที่กว่า 300 ตารางกิโลเมตร ซึ่งได้เปิดเผยเครือข่ายเมืองขนาดใหญ่ที่มีการสร้างโครงสร้างและขุดค้นพบที่สำคัญในแอมะซอน ที่มีอายุย้อนกลับไปถึง 2,500 ปี การค้นพบนี้เป็นการยืนยันว่าแอมะซอนในยุคก่อนฮิสแปนิกมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมีระบบการจัดการเมืองที่ซับซ้อน การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการสำรวจทำให้เราได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับวิถีชีวิตและการพัฒนาเมืองในอดีต
ที่มา : กองศิลปวัฒนธรรม