บุหรี่ไฟฟ้า คืออะไร
บุหรี่ไฟฟ้า (Electronic Cigarette) เป็นอุปกรณ์สูบบุหรี่ชนิดหนึ่งที่ใช้กลไกไฟฟ้าทำให้เกิดความร้อนและไอน้ำ ซึ่งประกอบด้วยส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน คือ แบตเตอรี่ ตัวทำให้เกิดควันและความร้อน (Atomizer) และน้ำยา โดยไม่มีควันจากกระบวนการเผาไหม้เหมือนบุหรี่ปกติทั่วไป และด้วยการสูบควันของบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดความเข้าใจว่ามีอันตรายต่อร่างกายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา
ควันจากบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคติน เป็นสารที่ทำให้เกิดการเสพติดได้เช่นเดียวกันกับบุหรี่มวน สารนิโคตินนี้ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายน้อยลง ในบุหรี่ไฟฟ้ายังมีสารมีพิษอื่น ๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบของร่างกาย ทำให้เกิดอาการไอ ระคายเคืองปอด เพิ่มความเสี่ยงอาการหอบหืด ควันระเหยของบุหรี่ไฟฟ้ามีขนาดเล็กกว่าบุหรี่มวน สามารถเข้าไปในปอดส่วนลึกมากกว่า ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้รวดเร็ว อีกทั้งขดลวดโลหะในอุปกรณ์สูบบุหรี่ไฟฟ้าสามารถปล่อยโลหะหนักออกมาได้
การสูบควันในระยะยาวอาจทำให้เกิดความผิดปกติของประสาทสัมผัสรับกลิ่น เมื่อการรับรู้กลิ่นลดลง ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าจึงต้องเลือกน้ำยาที่มีรสชาติเข้มข้นขึ้น ซึ่งอาจยิ่งสร้างความระคายเคือง ทำลายจมูก ปอด และทางเดินหายใจมากยิ่งขึ้น
10 โรคแทรกซ้อนจากภัยบุหรี่ไฟฟ้า
ภัยจากบุหรี่ไฟฟ้า แม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะไม่ถูกกฎหมายในปัจจุบัน แต่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยนักสูบหันมาใช้แทนบุหรี่แบบดั้งเดิม ด้วยความเชื่อเรื่องความปลอดภัยทั้งต่อตนเองและบุคคลรอบข้างนั่นเองค่ะ นอกจากนี้ยังมีนักสูบหน้าใหม่เพิ่มจำนวนขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิง เด็ก และเยาวชน ดังนั้นเพื่อหยุดผลกระทบในมิติต่าง ๆ จากบุหรี่ไฟฟ้า จึงต้องมีการเฝ้าระวัง ป้องกันและแก้ไข ด้วยการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทันการบุกโจมตีของอุปกรณ์สูบยาประเภทนี้ ข้อมูลจากศูนย์วิจัย พบรายงาน
1. โรคแทรกซ้อนจากบุหรี่ไฟฟ้าในระบบทางเดินหายใจ ร้อยละ 49,
2. โรคแทรกซ้อนระบบหัวใจและหลอดเลือด ร้อยละ 13,
3. โรคแทรกซ้อนทางช่องปากและฟัน ร้อยละ 18,
4. โรคแทรกซ้อนทางสมอง ร้อยละ 7,
5. โรคแทรกซ้อนทางตับ ร้อยละ 2.9,
6. โรคแทรกซ้อนทางผิวหนัง ร้อยละ 2.9
7. โรคแทรกซ้อนระบบอื่น ๆ ร้อยละ 19
8. โรคแทรกซ้อนโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดถึง 1.8 เท่า
9. ทำให้ปอดอักเสบ มีความเสี่ยงต่อโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเพิ่มขึ้นร้อยละ 49
10. โรคแทรกซ้อนโรคหอบหืดเพิ่มขึ้นร้อยละ 39
แถมยังทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองในเด็กและเยาวชนลดลงและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ ปัจจุบันนี้ในประเทศไทยยังไม่มีตัวเลขจำนวนของผู้ป่วยหรือเสียชีวิตจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า แต่พบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคปอดอักเสบจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2562