บทความนี้จะมานำเสนอเกี่ยวกับ 10 อันดับเทคโนโลยีที่น่าจับตามอง ปี 2567 ที่อาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในอนาคต 5-10 ข้างหน้ากันนะคะ

ในงาน Thailand Tech Show 2024 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน อว. แฟร์: SCI-POWER For Future Thailand บรรยายโดย ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เปิดเผยข้อมูล 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง ในปี 2567 ซึ่งเป็นการคาดการณ์เทคโนโลยีที่จะมีผลกระทบได้อย่างชัดเจนใน 5 – 10 ปีข้างหน้า พร้อมแล้วมาดูกันเลยค่ะ ว่าจะมีเทคโนโลยีตัวไหนกันบ้าง

 

10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง ปี 2567 และส่งผลต่ออนาคต 5-10 ปี

 

 

1. กล้ามเนื้อเทียม (Artificial Muscle)

สังคมไทยคล้ายกับอีกหลายสังคมทั่วโลกที่เข้าสู่การเป็น “สังคมสูงอายุ” อย่างเต็มตัว ปัญหามวลกล้ามเนื้อที่ลดลง ลุกนั่งลำบาก ทรงตัวไม่ดี พลัดตกหกล้มง่าย เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บ อาจทำให้กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง หรือถึงกับเสียชีวิตได้ การส่งเสริมสุขภาพด้วยอุปกรณ์เสริม เช่น อุปกรณ์จากเทคโนโลยีกล้ามเนื้อเทียมจึงมีประโยชน์เป็นอย่างมาก

กล้ามเนื้อเทียมหรือกล้ามเนื้อจำลอง (artificial muscle) คือ วัสดุหรืออุปกรณ์ที่สร้างขึ้นเลียนแบบการทำงานของกล้ามเนื้อจริงตามธรรมชาติ มีลักษณะสำคัญคือ ยืด หด ขยายหรือหมุนได้ เมื่อได้รับการกระตุ้นจากสิ่งเร้า (stimuli) ไม่ว่าเป็นกระแสไฟฟ้า ความดัน หรืออุณหภูมิ ฯลฯ อาจแบ่งกล้ามเนื้อเทียมได้เป็นหลายประเภทตามกลไกการทำงานและวัสดุ อาทิ ชนิดที่ใช้พอลิเมอร์และไอออนหรือไฟฟ้า

ปัจจุบันกล้ามเนื้อเทียมส่วนใหญ่เป็นแบบทำงานด้วยแรงลม (pneumatic artificial muscle) ซึ่งพัฒนามาอย่างยาวนานและค่อนข้างปลอดภัย มีมูลค่าการตลาดราว 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะเติบโตเป็น 5,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2031 โดยมีจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นเป็นผู้นำและมีการนำไปใช้ประโยชน์เป็น soft robot เป็นจำนวนมาก

ปัจจุบันมีความต้องการกล้ามเนื้อเทียมไปใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์ เช่น การใช้เป็นอุปกรณ์สวมใส่เพื่อช่วยในการฟื้นฟูหรือเสริมแรงสำหรับผู้พิการ การผ่าตัดแบบ microsurgery นอกจากนี้ยังมีความต้องการนำกล้ามเนื้อเทียมไปประยุกต์ใช้ในหุ่นยนต์สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง และระบบควบคุมอัตโนมัติในงานอุตสาหกรรม เพื่อให้หุ่นยนต์มีน้ำหนักเบา ทำงานกับมนุษย์ได้อย่างปลอดภัย และปรับเปลี่ยนการใช้งานได้หลากหลาย หากกล้ามเนื้อเทียมเหล่านี้ได้รับการพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ เราน่าจะได้เห็นหุ่นยนต์ที่เคลื่อนไหวเร็ว ทำงานคล่องแคล่วจนน่าทึ่งในอนาคตแน่นอนค่ะ

2. จุลชีพในลำไส้เพื่อดูแลสุขภาพ (Human Gut Microbes for Healthcare)

ร่างกายส่วนต่าง ๆ ประกอบด้วยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะในลำไส้ ซึ่งถ้าขาดสมดุลของจุลินทรีย์มีประโยชน์ ก็จะทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ทั้งโรคทางเดินอาหาร โรคภูมิแพ้ โรคทางเมแทบอลิกต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน หรือแม้แต่โรคมะเร็ง อีกด้วย ในอนาคตเราอาจออกแบบวงจรยีนทำให้เซลล์จุลินทรีย์จำเพาะบางชนิดทำหน้าที่ตรวจสอบสารแปลกปลอมต่าง ๆ ช่วยทำให้ยาออกฤทธิ์ได้อย่างจำเพาะที่ หรือแม้แต่ช่วยปล่อยสารบางอย่าง เพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้อีกด้วย

3. แฝดดิจิทัลในการดูแลสุขภาพ (Digital Twin in Healthcare)

ปัจจุบันนี้ ข้อมูลส่วนบุคคลของเราแต่ละคน ถูกบันทึกเก็บไว้ด้วยอุปกรณ์อัจฉริยะสวมใส่ได้หรือพกพาได้ชนิดต่าง ๆ ที่มีเซนเซอร์ติดไว้ อาทิ สมาร์ตวอตช์หรือสมาร์ตโฟน ข้อมูลที่สัมพันธ์กับช่วงเวลา สภาพร่างกาย และตำแหน่งบนโลก กลายเป็น “ฐานข้อมูลดิจิทัล” โดยเก็บค่าที่วัดได้อย่างต่อเนื่องไว้ตามฐานข้อมูลออนไลน์ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลประวัติการรักษาต่าง ๆ เช่น ผลการตรวจเลือดและภาพถ่ายทางการแพทย์ หากดึงข้อมูลเหล่านี้ทั้งในอดีตและปัจจุบันมาวิเคราะห์ได้ ก็จะช่วยให้การตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคได้ดีขึ้น และจำลองผลการรักษาที่มีต่อการทำงานของอวัยวะหรือร่างกายได้ระดับหนึ่ง รวมไปถึงพยากรณ์โรคได้ และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้ด้วย

4. การพัฒนาซอฟต์แวร์แบบเอไอเสริม (Al-Augmented Software Development)

การพัฒนาซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ที่ผ่านมาเป็นฝีมือของมนุษย์ทั้งสิ้น แต่ความก้าวหน้าของ generative AI และ Machine Learning (ML) เปิดโอกาสให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถนำ AI มาใช้ในกระบวนการออกแบบ สร้าง ทดสอบ รวมไปถึงการวางตลาดแอปพลิเคชันและซอฟต์แวร์ต่าง ๆ อย่างรวดเร็วมากขึ้นและด้วยกระบวนการที่ง่ายขึ้น ถือได้ว่า AI เป็น software development tools ที่สำคัญแบบหนึ่งในอนาคตอันใกล้

คาดว่าภายในปี 2028 วิศวกรซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมเมอร์ในองค์กรราว 75% จะใช้ AI ช่วยในการเขียนโค้ด เทียบกับปัจจุบันที่ยังทำเช่นนี้น้อยกว่า 10%

5. เทคโนโลยีอุปกรณ์สวมใส่ติดเอไอ (AI Wearable Technology)

การเชื่อมต่อและเก็บข้อมูลเพื่อวัดค่าต่าง ๆ ที่ปัจจุบันยังทำผ่านสมาร์ตวอตช์เป็นหลัก ในอนาคตอันใกล้จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นแว่นตาอัจฉริยะ รองเท้าอัจฉริยะ เสื้ออัจฉริยะ แหวนอัจฉริยะ แจ็กเก็ตอัจฉริยะ และแม้แต่พวงกุญแจอัจฉริยะ ช่วยเรื่องการชำระเงิน ทำธุรกรรม หรือช่วยตัดสินใจ จี้ห้อยคอ AI อาจช่วยจดประชุม สรุปประเด็น ร่างอีเมล จดจำนัดหมาย แจ้งเตือน เสมือนเป็นเลขาส่วนตัวอยู่ข้างกาย อุปกรณ์สวมใส่ AI รุ่นใหม่ ๆ จะทำงานรวดเร็วขึ้น เพราะมีไมโครชิปที่ดีขึ้น และทำงานได้แม่นยำเที่ยงตรงมากขึ้น เพราะมีเทคโนโลยี AI ที่ดีขึ้น

ขณะที่ความสามารถในการตรวจวัดต่าง ๆ ก็จะมีความหลากหลายมากขึ้นและทำงานดีขึ้นด้วยเนอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์สวมใส่ AI ที่ตรวจวัดระดับน้ำตาลได้ ซึ่งเหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน มีแหวนอัจฉริยะชื่อ Oura ring ที่วัดอัตราการเต้นของหัวใจและระดับออกซิเจนในเลือด

ในประเทศไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้พัฒนาอุปกรณ์สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยอัลไซเมอร์ นาฬิกาอัจฉริยะ “โพโมะ” ช่วยป้องกันเด็กหายวางขายใน 20 ประเทศ มีแอปพลิเคชันชื่อ ฟิตสตาร์ (FitStar) ให้คำแนะนำแก่ผู้เล่นโยคะ แอปพลิเคชันลูโมซิตี (Lumosity) ที่วัดระดับการทำงานของสมอง เพื่อดูผลของการออกกำลังกายต่อการพัฒนาสมอง นอกจากนี้ยังมีอีกหลายแอปพลิเคชันที่ช่วยส่งเสริมการฝึกสมาธิและฝึกการตัดสินใจอีกด้วย ฯลฯ

AMED ของ สวทช. ได้พัฒนาระบบเซนเซอร์อัจฉริยะสำหรับสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วย เพื่อตรวจจับอิริยาบถและการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ รวมไปถึงท่านอน การล้ม และตำแหน่งที่เกิดเหตุภายในอาคาร พร้อมแสดงผลและแจ้งเตือนผู้ดูแลแบบเรียลไทม์ นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีเซนเซอร์โมดูล (sensor module) ที่เกี่ยวเนื่องกับ Wearable Technology ต่าง ๆ กระจายอยู่ทุกศูนย์วิจัยแห่งชาติของ สวทช. อีกด้วย

6. เทคโนโลยีคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Privacy-Enhacning Technologies : PETs)

เทคโนโลยีคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Privacy-Enhancing Technologies: PETs) จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเทคโนโลยีที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันไม่ปลอดภัยมากพอ เพราะระหว่างการส่งข้อมูลจากเซนเซอร์ไปประมวลผลในคลาวด์นั้น แม้จะมีการเข้ารหัสข้อมูลแล้วก็ตาม แต่เมื่อไปถึงที่คลาวด์ ก็จำเป็นต้องถอดรหัสเพื่อนำข้อมูลจริงนั้นมาประมวลผล จึงเกิดช่องโหว่ทำให้ข้อมูลเหล่านั้นรั่วไหลที่คลาวด์ได้หากโดนแฮ็ก เทคโนโลยีแบบใหม่คือ PETs ช่วยคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ผ่านการเข้ารหัสแบบใหม่ที่ทำให้ข้อมูลประมวลผลบนคลาวด์ได้ “โดยไม่ต้องถอดรหัส”

มีการนำเทคโนโลยี PETs มาให้บริการแล้วในวงการการเงิน สุขภาพ และทรัพยากรบุคคล เช่น บริษัท EN|VIEL, Tripple-Blind และ Inpher ในสหรัฐอเมริกา บริษัท ZAMA มีการนำเอาเทคโนโลยี PETs มาใช้ในการระบุตัวตนแบบ biometric authentication และทำ confidential trading อีกด้วย ขณะที่บริษัท RAVEL ในประเทศฝรั่งเศสก็นำเอาระบบนี้ไปใช้ให้บริการโฆษณาส่วนบุคคล เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย เนคเทค สวทช. ได้พัฒนาเทคโนโลยี PETs ให้ใช้กับแพลตฟอร์ม IoT สำหรับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Industry 4.0 ของประเทศในชื่อ ไซบิลเลี่ยน (CYBLION) ช่วยทำให้การคำนวณข้อม๔บองโรงงานอุตสาหกรรมบนคลาวด์ทำได้อย่างปลอดภัย โดยเนคเทคได้ทดสอบใช้งานจริงในโรงงานธนากรผลิตน้ำมันพืช จำกัด (น้ำมันพืชกุ๊ก) แล้ว

7. หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย (Security Robot)

หน่วยงานความมั่นคงรวมถึงภาคเอกชนทั่วโลกให้ความสนใจลงทุนทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างมากในแต่ละปี การนำหุ่นยนต์มาใช้ในการรักษาความปลอดภัยจะช่วยลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่, AI จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจการณ์ให้ดีมากขึ้นได้อีกด้วย

ข้อดีหุ่นยนต์รักษาความปลอดภัยมีหลายด้าน ได้แก่ ความสามารถในการทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานโดยไม่อ่อนล้าหรือหย่อนประสิทธิภาพ สามารถวิเคราะห์ภาพและพฤติกรรม สามารถแจ้งเตือนเพื่อป้องกันการเกิดเหตุความไม่ปลอดภัยได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ นอกจากนี้แล้ว หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัยยังสามารถทำงานได้ในพื้นที่หรือสภาวะแวดล้อมที่หลากหลาย ทั้งภายในและภายนอกอาคาร ระบบนำทางอัตโนมัติจะทำให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้อย่างทั่วถึงทุกบริเวณ ขณะที่ต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปกับหุ่นยนต์จำพวกนี้ในระยะยาวจะน้อยกว่าค่าใช้จ่ายสำหรับการจ้างฝ่ายรักษาความปลอดภัยที่เป็นมนุษย์ และไม่ต้องกังวลใจเรื่องความเชื่อใจได้ของ รปภ. ที่เป็นมนุษย์อีกด้วย

ปัจจุบันเริ่มมีการใช้งานหุ่นยนต์รักษาความปลอดภัยแล้วในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และญี่ปุ่น มีการใช้งานหุ่นยนต์เพื่อรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ที่มีประชาชนจำนวนมาก เช่น สนามบินหรือสถานีรถไฟ รวมทั้งมีการใช้หุ่นยนต์เพื่อลาดตระเวนในพื้นที่เสี่ย

8.เทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่แบบโดยตรง (Direct Battery Recycling Technology)

ในกระบวนการรีไซเคิลแบตเตอรี่ในปัจจุบันมักอาศัยความร้อนสูง หรือใช้กระบวนการที่ต้องใช้สารเคมีที่เป็นพิษ ความพยายามหลีกเลี่ยงกระบวนการทั้งสองแบบนี้นำมาสู่เทคโนโลยีใหม่ที่ลดการใช้พลังงาน ซึ่งจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้เกิดผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว อีกทั้งยังเป็นการลดการใช้โลหะหนัก โดยบางกระบวนการลดได้มากถึง 90% หากเทียบทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การทำเหมืองเพื่อให้ได้โลหะใหม่มาใช้ เทคโนโลยีรีไซเคิลโดยตรงอาศัยกระบวนการทางกายภาพในการร่อน ตัด ย่อย บด และคัดแยกนำสารเพื่อนำกลับมาใช้สร้างเป็นขั้วแคโทด (cathode) ของแบตเตอรี่ขึ้นใหม่ ประเมินกันว่าเทคโนโลยีแบบนี้อาจไปถึงจุดที่นำชิ้นส่วนกลับมาใช้ได้มากถึง 90% อีกทั้งจะลดความต้องการสินแร่ใหม่เพื่อนำมาผลิตแบตเตอรี่ได้มากกว่า 25% ในปี 2030 การรีไซเคิลแบบนี้เหมาะกับแบตเตอรี่ที่ใช้ในยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ในระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อลดภาระต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมเศรษฐกิจแบบ BCG คาดว่าจะมีการเติบโตของอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีแบบนี้มากกว่า 20%

9. ไฮโดรเจนเพื่อการขับเคลื่อน (H2 for Mobility)

รถยนต์ปัจจุบันกำลังค่อยเปลี่ยนจากรถยนต์สันดาปภายในไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อย ๆ  ฟากผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่นบางรายก็ลงทุนวิจัยมหาศาลไปรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน เพราะคาดกันว่าพลังงานจากไฮโดรเจนจะเป็นอีกตัวเลือกของพลังงานอนาคตได้เช่นกัน มีคนจำนวนมากคาดหวังว่าพลังงานไฮโดรเจนจะมาเป็นตัวปิดช่องว่าง 20% ของ Net Zero ของภาคการขนส่งขนาดใหญ่ และการป้อนไฟฟ้าให้แก่ภาคอุตสาหกรรม

ประเทศไทยนั้นมีความพร้อมอยู่พอสมควร มีร่างกฎหมายเกี่ยวกับพลังงานไฮโดรเจนแล้ว และมีศักยภาพในการผลิตไบโอไฮโดรเจน (biohydrogen) จากพื้นฐานความเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีสารตั้งต้นจากก๊าซมีเทนในมูลสัตว์หรือชีวมวลต่าง ๆ ที่จัดเป็นกรีนไฮโดรเจน (green hydrogen) แบบหนึ่ง ซึ่งอาจนำมาผ่านกระบวนการทางเคมีต่าง ๆ จนได้ผลิตภัณฑ์เป็นไฮโดรเจนออกมาในที่สุด

ต้นทุนการผลิตไบโอไฮโดรเจนก็มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง กระบวนการผลิตไฮโดรเจนแบบนี้ลดการสร้างคาร์บอนฟุตพรินต์ (carbon footprint) และนำมาขายเป็นคาร์บอนเครดิต (carbon credit)

 

10. ยุคถัดไปของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

เทคโนโลยี RAS เป็นการเลี้ยงแบบใช้น้ำหมุนเวียน โดยมีการบำบัดของเสียออกจากน้ำและเติมออกซิเจนให้น้ำ มีข้อดีคือไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำ สามารถเลี้ยงสัตว์น้ำได้อย่างหนาแน่นในพื้นที่น้อย ควบคุมสภาวะการเลี้ยงและมีการติดตามปัจจัยต่าง ๆ ได้ดีกว่าวิธีการแบบเดิม จึงลดความเสี่ยงจากโรคสัตว์น้ำได้มาก
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาเทคโนโลยี RAS มักใช้ในวงจำกัดเพื่อการเลี้ยงสัตว์น้ำมูลค่าสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาเทราต์ ฯลฯ เนื่องจากคุ้มทุนได้ง่าย เพราะการเลี้ยงระบบ RAS ต้องอาศัยการลงทุนที่สูงกว่าการเลี้ยงแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ยังต้องการการดูแลควบคุมระบบการเลี้ยงอย่างใกล้ชิดอีกด้วย

ยุคถัดไปของเทคโนโลยี RAS คือ การออกแบบให้ระบบมีความเหมาะสมกับสัตว์น้ำแต่ละชนิด โดยมีเป้าหมายคือ ทำให้ใช้เงินลงทุนระบบลดลงและควบคุมระบบการเลี้ยงได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังมีแผนการพัฒนาระบบต่อโดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI และเทคโนโลยีการประมวลผลภาพ (image processing) ในการติดตามและควบคุมการเลี้ยงในทุกขั้นตอน

โดยสรุปแล้ว 10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองในปีนี้ ในภาพรวม ราวครึ่งหนึ่งเป็น digital technology และมี AI ร่วมอยู่ด้วย มากบ้างน้อยบ้าง แสดงให้เห็นถึงการมาถึงของยุค AI ได้เป็นอย่างดี ขณะที่มีอยู่ 3 เทคโนโลยีเกี่ยวข้องกับสุขภาพ กับอีก 2 เทคโนโลยีเกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน และอีก 1 เทคโนโลยีเกี่ยวข้องกับด้านการประมง สามารถดาวน์โหลดสไลด์และดูรายละเอียดที่ nstda.or.th

 

 

ที่มา : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช.