บทความนี้จะมานำเสนอเกี่ยวกับ 10 อันดับประโยชน์ของกระเทียม สรรพคุณทางยา และข้อควรระวังกันนะคะ กระเทียม (Garlic) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Allium sativum เป็นพืชสมุนไพรไทยชนิดหนึ่ง มักถูกจัดอยู่ในประเภทเครื่องเทศ มีลักษณะกลมแป้น ประกอบด้วยกลีบที่ห่อหุ้มด้วยเปลือกสีขาว คนไทยนิยมนำมาใช้ทำอาหาร เนื่องจากช่วยดับกลิ่นคาว และเพิ่มรสชาติให้เมนูอาหารมีความเข้มข้นยิ่งขึ้น ประโยชน์ของกระเทียมมีมากมาย โดยเฉพาะสรรพคุณทางยาที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ ถือเป็นสมุนไพรคู่ครัวสารพัดประโยชน์ที่ทุกคนเข้าถึงได้กันเลยนะคะ พร้อมแล้วตามมาดูกันเลยค่ะว่า 10 อันดับประโยชน์ของกระเทียม สรรพคุณทางยา และข้อควรระวัง จะมีอะไรบ้างนะคะ

10 อันดับประโยชน์ของกระเทียม สรรพคุณทางยา และข้อควรระวัง

 

 

ในกระเทียมจะมีสารอัลลิซิน (Allicin) ซึ่งเป็นสารที่ให้กลิ่นฉุนอันเป็นเอกลักษณ์ที่เราคุ้นเคยกันดี ซึ่งสารตัวนี้จะออกฤทธิ์ให้สรรพคุณทางยาที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนี้

 

1. รักษาโรคหวัด
ในกระเทียมมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย แต่หากเป็นหวัดก็สามารถฝานกระเทียมไปแช่น้ำร้อน แล้วกรองน้ำออกมาดื่ม ชากระเทียมอุ่นๆ จะทำให้หวัดหายเร็วขึ้น

2. ลดระดับไขมันในเลือด
การกินกระเทียมเป็นประจำจะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล และระดับไขมันในเลือด ซึ่งมีผลช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ

3. ลดความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็ง
สถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NCI) เผยผลวิจัยที่ระบุว่า กระเทียมอาจมีคุณสมบัติต้านโรคมะเร็ง เนื่องจากสารในกระเทียมออกฤทธิ์ลดความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอก

4. แก้โรคผิวหนังอักเสบ
หากผิวหนังอักเสบจากอาการแพ้จนเป็นผื่นแดง หรือมีอาการคันจากโรคสะเก็ดเงิน ให้ทาน้ำมันกระเทียมบริเวณผิวหนัง จะช่วยลดอาการอักเสบ และรักษาอาการคันให้หายได้

5. แก้ปัญหาผมร่วง
สารอัลลิซินและสารซัลเฟอร์ที่อยู่ในกระเทียม สามารถช่วยลดปัญหาผมขาดหลุดร่วงได้ เพียงฝานกระเทียมบางๆ ผสมน้ำมันออยล์ แล้วนำไปนวดบำรุงศีรษะ หนังศีรษะก็จะแข็งแรงขึ้น

6. บรรเทาอาการปวดข้อ
ประโยชน์ของกระเทียมคือ ทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น จึงสามารถช่วยลดอาการปวดตามข้อของร่างกาย บรรเทาอาการเจ็บจากข้อเท้าพลิก รวมถึงอาการเคล็ดขัดยอกต่างๆ

7. ป้องกันแมลงกัดต่อย
คนไทยโบราณนิยมใช้กระเทียมเป็นยากันยุง รวมถึงการหั่นกระเทียมแล้วนำไปผสมกับขี้ผึ้ง ทาตามแขนขาเมื่อต้องเดินทางในป่า กลิ่นของกระเทียมจะทำให้ไม่มีแมลงมารบกวน

8. ถอนเสี้ยนหนาม
วิธีธรรมชาติที่คนไทยโบราณนิยมใช้กำจัดเสี้ยนหนาม และเสี้ยนไม้ที่ตำมือหรือตำเท้า ให้ฝานกระเทียมแผ่นบางๆ วางลงบนเสี้ยน แล้วใช้ผ้าพันแผลกดทับลงไป ไม่นานเสี้ยนก็จะหลุดออกเอง

9. รักษาสิว
นอกจากมีฤทธิ์ป้องกันเชื้อราแล้ว กระเทียมยังสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้อีกด้วย เคล็ดลับภูมิปัญญาไทยจึงใช้กระเทียมในการรักษาสิว ด้วยการฝานกระเทียมสด แปะลงบริเวณที่มีสิว

10. กำจัดกลิ่นเท้า
ใครที่มีกลิ่นเท้าไม่พึงประสงค์ ให้นำกระเทียมไปบด แล้วแช่ในน้ำอุ่น หลังจากนั้นให้แช่เท้าเพื่อกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาเชื้อราที่เท้า น้ำกัดเท้า หรือเท้าอับชื้น

 

โทษของกระเทียม หากกินมากเกินไป

 

 

กระเทียมมีประโยชน์และสรรพคุณทางยาก็จริงนะคะ แต่ทุกอย่างก็ต้องตั้งอยู่บนความสมดุล หากกินกระเทียมมากเกินไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกันค่ะ เพราะจะส่งผลให้เกิดภาวะเลือดแข็งตัวช้า เนื่องจากสารในกระเทียมจะยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ซึ่งหากเกิดบาดแผลจะทำให้เลือดไหลไม่หยุดนั่นเองค่ะ

 

โรคที่ห้ามกินกระเทียม

 

 

สำหรับสตรีมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร ควรงดกินกระเทียมในรูปแบบยาเสริมอาหาร เนื่องจากอาจทำให้รสชาติน้ำนมเปลี่ยนไป ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งต้องกินยากลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด และยาละลายลิ่มเลือดเป็นประจำ ไม่ควรกินกระเทียมในปริมาณที่มากเกินไป เนื่องจากอาจทำให้เป็นโรคโลหิตจาง ในผู้ที่แพ้กระเทียมบางราย อาจมีอาการปวดท้อง อาเจียน และวิงเวียนศีรษะควบคู่กัน

แม้ประโยชน์ของกระเทียมจะมีมากมาย แต่หากกินในปริมาณที่มากเกินพอดี ก็อาจส่งผลเสียได้เช่นกัน สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวและต้องการกินยาแผนโบราณที่มีกระเทียมเป็นส่วนประกอบ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอเพื่อความปลอดภัยกันด้วยนะคะ

 

 

 

 

ที่มา : คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี