เมื่อพูดถึงโรคระบาดสำหรับผู้คนในยุคโบราณนั้น ต้องบอกเลยนะคะว่าถือเป็นเรื่องน่าเศร้ามากๆเลยค่ะ เพราะการแพทย์นั้นยังไม่พัฒนาเท่าในปัจจุบันนี้ หากเกิดเชื้อโรคระบาดขึ้นมา บอกเลยนะคะว่าแต่ละครั้งนั้นจึงรุนแรง และมีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงมากๆตามมานั่นเองค่ะ บางครั้งก็ถึงหลักล้านเลยทีเดียวนะคะ บทความนี้จะพาไป รู้จักกับ 10 อันดับเหตุการณ์การแพร่ของโรคระบาด ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติกันค่ะ จะมีการระบาดของโรคอะไรบ้างนั้น ตามมาดูพร้อมกันเลยค่ะ

 

10 อันดับโรคระบาด ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

 

 

 

 1. โรคระบาด อันโทนีน Antonine Plague ค.ศ.165

 

โรคระบาดอันโทนีน หรืออีกชื่อหนึ่งว่า the Plague of Galen เป็นโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษที่ระบาดในอาณาจักรโรมัน สาเหตุการเกิดนั้นเชื่อกันว่ามาจากกองทัพโรมันที่เดินทางกลับมาจากแถบตะวันออกใกล้ (Near East หมายถึงประเทศแถบเอเชียตะวันตก ตุรกี อียิปต์ ไปจนถึงจักรวรรดิออตโตมัน) ทั้งนี้ยังไม่ทราบต้นตอการเกิดที่แน่ชัด เหตุการณ์ในครั้งนี้สร้างความเสียหายใหญ่หลวงแก่กรุงโรมมาก มีผู้เสียชีวิตถึงวันละ 2,000 คน ประมาณยอดผู้เสียชีวิตรวมทั้งหมดประมาณ 5 ล้านคน การแพร่ระบาดในครั้งนี้ยังส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงถึงเรื่องของเส้นทางการค้าขาย Indo-Raman Trade ในแถบมหาสมุทรอินเดียด้วยนะคะ

 

2. กาฬโรค The Black Death ค.ศ.1346-1353

 

หนึ่งในเหตุการณ์โรคระบาดที่ร้ายแรง และโด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ประเมินจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดถึง 75-200 ล้านคน นับเป็นถึง 1 ใน 3 ของประชากรโลกทั้งหมดเลยทีเดียว มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย เยอซิเนีย แพสทิซ (Yersinia pestis) ซึ่งแพร่ระบาดอยู่ในสัตว์จำพวกหนูในแถบตอนกลางของเอเชีย โดยจุดเริ่มต้นนั้นเชื่อว่ามาจากขบวนคาราวานที่เดินทางมาจากเอเชีย เข้ามาถึงยังท่าเรือซิซิลี ในอิตาลีประมาณปี 1347 ก่อนที่จะแพร่ต่อไปทั่วทั้งทวีปยุโรป ว่ากันว่าซากศพของคนที่ตายนั้นทับถมกันจนสูงเป็นเนิน ทำให้ไม่สามารถเผาทำลายได้อย่างทันท่วงที เมื่อซากเริ่มเน่าสลายก็ก่อให้เกิดเชื้อโรคกระจายลงทั้งพื้นดิน และแหล่งน้ำต่อไปไม่จบไม่สิ้น โดยผู้ป่วยที่ติดโรคนี้จะมีหลายอาการ ขึ้นอยู่กับสถานที่ และช่วงเวลาที่พบ โดยมีลักษณะร่วมคือผู้ป่วยจะมีฝีมะม่วงขึ้นบริเวณข้อพับ ขาหนีบ คอ รักแร้ มีไข้สูง อาเจียนเป็นเลือด และเสียชีวิตภายในเวลา 2-7 วันกันเลยนะคะ ส่วนคำเรียก Black Death นั้นมีความหมาย 2 อย่าง นั่นคืออาการขั้นสุดท้ายของผู้ป่วยจากกาฬโรคนั้น ร่างกายจะกลายเป็นสีดำเพราะมีเลือดออกใต้ผิวหนังชั้นหนังกำพร้า และอีกความหมายนั้นสื่อถึงความน่าสะพรึงกลัวของโรคร้ายนี้ และอารมณ์เศร้าหมองของผู้คนในยุคสมัยนั้นอีกด้วยค่ะ

 

3. The Columbian Exchange ค.ศ.1492

 

นับตั้งแต่กองเรือสเปนเข้ามามีอำนาจในแถบน่านน้ำทะเลแคริบเบียน โรคติดต่อจากยุโรปก็เดินทางเข้ามาถึงบริเวณหมู่เกาะทางใต้ของเม็กซิโกเช่นกัน ทั้งฝีดาษ หัด กาฬโรค ซึ่งก็คร่าชีวิตของผู้คนในแถบนี้ไปถึง 90% ยกตัวอย่าง เช่น
• เกาะ Hispaniola แต่เดิมมีจำนวนประชากรประมาณ 60,000 คน แต่จากการมาถึงของนักเดินเรือ Christopher Columbus ในปี 1548 จำนวนชาวเกาะนั้นลดลงเหลือเพียง 500 คน
• ปี 1520 อาณาจักร Aztec ต้องล่มสลายลง จากการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษที่เข้ามากับทาสชาวแอฟฟริกัน

 

4. The Great Plague of London ค.ศ.1665

 

 

อีกหนึ่งโรคระบาดครั้งร้ายแรงของอังกฤษ นับตั้งแต่เหตุการณ์ Black Death ในปี 1348 โดยเชื่อกันว่าสาเหตุหลักมาจากหนู รวมไปถึงความสกปรกในย่านที่อยู่อาศัยที่ดึงดูดพวกหนูเข้ามา ประชากรในกรุงลอนดอนกว่า 20% เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัข และแมวก็ถูกกำจัดทิ้งเพราะเชื่อว่าเป็นสาเหตุของการแพร่เชื้อด้วย แต่นั่นยิ่งทำให้ประชากรหนูแพร่จำนวนมากขึ้นกว่าเดิม

 

5. อหิวาตกโรค First Cholera Pandemic  ค.ศ.1817

 

การอุบัติขึ้นครั้งแรกของเชื้ออหิวาตกโรค เกิดขึ้นในรัสเซีย มีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 1 ล้านคน เชื้อแพร่กระจายผ่านทางน้ำ และอาหาร ติดไปกับทหารชาวอังกฤษที่นำเชื้อโรคไปแพร่ต่อยังประเทศอินเดีย มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีกล้านคน จากนั้นเชื้อก็แพร่ไปถึงอังกฤษ จากกองเรืออังกฤษไปสู่สเปน แอฟริกา อินโดนีเซีย จีน ญี่ปุ่น อิตาลี เยอรมนี และอเมริกา กระทั่งการแพทย์สามารถผลิตวัคซีนขึ้นมาเป็นผลสำเร็จในปี 1885 แต่การแพร่ระบาดของเชื้อนี้ก็ยังคงดำเนินต่อไป

 

6. การแพร่ระบาดของกาฬโรค ครั้งที่ 3 The Third Plague Pandemic ค.ศ.1855

 

เริ่มต้นขึ้นที่ประเทศจีน ก่อนที่จะลามไปยังอินเดีย และฮ่องกง ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปถึง 15 ล้านคน ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 3 ของโลกที่มีการระบาดของเชื้อกาฬโรค (ครั้งที่ 1 ช่วงปี 541-542 ช่วงอาณาจักรไบแซนไทน์ และครั้งที่ 2 คือ Black Death ในปี 1348) ครั้งนี้เชื้อโรคแพร่โดยมีหนู และตัวหมัดเป็นพาหะ

 

7. ไข้หวัดใหญ่รัสเซีย Russian Flu ค.ศ.1889

 

เหตุการณ์ไข้หวัดใหญ่ระบาดครั้งแรกของประเทศรัสเซีย ซึ่งเชื้อแพร่มาจากแถบไซบีเรีย และคาซัคสถาน เข้าถึงเมืองใหญ่อย่างมอสโคว์ ฟินแลนด์ และโปแลนด์ และสุดท้ายก็ไปถึงส่วนต่างๆ ในแถบยุโรป ภายในเวลา 1 ปี เชื้อก็ข้ามน้ำข้ามทะเลไปจนถึงทวีปอเมริกาเหนือ และแอฟริกาในที่สุด กระทั่งสุดท้ายในปี 1890 มีจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 360,000 คน

 

8. ไข้หวัดใหญ่สเปน Spanish Flu ค.ศ.1918

 

 

เชื้อไข้หวัดใหญ่ที่มีต้นตอมาจากสัตว์ปีก มีจำนวนผู้เสียชีวิตรวมทั่วโลกถึง 50 ล้านคน นับเป็นโรคติดต่อที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากที่สุดนับแต่เหตุการณ์ Black Death โดยทฤษฎีแรกการกำเนิดของไข้หวัดใหญ่ชนิดนี้ คาดว่าเชื้อไวรัสน่าจะติดมากับกลุ่มแรงงานชาวจีน แล้วไปกลายพันธุ์ที่อเมริกา แต่สุดท้ายสถานที่ที่เกิดการระบาดร้ายแรงที่สุด เริ่มตันที่กรุงแมดริด ประเทศสเปน ทำให้ถูกเรียกว่า “ไข้หวัดสเปน” นั่นเองค่ะ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะมีไข้ จาม คลื่นไส้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และท้องเสีย ซึ่งเป็นอาการแรกเริ่มของไข้หวัดใหญ่ทั่วไป แต่หลังจากนั้นช่วงปี 1918 เชื้อก็กลายพันธุ์ และมีความร้ายแรงกว่าเก่า การระบาดของไข้หวัดสเปนนี้ กินอาณาเขตทั้งในอเมริกา และยุโรป ภายในเวลาสามปีมียอดผู้เสียชีวิตถึง 100 ล้านคน มากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1 หลายเท่า และสุดท้ายการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนก็ค่อยๆ ลดลง และหายไปอย่างลึกลับช่วงปี 1919

 

9. ไข้หวัดใหญ่เอเชีย Asian flu ค.ศ.1957

 

 

ไข้หวัดใหญ่เอเชียนี้ยังคงเป็นเชื้อสายพันธุ์เดียวกันกับไข้หวัดสเปน นั่นคือ ไข้หวัดนก นั่นเอง มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกประมาณ 1-4 ล้านคน โดยเริ่มการระบาดในฮ่องกง ก่อนจะแพร่กระจายสู่จีน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ซึ่งนับเป็นความโชคดีที่วัคซีนไข้หวัดนกนั้นสามารถผลิตขึ้นได้เป็นครั้งแรกในปีนั้นเอง จึงยับยั้งการแพร่กระจายโรคระบาดนี้ได้เป็นผลสำเร็จ

 

10. เชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola) ค.ศ. 1976

 

อีโบลา เป็นชื่อของแม่น้ำสายหนึ่งในประเทศสาธารณรัฐซาอีร์ (Zaire) ซึ่งปัจจุบันคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โดยพบว่ามีการระบาดของไข้เลือดออกชนิดหนึ่งในปี 1976 (โดยในขณะนั้นยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด) ในหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับแม่น้ำสายนี้ ซึ่งต่อมาถูกค้นพบว่าเกิดจากเชื้อไวรัส จึงตั้งชื่อว่า เชื้อไวรัสอีโบลา อาการของโรคอีโบลา จะเริ่มในสองวันถึงสามสัปดาห์หลังสัมผัสไวรัส โดยจะมีไข้ เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ และปวดศีรษะ จากนั้นมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนและท้องร่วงร่วมกับการทำหน้าที่ของตับ และไตลดลงตามมา เมื่อถึงจุดนี้บางคนเริ่มมีปัญหาเลือดออก เช่น เลือดออกภายใน และใต้หนังผ่านตาแดง อาเจียนเป็นเลือด ผู้ป่วยทุกรายมีอาการบางอย่างของระบบไหลเวียน รวมถึงเลือดจับลิ่มบกพร่อง โดยโรคนี้มีอัตราตายสูง ถึงระหว่าง 50% – 90% การระบาดครั้งใหญ่ที่สุด กินเวลาถึง 2 ปี (2014-2016) มีผู้ป่วยรวมกันถึง 28,646 คน เสียชีวิตถึง 11,323 คน