บทความนี้จะมานำเสนอความรู้เกี่ยวกับ “ไซบูทรามีน” สารร้าย สวยเสี่ยงตาย กันนะ คะ จากกรณีตรวจพบสาร ไซบูทรามีน ( Sibutramine ) ในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่างๆที่เป็นข่าวดังในบ้านเรา จึงอยากนำความรู้เกี่ยวกับอันตรายจากสารดังกล่าวมาทราบกันไว้ค่ะ

 

“ไซบูทรามีน” สารร้าย สวยเสี่ยงตาย(Sibutramine)

 

 

 

ด้วยตัวยานี้ “ไซบูทรามีน” (Sibutramine) จะออกฤทธิ์ที่ “สมอง”

– โดยยับยั้งการเก็บกลับของสารสื่อประสาทบางชนิด

– ทำให้ความอยากอาหารลดลงและอิ่มเร็วขึ้น

ยานี้ยังกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญของร่างกายได้ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้มี “น้ำหนักตัว” ลดลง จึงเคยถูกนำมาใช้เป็นยารักษา “โรคอ้วน” นำมาใช้เองในทางที่ผิดในผู้ที่อยากผอมนั่นเองค่ะ ซึ่งจะมีผลข้างเคียงที่พบ เช่น ปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น

การใช้ตัวยานี้ทำให้เสี่ยงต่อการมีเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญลดลง เช่น หัวใจ สมอง จนอาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือด และสมองขาดเลือดฉับพลัน ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้เลยนะคะ

 

 

และด้วยเหตุผลเหล่านี่เองค่ะที่เป็นสาเหตุให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการยกเลิกใช้ “ไซบูทรามีน” (Sibutramine) ในตำรับยา มาตั้งแต่ปี 2553 เพราะมีรายงานถึงผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงถึงแก่ชีวิต และประกาศให้เป็นสารที่อยู่ในการควบคุมพิเศษ จัดเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ประเภท 1 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559

 

ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับ “ไซบูทรามีน” (Sibutramine)

 

 

ชื่อการค้า : Reductil
ข้อมูลทั่วไป : สูตรโมเลกุล C17H26ClN
มวลโมเลกุล : 279.852 g/mol
CAS Number : 106650-56-0
ลักษณะกายภาพ : ของแข็ง (solid)
จุดหลอมเหลว : 191-192 °C

ฤทธิ์เภสัชวิทยา

ยับยั้งการดูดเก็บกลับของสารสื่อประสาทบางประเภท เช่น Serotonin, Norepinephrine ทำให้สารเหล่านี้ทำงานนานขึ้น ส่งผลให้ความอยากอาหารลดลงและอิ่มเร็วขึ้น ทั้งกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญของร่างกายด้วย

ข้อบ่งใช้

ใช้ควบคุมน้ำหนักร่วมกับโปรแกรมควบคุมน้ำหนักในผู้ที่มีมีดรรชนีมวลกายตั้งแต่ 30 kg/m2 หรือผู้ที่มีมีดรรชนีมวลกายตั้งแต่ 27 kg/m2 แต่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง และความดัน โลหิตสูงที่ควบคุมได้ โดยแนะนำให้ใช้ในขนาด 10-15 มิลลิกรัมต่อวัน

การใช้ยาในทางที่ผิด

ลักลอบใส่ไซบูทรามีน (Sibutramine) ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยส่วนมากพบในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาอวดอ้างลดน้ำหนัก

การควบคุมทางกฎหมาย

ประเทศไทยจัดไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด

 

รู้จัก “สารอันตราย” ที่มักพบในอาหารเสริม-ยาชุดลดน้ำหนัก

 

 

– ไซบูทรามีน (sibutramine) ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ลดความอยากอาหาร อิ่มเร็วขึ้น เสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง ถูกถอนออกจากตลาดไปแล้ว

– เฟนเทอร์มีน (phentermine) ทำให้เบื่ออาหาร มีผลให้ความดันโลหิตและชีพจรสูงขึ้น

– ฟูโรซีไมด์ (furosemide) เป็นยาขับปัสสาวะ ทำให้อ่อนเพลีย เข้าใจผิดว่าน้ำหนักลด ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่

– บิซาโคดิล (bisacodyl) เป็นยาระบาย กระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่บีบตัว ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่

 

 

 

ที่มา : สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), กองควบคุมวัตถุเสพติด, หน่วยคลังข้อมูลยาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, พญ.ประพิมพ์พร ฉัตรานุกูลชัยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล, สภาองค์กรของผู้บริโภค, สสส.