บทความนี้จะมานำเสนอความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ ฮีทสโตรก (Heat Stroke) กันนะคะ โดยเฉพาะ ฮีทสโตรก (Heat Stroke) ในเด็ก พร้อมทั้งการสังเกตอาการและการป้องกันเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติเมื่อต้องพบเจอกับภาวะ ฮีทสโตรก (Heat Stroke) นี้กันนะคะ
ฮีทสโตรก (Heat Stroke) คือ ภาวะที่ร่างกายของคนเราต้องอยู่ในสถานที่อากาศร้อนจัด หรืออยู่ในสภาพอากาศร้อนชื้นเป็นเวลายาวนานต่อเนื่อง ทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นรวดเร็ว เกิน 40 องศาเซลเซียส
ฮีทสโตรกในเด็ก
เด็กๆ จะมีอาการ คือ ผิวหนังแดง เเห้ง ร้อน กระหายน้ำมาก ปัสสาวะน้อยสีเข้ม ปวดศีรษะ วิงเวียน อาเจียน อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ สับสน ตอบสนองช้า จนอาจถึงขั้นชักกระตุก เกร็ง และหมดสติ
ฮีทสโตรก (Heat Stroke) มี 2 ประเภท
1. ฮีทสโตรกหรือโรคลมแดด ที่เกิดจากการออกกำลังกายอย่างหนัก ในสภาพอากาศร้อน โดยมักพบในกลุ่มเด็กที่เป็นนักกีฬา หรือ เล่นกีฬากลางแจ้ง รวมไปถึงเด็กที่ทำกิจกรรมกลางแจ้งที่ต้องอยู่ในอุณหภูมิสูงจากแดดต่อเนื่องเวลานาน
2. ฮีทสโตรกหรือโรคลมแดด ที่ไม่ได้เกิดจากการออกกำลัง เกิดจากการอยู่ในสภาพอากาศร้อนชื้นเป็นเวลานาน เช่น ทำกิจกรรมผจญภัยในธรรมชาติแบบกลางแจ้ง เช่น ปีนเขา ปีนผา หรืออยู่ในสถานที่ร้อน และแออัดไม่มีอากาศถ่ายเท
ป้องกันเด็กจากอาการฮีทโตรก ได้ด้วยการ
– ให้เด็กดื่มน้ำบ่อยๆ
– ใส่เสื้อผ้าสีอ่อน บางโปร่งสบาย ไม่รัดแน่น
– หลีกเลี่ยงกิจกรรมช่วงแดดร้อนจัด
– ทาครีมกันแดด สวมหมวก แว่นกันแดด กางร่ม
– และไม่ทิ้งเด็กไว้ในรถที่จอดกลางแจ้ง
โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heat Stroke)
คือ ภาวะที่เกิดจากการที่ร่างกายของคนเราต้องไปอยู่ในสถานที่ที่อากาศร้อนจัดมากๆ ในระยะเวลาที่ยาวนานต่อเนื่อง จนอุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิน 40 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมความร้อนภายในร่างกายได้ จนมีอาการฮีทสโตรกตามมาในที่สุด ซึ่งหากเกิดขึ้นแล้วผู้ป่วยไม่ได้รับการปฐมพยาบาล ช่วยเหลือในทันที จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ เเละหลอดเลือด ระบบประสาท รวมถึงอวัยวะอื่น ทำให้ระบบการทำงานของอวัยวะเหล่านั้นล้มเหลว ถึงขั้นเสียชีวิตได้
อาการที่ต้องสังเกตว่าเด็กอาจเกิดฮีทสโตรก
• มีอุณหภูมิเเกนกลางร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส
• ผิวหนังแดง เเห้ง เเละร้อน แต่ไม่มีเหงื่อออก
• กระหายน้ำมาก ปัสสาวะออกน้อยมีสีเข้ม
• ปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย
• หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่
• อาการทางสมอง เช่น สับสน ตอบสนองช้า อาจถึงขั้น ชักกระตุก เกร็ง และหมดสติ
การดูแลปฐมพยาบาล หากพบเด็กเป็นฮีทสโตรก
– ให้รีบนำตัวเด็กเข้าไปในพื้นที่ร่ม หรือ พาไปอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีผู้คนหนาแน่น
– จับเด็กให้นอนหงายในท่าราบ จับยกเท้าสูงขึ้นกว่าระดับศีรษะประมาณ 15 – 20 องศา (หากเด็กมีอาการอาเจียนต้องให้อยู่ในท่านอนตะแคงก่อน จนกว่าจะหยุดอาเจียน)
– ปลดกระดุมเสื้อและกางเกงให้หลวม ผ่อนคลาย ไม่รัดแน่น เพื่อช่วยระบายอากาศและความร้อน
– หากเด็กยังมีสติอยู่ ให้เด็กจิบน้ำเรื่อย ๆ ช้า ๆ
– ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว และใช้น้ำเเข็งประคบบริเวณ ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายไม่ให้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส (ควรให้อุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 38 – 38.5 องศาเซลเซียส) ร่วมกับเปิดพัดลมเป่า พ่นละอองน้ำ เพื่อช่วยระบายความร้อน
– ตรวจเช็กระดับออกซิเจนในเลือด ต้องให้ค่าสูงกว่า 94%
– ใช้ยาดมหรือแอมโมเนีย จะช่วยให้เด็กคลายอาการวิงเวียน หน้ามืดเป็นลมได้
– รีบนำเด็กส่งโรงพยาบาลทันที
ปัจจัยที่ทำให้เด็กเป็นฮีทสโตรก
– ในช่วงอากาศร้อนจัดเช่นนี้ เด็กเล็กที่อยู่ในสถานที่ที่แดดร้อนจัดต่อเนื่องจะมีความเสี่ยงสูง เพราะเป็นวัยที่ดื่มน้ำไม่เยอะ อาจไม่มีน้ำเป็นตัวช่วยลดอุณหภูมิร่างกาย
– เด็กที่ทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายหนัก ใช้กำลังมากในกลางแจ้งเป็นเวลานานต่อเนื่อง โดยหากรู้สึกว่าเหนื่อยให้หยุดพักและดื่มน้ำเพื่อทดแทนเหงื่อที่สูญเสียไป เป็นการควบคุมและปรับลดอุณหภูมิให้กับร่างกาย
– เด็กที่มีประวัติเคยเป็นโรคลมแดด หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคอ้วน
ไม่อยากให้เด็กเป็นฮีทสโตรกต้องป้องกันอย่างไร
– ให้เด็กดื่มน้ำบ่อยๆ ทุกชั่วโมง ให้เพียงพอต่อวัน อย่างน้อย 6 – 8 แก้ว โดยเฉพาะก่อนออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านให้ดื่มน้ำเพิ่ม 1 – 2 แก้ว
– ช่วงอากาศร้อนจัด ให้เด็กใส่เสื้อผ้าสีอ่อน บางโปร่งสบาย ไม่รัดแน่น ระบายอากาศได้ดี อาจพกผ้าเย็นติดตัวไว้เพื่อเช็ดช่วยลดอุณหภูมิ
– หลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กทำกิจกรรมในช่วงที่มีแดดร้อนจัด หรืออยู่ในที่ร้อนอบอ้าวต่อเนื่องยาวนาน หรือเลือกที่จะให้เด็กทำกิจกรรมช่วงเย็น หรือสถานที่ที่อากาศไม่ร้อนจนเกินไป หรือเลือกสถานที่มีเครื่องปรับอากาศ
– หากจำเป็นต้องพาเด็กออกไปนอกบ้าน ให้ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15+ ขึ้นไป สวมหมวก แว่นกันแดด หรือ ใช้ร่มเมื่ออยู่กลางเเจ้ง
– ไม่จอดรถและทิ้งเด็กไว้กลางแจ้ง เพราะความร้อนภายในรถและก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ ส่งผลต่อระบบประสาทของเด็ก ความร้อนจากแดดทำให้อุณหภูมิในรถสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพียงเเค่ 30 นาที สามารถเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้
– หากวางแผนพาเด็กออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านหรือกลางแจ้ง ควรเตรียมตัวก่อน โดยอย่าให้ร่างกายเด็กอ่อนเพลีย
ป้องกันเด็กจากอาการฮีทโตรกที่อาจเกิดขึ้นในรถ
การปล่อยให้เด็กนั่งคอยในรถยนต์เพียงลำพัง โดยเฉพาะรถที่จอดกลางแจ้ง อาจทำให้เกิดอันตรายกับเด็ก เพราะความร้อนจากแดดทำให้อุณหภูมิในรถสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพียงเเค่ 30 นาที สามารถเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้
– ไม่ทิ้งเด็กไว้ในรถโดยลำพัง โดยที่ไม่มีคนดูแล
– การเปิดเเง้มหน้าต่างรถ ไม่ใช่วิธีป้องกันที่ถูกต้อง เพราะในความเป็นจริงเเล้วสาเหตุหลักในการเสียชีวิตกรณีมีเด็กอยู่ในรถ มีสาเหตุจากความร้อนที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่เกิดจากภาวะขาดอากาศหายใจ
– ตรวจสอบนับสมาชิกบนรถทุกครั้งว่าไม่มีใครหลงเหลืออยู่ในรถ ก่อนปิดประตู
– พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเก็บกุญแจรถให้พ้นมือเด็ก
สิ่งสำคัญที่สุดเมื่อพบเจอเด็ก หรือคนที่เป็นฮีทสโตรกนั้น คือให้รีบติดต่อโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดก่อนอันดับแรกเลยนะคะ หรือ โทรสายด่วน 1669 เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ให้รีบเข้ามาดูแลทันที โดยระหว่างรอเจ้าหน้าที่สามารถให้การปฐมพยาบาลช่วยเหลือเบื้องต้นตามที่เสนอไว้ด้านบนก่อนได้เลยค่ะ หน้าร้อนนี้ขอให้ทุกคนดูแลตัวเองและลูกหลานกันดีๆด้วยนะคะ
ที่มา : โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช