โฉนดที่ดิน คือหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งออกให้ตามประมวลกฎหมายที่ดินปัจจุบัน นอกจากนี้ยังรวมถึงโฉนดแผนที่ โฉนดตราจอง และตราจองที่ว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” ซึ่งออกให้ตามกฎหมายเก่า แต่ก็ถือว่ามีกรรมสิทธิ์เช่นกัน
ครุฑแต่ละสีบนโฉนดที่ดิน ต่างกันอย่างไร
ก่อนจะทำการซื้อขายที่ดินนั้น ต้องมีความรู้และดูเอกสารให้แน่ใจเสียก่อนนะคะ ดังนั้นบทความนี้ จะมาสรุปให้เข้าใจง่ายเกี่ยวกับ ครุฑแต่ละสีบนโฉนดที่ดินค่ะ พร้อมแล้วไปดูกันเลยค่ะ
ความหมายของครุฑแดงบนโฉนดที่ดิน
– คือโฉนดที่ดินทั่วไปที่ทุกคนส่วนใหญ่มีครอบครองกัน (น.ส.4)
– ผู้ถือครอง มีกรรมสิทธิ์ 100% ซื้อ-ขายได้
– มีระวางรูปถ่ายทางอากาศ รู้ตำแหน่ง เนื้อที่ ขอบเขตชัดเจน
– ส่วนใหญ่โฉนดในตัวเมืองเกือบทั้งหมดจะเป็นครุฑแดง
– โฉนดบางฉบับเรียกว่า โฉนดหลังแดง จะเป็นเอกสาร นส.4 ระบุด้านหลังว่า ห้ามโอนภายใน 5-10 ปี
สิ่งที่ควรระวัง หมดสิทธิ์ครอบครอง เมื่อผู้อื่นครอบครองอย่างเปิดเผยติดต่อกัน 10 ปี
ความหมายของครุฑเขียวบนโฉนดที่ดิน
– เป็นเอกสาร ไม่ใช่โฉนดที่ดิน และไม่ใช่กรรมสิทธิ์ (น.ส.3ก.)
– เป็นหนังสือคำรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าเราได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นๆ
– มีระวางรูปถ่ายทางอากาศ รู้ตำแหน่ง เนื้อที ขอบเขตชัดเจน
– คุณสมบัติใกล้เคียงกับโฉนด ซื้อ-ขาย จำนองธนาคารได้ และสามารถไปยื่นเรื่องเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินได้ในอนาคต (ครุฑแดง)
สิ่งที่ควรระวัง หมดสิทธิ์ครอบครอง เมื่อผู้อื่นครอบครองอย่างเปิดเผยติดต่อกัน 1 ปี
ความหมายของครุฑดำบนโฉนดที่ดิน
– เป็นหนังสือรับรองจะแสดงถึงสิทธิ์การครอบครองของเจ้าของ แต่ยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ (น.ส./น.ส.3ข.)
– ไม่มีระวางรูปถ่ายทางอากาศที่แน่ชัด
– ซื้อขายต้องรอประกาศจากราชการ 30 วัน
โฉนดที่ดินในประเทศไทยมีหลายประเภท ทั้งที่สามารถซื้อขายได้ และซื้อขายไม่ได้ มีทั้งแบบโอนกรรมสิทธิ์ได้ และเป็นเพียงหนังสือแสดงสิทธิ์การทำกิน หรือทำประโยชน์ในที่นั้นซึ่งไม่ใช่กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น โดยสามารถแบ่งเอกสารสิทธิ์ออกเป็นดังต่อไปนี้
1. หนังสือแสดงสิทธิ์ที่ดิน มี 4 แบบได้แก่
1.1 โฉนดที่ดิน หรือ น.ส.4 เป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โฉนดที่ดินสามารถใช้แสดงความเป็นเจ้าของที่ดินนั้น สามารถขายหรือโอน จำนอง ค้ำประกัน โดยหากทำการซื้อขาย จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น มิฉะนั้นจะถือเป็นโมฆะ มี 6 แบบ ได้แก่ น.ส.4, น.ส.4 ก, น.ส.4 ข, น.ส.4 ค, น.ส.4 ง และน.ส.4 จ โดย น.ส.4 จ เป็นโฉนดที่ออกให้ในปัจจุบัน แบบอื่นยกเลิกใช้หมดแล้ว
1.2 ใบจอง หรือ น.ส.2 หนังสือแสดงการยอมให้เข้าครอบครองที่ดินชั่วคราว เป็นหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดินที่ทางราชการออกให้เพื่อนำไปทำประโยชน์ชั่วคราว หากผู้ที่เข้าครอบครองทำประโยชน์ไม่ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ทางราชการก็จะให้ผู้นั้นหมดสิทธิในที่ดิน และมอบสิทธิที่ดินนี้ให้แก่ผู้อื่นแทน ซึ่งใบจอง หรือ น.ส. 2 จะนำไปขาย โอน จำนองไม่ได้ เว้นแต่การโอนทางมรดกตกทอดแก่ทายาทเท่านั้น
1.3 หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือ น.ส. 3 หนังสือคำรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ว่าได้ทำประโยชน์ในที่ดินแล้วมีเพียงสิทธิ์ครอบครอง ไม่มีกรรมสิทธิ์ แต่เจ้าของสามารถซื้อขาย โอน จำนองได้ มี 3 แบบ ได้แก่ น.ส.3 , น.ส.3ก, แบบหมายเลข 3 (ปัจจุบันไม่มีการออกแล้ว)
– น.ส.3 – เป็นแผนที่รูปลอย ยึดโยงจากต้นไม้หรือวัตถุที่พอจะหาได้บริเวณนั้น มีตำแหน่งไม่แน่นอน หากจะเปลี่ยนจาก น.ส.3 เป็น โฉนด สามารถทำได้โดยไปที่ สนง.ที่ดิน ในจังหวัดนั้นๆ เพื่อให้พนักงานมารังวัด และติดประกาศ 30 วัน เผื่อมีคนคัดค้านหากไม่มี สามารถออกโฉนดได้
– น.ส.3 ก – ต้องเป็นพื้นที่ ที่มีการทำระวางรูปถ่ายทางอากาศแล้วเท่านั้น แผนที่จะยึดโยงกับรางวาง มีตำแหน่งแน่นอน สามารถขอออกโฉนดได้ทันที
1.4 ใบไต่สวน หรือ น.ส.5 หนังสือแสดงการสอบสวนเพื่อออกโฉนดที่ดิน หนังสือแสดงสิทธิ์ที่ดินและให้จดทะเบียนสิทธิ์และนิติกรรมในใบไต่สวนได้
2. เอกสารสิทธิ์ที่ราชการออกให้ ได้แก่
2.1 ภ.บ.ท. 5 เป็นที่ดินมือเปล่า ไม่มีเอกสารสิทธิใดๆทั้งสิ้น ภ.บ.ท.5 เป็นแบบยื่นภาษีบำรุงท้องที่ ไม่ใช่เอกสารแสดงสิทธิครอบครองที่ดิน เพราะเจ้าของที่ดินเป็นของรัฐ เพียงแต่อาจให้มีการใช้ประโยชน์ชั่วคราว เหมือนการเช่าที่ของรัฐแล้วจ่ายเงินค่าเช่ารายปีให้ โดยเจ้าของก็คือรัฐนั่นเอง
2.2 น.ค. 3 เป็นหนังสือแสดงการทำประโยชน์ ออกโดยนิคมสร้างตนเอง จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ
2.3 ส.ท.ก. เป็นหนังสือสิทธิทำกินในเขตป่าไม้ ซึ่งทางกรมป่าไม้เป็นผู้ออกให้
2.4 ส.ป.ก เป็นสิทธิในการทำเกษตรกรรม รวมตลอดจนถึงการจัดที่อยู่อาศัยในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้น ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นแค่เป็นสิทธิ์ครอบครองที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ทำเกษตรกรรม จึงซื้อขายโอนไม่ได้ นอกจากตกทอดแก่ทายาทใช้ทำเกษตรกรรมต่อไป
3. เอกสารสิทธิ์ประเภทที่ราษฎรทำขึ้นเอง หรือ ส.ค.1 (แล้วไปแจ้งต่อทางราชการ)
3.1 ส.ค.1 แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ผู้ที่ครอบครอง และทำประโยชน์อยู่ในที่ดินก่อน 1 ธ.ค.2497 ไปแจ้งการครอบครองต่อนายอำเภอท้องที่ภายใน 180 วัน เพื่อสิทธิครอบครอง ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ในที่ดินโอนไม่ได้ ส่วนมากเป็นแถวบ้านนอก ซื้อขายได้ ส่งมอบได้ แต่ไม่สามารถโอนได้