ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกมาตรการให้ธนาคารทั่วประเทศ ป้องกันประชาชนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพหลอกโอนเงิน
ทุกวันนี้ผู้คนตกอยู่ในภาวะที่ใช้ชีวิตยากลำบากขึ้นกว่าเดิมมากเลยนะคะ ทั้งการใช้ชีวิต ทั้งมลภาวะต่างๆ ไหนจะต้องคอยระแวดระวังกับพวกมิจฉาชีพอีกมากมายหลายรูปแบบ โดยเฉพาะช่วงนี้ กระแสข่าวการหลอกโอนเงินด้วยวิธีต่างๆ ของมิจฉาชีพ ที่เรียกติดปากว่า “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ก็เป็นอีกหนึ่งภัยร้ายคุกคามที่อันตราย และมีคนตกเป็นเหยื่อมาแล้วหลายรายเลยนะคะ ซึ่งปัญหาตรงนี้ ทางธนาคารแห่งประเทศก็ได้มีการออกมาตรการก่รป้องกันไปบ้างแล้ว
โดยล่าสุด ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีการประกาศมาตรการชุดใหญ่ เพื่อให้ทุกธนาคารนำไปบังคับใช้ อย่างเป็นทางการแล้วนะคะ มีรายละเอียดดังนี้ค่ะ
1. ป้องกันประชาชนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพหลอกโอนเงิน
– ห้ามแนบลิงก์ผ่าน SMS และอีเมล เพื่อขอข้อมูลสำคัญ
– จำกัดจำนวน mobile banking ได้แค่ 1 เครื่อง
– ยกระดับการยืนยันตัวตนขั้นต่ำเป็น biometrics กรณีที่เปิดบัญชีผ่านแอป หรือทำธุรกรรมมากกว่าขั้นต่ำที่กำหนด เช่น เกิน 50,000 บาทต่อวัน หรือการปรับวงเงินขั้นต่ำเพิ่มมากกว่า 50,000 บาท
2. มาตรการตรวจจับและติดตามบัญชีต้องสงสัย
– รายงาน ปปง. เมื่อพบความผิดปกติหรือพบการกระทำความผิด
– มีมาตรการตรวจจับ/ติดตามธุรกรรมที่เข้าข่ายผิดปกติตตลอด 24 ชม.
3. มาตรการตอบสนองและรับมือ
– มีช่องทางติดต่อ 24 ชม. แยกจากช่องทางปกติ
– สนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสอบสวน รวมถึงมีผู้รับผิดชอบการประสานงานที่ชัดเจน
– ดูแลและรับผิดชอบ กรณีที่พบว่าความเสียหายเกิดจากความผิดพลาดของธนาคาร
ต่อให้จะมีมาตรการกันป้องกันจากธนาคารออกมาช่วยมากมาย แต่ยังไงตัวเราเองต้องมีสติ ไม่ประมาท และไม่โลภด้วยนะคะ จะได้รอดพ้นจากเหล่ามิจฉาชีพพวกนี้ได้ค่ะ เรามาลองดู วิธีป้องกันพวก Calll Center กันค่ะ
วิธีป้องกัน Call Center มหาภัย รู้ทันมิจฉาชีพจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ
การหลอกลวงของ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” เกิดขึ้นบ่อยในสังคมขณะนี้เลยนะคะ โดยมักจะใช้วิธีการอ้างว่าเป็น Call center บริษัทขนส่งต่างๆ หลอกให้เหยื่อหลงกลและโอนเงินหรือดูดเงินออกไปจากบัญชี ซึ่งมีผู้เสียหายหลายรายเลยค่ะ มาดูวิธีป้องกันไปพร้อมกันเลยดีกว่าค่ะ
1. ต้องมีสติ ไม่หลงเชื่อ
มิจฉาชีพมักจะใช้ข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ-นามสกุลของเหยื่อ ในการสร้างความตื่นตระหนกและการเร่งเร้า ข่มขู่ให้รีบโอนเงิน ไม่เช่นนั้นจะแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินคดี ให้ตั้งสติ พิจารณาและตรวจสอบข้อมูลก่อนว่าในช่วงที่ผ่านมา มีการซื้อสินค้าหรือทำธุรกรรมหรือไม่ ก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อ
2. หากไม่แน่ใจ ควรวางสายการสนทนา
เมื่อไม่แน่ใจว่า ข้อมูลที่กล่าวอ้างจากมิจฉาชีพเป็นความจริงหรือไม่ ให้รีบวางสาย เพื่อตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง หรือ บุคคลใกล้ชิด
3. ติดต่อหน่วยงานที่ถูกอ้างถึง
หากปลายสาย (มิจฉาชีพ) อ้างถึงบริษัทขนส่ง ให้ติดต่อกับบริษัทโดยตรงสอบถามข้อมูลทันที เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นการหลอกลวงหรือไม่
4. กรณีข้อมูลรั่วไหล เช่น รหัสผ่าน ให้รีบเปลี่ยนรหัสผ่านทันที
เพราะการที่มิจฉาชีพได้ข้อมูลเหยื่อมานั้น อาจเกิดจากการสุ่มหาใน Social Media และทำการแฮกรหัสผ่านบัญชี จนได้ข้อมูลส่วนตัวไป จึงควรรีบเปลี่ยนรหัสผ่านให้คาดเดาได้ยาก
และนี้ก็คือ 4 ข้อง่าย ๆ สำหรับวิธีป้องกันการหลอกลวงจาก “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ที่ทุกคนก็ทำได้นะคะ
ที่มา – https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Press/2023/Pages/n1066.aspx