นับว่าเป็นข่าวที่น่ายินดีเป็นอย่างมากนะคะ สำหรับชาว LGBTQ+ เกี่ยวกับ สมรสเท่าเทียม ที่ตอนนี้สำหรับเมืองไทยผ่านแล้วนะคะ หลังการเดินทางอย่างยาวนาน ตอนนี้ประเทศไทยมี “ สมรสเท่าเทียม “ เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศที่ 3 ในเอเชีย กันเลยนะคะ ที่รับรองการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันให้ถูกต้องตามกฎหมายนั่นเองค่ะ

 

วันนี้ (18 มิถุนายน 2567) ร่างกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ หรือร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …  เข้าสู่การพิจารณาในชั้นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในวาระ 2 และ 3 โดยมีผู้ลงมติทั้งหมด 152 คน และได้ผลพิจารณาว่า มีผู้เห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง และงดออกเสียง 18 เสียง

 

 

หลังผลโหวตปรากฏขึ้น เครือข่ายภาคประชาชนที่มารวมตัวกันที่รัฐสภาต่างส่งเสียงเฮ คู่รัก LGBTQ+ โผเข้ากอดกันพร้อมซับน้ำตา แสดงความยินดีกับสิทธิที่เฝ้ารอมานาน
ประเด็นที่พิจารณา มีดังนี้

– สมรสเท่าเทียม เปลี่ยนจากชายหมั้นหญิงเป็นคู่หมั้นและผู้รับหมั้น เปลี่ยนจากอายุ 17 ปีเป็น 18 ปี

– สมรสเท่าเทียม เปลี่ยนจากชายและหญิงเป็นบุคคล เปลี่ยนจากสามีภริยาเป็นคู่สมรส เพื่อให้สิทธิ หน้าที่ และสวัสดิการ เทียบเท่ากับชายหญิง และเปลี่ยนอายุการสมรสจากอายุ 17 ปี เป็น 18 ปี

– สมรสเท่าเทียม รวมการแก้ไขเหตุแห่งการฟ้องหย่าให้ครอบคลุมและคุ้มครองถึงทุกเพศ

– สมรสเท่าเทียม ในกรณีหญิงสมรสหญิงที่หย่าจากกันแล้ว ไม่จำเป็นต้องรอ 310 วันเพื่อจดทะเบียนสมรสใหม่

– สมรสเท่าเทียมในมาตรา 67 กำหนดให้บรรดากฎหมายอื่นใดประกาศหรือมติคณะรัฐมนตรีอื่นใดที่มีคำว่าสามีภริยาหรือสามีหรือภริยาให้หมายถึงคู่สมรสที่จดทะเบียนตามการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในครั้งนี้

 

 

ในระหว่างการประชุม มี สว. ลุกขึ้นอภิปรายในหลากหลายประเด็นที่รู้สึกไม่เห็นด้วยหรือยังคงมีข้อกังวลอยู่ เช่น การใช้คำว่า ‘คู่สมรส’ ที่อาจทำให้เกิดความวุ่นวายในการแก้ไขกฎหมายในภายหลัง หรือกระทบต่อโครงสร้างสังคม หรือการตั้งคำถามต่อบางประเด็น เช่น ทำไมจะต้องขยับอายุผู้หมั้นได้ตามกฎหมาย ซึ่งก็ทำให้เกิดการโต้กลับไปมาระหว่าง สว. และกรรมาธิการที่พยายามชี้แจงความตั้งใจของการแก้ไขร่างกฎหมายนี้ ทั้งนี้ กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเริ่มบังคับใช้ภายใน 120 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือเร็วที่สุดภายในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2567 นี้ค่ะ

หลังจากนี้ ประเด็นที่จะถูกผลักดันจากผู้แทนราษฎร (สส.) และภาคประชาชน คือการผลักดันการรับรองเพศ หรือ ‘สิทธิเปลี่ยนคำนำหน้านาม’ เพื่อให้ครอบคลุมสิทธิที่เพศหลากหลายควรได้รับ ได้รับการยอมรับ และเกิดความเท่าเทียมระหว่างคนทุกเพศอย่างแท้จริงค่ะ ขอร่วมแสดงความยินดีกับคู่รักชาวไทย LGBTQ+ ทุกท่านด้วยนะคะ
 

 

 

 

 

ที่มา : The MATTER , Thai PBS