“รศ.สุทธิศักดิ์” ระบุแผ่นดินไหวขนาด 7.4 เกิดจาก “รอยเลื่อนสะกาย” ในแถบมัณฑะเลย์ คลื่นแผ่นดินไหวรับรู้ได้ตั้งแต่ภาคเหนือลงมาภาคกลาง รวมถึงพื้นที่ที่เป็นดินอ่อนของกรุงเทพฯ-ปริมณฑลกันเลยนะคะ
วันนี้ (28 มี.ค.2568) รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา สาขาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.4 แรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ในหลายจังหวัด รวมถึงกรุงเทพฯ ว่า เบื้องต้นคาดว่าเกิดแผ่นดินไหวที่แนวรอยเลื่อนสะกาย ซึ่งอยู่ในแถบมัณฑะเลย์ในเมียนมา ครั้งแรกมีรายงานแผ่นดินไหวขนาด 7.6 และมีรายงานถัดมาปรับขนาดเป็น 7.5 และ 7.4 ตามลำดับ โดยรอยเลื่อนนี้ถือเป็นรอยเลื่อนใหญ่ของเมียนมาและเคยเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงหลายครั้ง โดยรอยเลื่อนสะกายเคยทำให้เกิดแผ่นดินไหวสูงสุดขนาด 7-8 เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1912, 1930, 1940 รวมถึงในปี 1950 ซึ่งถือว่าเกิดบ่อยเกือบจะทุก 10-20 ปีกันเลยทีเดียวค่ะ
รศ.สุทธิศักดิ์ กล่าวอีกว่า หากดูตามแผนที่ จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ระนาบใกล้กับ จ.เชียงราย ซึ่งขนาด 7.5 – 7.6 ถือเป็นแผ่นดินไหวรุนแรงถึงแรงมาก คลื่นแผ่นดินไหวรับรู้ได้ตั้งแต่ภาคเหนือลงมาถึงภาคกลาง และเริ่มเข้าพื้นที่ที่เป็นดินอ่อนของกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพราะฉะนั้นตั้งแต่ จ.อ่างทอง ลงมา จ.พระนครศรีอยุธยาและกรุงเทพฯ ผู้ที่อยู่ในตึกสูงจะรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้มากขึ้น ส่วนประเด็นที่ควรระวังจากแผ่นดินขนาด 7.5-7.6 ถือว่ารุนแรง จะมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาได้ โดยอาฟเตอร์ช็อกอาจมีขนาดประมาณ 6.5-6.6 ซึ่งก็ถือเป็นขนาดที่รุนแรงและอาจยังรับรู้ได้ในพื้นที่ภาคเหนือ รวมถึงกรุงเทพฯ
ขณะที่ รศ.ภาสกร ปนานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งเกิดจากรอยเลื่อนสะกายปลดปล่อยพลังงานในรอบหลาย 10 ปีของเมียนมา คาดการณ์ว่าจะเกิดความเสียหายจำนวนมาก ซึ่งโดยปกติหากเกิดแผ่นดินไหวขนาดรุนแรง สามารถเกิดอาฟเตอร์ตามมาได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ครั้ง เนื่องจากเป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ยาว 1,000 กิโลเมตรนั่นเองค่ะ
สำหรับ รอยเลื่อนสะกาย (Sagaing Fault)
นับเป็นหนึ่งใน รอยเลื่อนที่มีพลัง (active fault) สำคัญอันดับต้นๆ ในแถบประเทศอาเซียน มิตรเอิร์ธ – mitrearth ระบุว่า รอยเลื่อนสะกายมีความยาวประมาณ 1,200 รอยเลื่อนสะกายกิโลเมตร วางตัวอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ ผ่ากลางอก ของประเทศเมียนมา และพาดผ่านแทบทุกเมืองสำคัญ เริ่มจากเมืองมิตจีนา (Myitkyina) มัณฑะเลย์ (Mandalay) ตองยี (Tounggyi) เนปิดอว์ (Naypyidaw) พะโค (Bago) ย่างกุ้ง (Yangon) และยังลากยาวต่อลงไปในทะเลอันดามัน จึงถูกขนานให้เป็น “ยักษ์หลับกลางเมืองเมียนมา
รอยเลื่อนสะกาย ยังถูกขนานนามว่าเป็น ทางด่วนรอยเลื่อนแผ่นดินไหว เนื่องจากมีศักยภาพที่จะส่งเสริมให้เกิดแผ่นดินไหวแบบแรงเฉือนสูง เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อความเร็วการแตกของแผ่นดินไหวเกิน ความเร็ว คลื่น S และอาจไปถึงความเร็วคลื่น P การแตกที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว สามารถสร้างความเสียหายมหาศาลได้ รูปทรงที่ค่อนข้างตรง ของรอยเลื่อนสะกาย ซึ่งเป็นรูปทรงยาวต่อเนื่อง รอยเลื่อนนี้ตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่ แผ่นดินไหวแบบแรงเฉือนสูงจึงอาจส่งผลกระทบร้ายแรง รอยเลื่อนสะกาย เคยก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่หลายครั้งในเมียนมา เช่น พ.ศ.2455 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.0 ใกล้เมืองมัณฑะเลย์ ส่งผลให้เจดีย์สำคัญพังทลายแรงสั่นสะเทือนครั้งนั้นสามารถรับรู้ได้ถึงภาคเหนือ และพื้นที่กรุงเทพฯ นอกจากนี้ ในปี พ.ศ.2473 ยังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.3 ที่เมืองพะโค ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คน จากข้อมูลระหว่าง พ.ศ.2516 – 2566 พบรายงานว่า รอยเลื่อนสะกาย ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 2.9-7.0 อย่างน้อย 668 ครั้ง