บทความนี้จะมานำเสนอความรู้เกี่ยวกับ ภาวะหัวใจหยุดเต้น “ภัยเงียบ” ที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้กันนะคะ รู้หรือไม่คะว่า ทุกๆ 1 ชั่วโมง คนไทย เสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันประมาณ 6 คน หรือเท่ากับเสียชีวิตมากถึง 54,000 คนต่อปีกันเลยนะคะ
ภาวะหัวใจหยุดเต้นถือเป็น “ภัยเงียบ” ที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้ โดยไม่จำกัดอายุและไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าอีกด้วยนะคะ
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า แต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันกว่า 54,000 คน หรือเฉลี่ยแล้วเท่ากับเสียชีวิตประมาณ 6 คน ทุกๆ 1 ชั่วโมง ในทางการแพทย์ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันถือเป็น “ภัยเงียบ” ที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่เว้นแม้แต่คนที่ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอก็ตามค่ะ ยกตัวอย่างเช่น นักกีฬาที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นในสนามแข่งขัน
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน : Sudden Cardiac Arrest
เป็นอาการที่เกิดจากการตายของกล้ามเนื้อหัวใจบางส่วน จากการที่ขาดเลือดที่ไปเลี้ยงยังกล้ามเนื้อหัวใจส่วนนั้นๆ หัวใจจึงทำงานผิดปกติ ไม่มีการบีบตัวส่งเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ หรือหยุดเต้นทันที ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็ทำให้เสียชีวิตได้ สาเหตุที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มักมาจากการอุดตัน หรือการตีบตันที่เกิดขึ้นกับหลอดเลือดหัวใจ จากการจับตัวของไขมันที่ผนังหลอดเลือดหัวใจ การเกาะผนังหลอดเลือดหัวใจของแคลเซี่ยม เกิดเป็นคราบที่เรียกว่า พลัค(Plaque)
ผนังหลอดเลือดหัวใจซึ่งปกติจะมีความยืดหยุ่นเปลี่ยนเป็นแข็ง หนา หลอดเลือดตีบแคบ เลือดไหลผ่านได้ไม่สะดวก กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดผู้ป่วยจะรู้สึกเหนื่อยง่ายเวลาออกแรงหรือขณะออกกำลังกายเพราะขาดออกซิเจน(angina pectoris) แน่นหน้าอก คล้ายถูกของหนักกดทับ อาจเจ็บร้าวไปถึงไหล่ แขนซ้าย ขากรรไกร หลัง บางรายก็อาจมีอาการเมื่อตกอยู่ในสภาวะเครียด อาการเจ็บหรือแน่นหน้าอกนี้จะทุเลาเมื่อหยุดพักหรือหายในไม่เกิน 15-30 นาที ซึ่งถ้าพบว่าตนเองมีอาการดังกล่าว ก็สมควรจะต้องปรึกษาแพทย์แล้ว ไม่ควรคิดนิ่งเฉยว่าไม่เป็นไร ทั้งนี้หากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจนเกิดความเสียหายมากไม่สามารถสูบเฉียดเลือดไปเลี้ยงสมองได้อย่างเพียงพอ ก็เกิดอาการคลื่นไส้ เหงื่อออก เวียนศีรษะ อาเจียน หน้ามืด หมดสติได้
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดก้อนไขมันหรือพลัคในหลอดเลือดหัวใจ การตีบตันของหลอดเลือด ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงไขมันในเลือดสูง และการสูบบุหรี่ พบในเพศชายที่อายุมากกว่า 45 ปี และเพศหญิง อายุมากกว่า 55 ปี
หากพบคนที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เรามีเวลาเพียงแค่ 4 นาทีเท่านั้นนะคะ ที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยด้วยการทำ CPR (ปั๊มหัวใจผายปอดกู้ชีพ) เพราะทันทีที่หัวใจหยุดทำงาน เลือดจะไม่ถูกสูบฉีดไปเลี้ยงสมองทำให้สมองตายเนื่องจากขาดเลือดและออกซิเจนนั่นเองค่ะ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าเวลาทุกวินาทีนั่นมีค่าสำหรับคนป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันที่สุดเลยนะคะ ต่อไปมาดูขั้นตอนการช่วยเหลือคนป่วยด้วยการทำ CPR กันค่ะ การทำ CPR ไม่ยากอย่างที่คิด แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ช่วยเหลือต้องไม่ตื่นเต้นตกใจ แล้วทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ค่ะ
ขั้นตอนการทำ CPR
1. เมื่อพบคนหมดสติ ให้ตบไหล่พร้อมปลุกเรียก
2. ถ้าผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว รีบตะโกนขอความช่วยเหลือและโทรแจ้ง 1669 (สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ)
3. เช็กดูว่าผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นหรือไม่ โดยเอาหูแตะบริเวณจมูกของคนไข้ ตามองที่หน้าอก หากหน้าอกคนไข้ไม่ขยับ หน้าท้องไม่กระเพื่อม แสดงว่าหยุดหายใจให้ปั๊มหัวใจทันที
4. สำหรับการปั๊มหัวใจ ให้ปั๊ม 100-120 ครั้งต่อนาที ปั๊มต่อเนื่องนาน 2 นาที แล้วสลับคนปั๊ม ควรปั๊มไปเรื่อยๆ จนกว่าทีมกู้ภัยจะมาถึง
5. ในขณะเดียวกัน ถ้าในสถานที่เกิดเหตุมีเครื่อง AED (เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ) ให้รีบไปนำมาช่วยผู้ป่วยให้เร็วที่สุด
6. ส่วนวิธีการใช้เครื่อง AED นั้น ให้กดปุ่มเปิดเครื่อง แปะแผ่นนำไฟฟ้าในตำแหน่งที่ลูกศรบอก จากนั้นทำตามที่เครื่องสั่งระหว่างรอทีมกู้ภัย
หากทำ CPR พร้อมกับใช้เครื่อง AED สามารถเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้ 10 เท่ากันเลยนะคะ
– การทำ CPR เป็นการกดนวดหัวใจเพื่อกระตุ้นอัตราการไหลเวียนของเลือด
– ส่วนการผายปอด คือการช่วยเติมออกซิเจนเข้าไป แต่ไม่ได้ทำให้หัวใจกลับมาทำงาน
– ดังนั้น AED หรือเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจจึงมีความสำคัญ เพราะการทำงานของเครื่อง AED คือปล่อยกระแสไฟฟ้าไปกระตุกหัวใจของผู้ป่วยให้กลับมาเต้นอีกครั้ง
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในกลุ่มคนไข้ที่หมดสติแล้วมีภาวะหัวใจหยุดเต้นนั้น การทำ CPR อย่างเดียวอัตราการรอดชีวิตจะอยู่ที่ประมาณ 3-5 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าใช้เครื่อง AED ร่วมด้วยอัตราการรอดชีวิตเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 10 เท่าเลยนะคะ เพราะโรคหัวใจ บางชนิดสามารถตรวจทราบสาเหตุได้ แต่บางชนิดก็ไม่อาจทราบ เพราะสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติมีมากมาย โรคเหล่านี้ถือเป็น “ภัยเงียบ” ดังนั้นแม้ผู้ป่วยจะดูแลสุขภาพอย่างดี ออกกำลังกายอย่างดีสม่ำเสมอ โรคเหล่านี้ก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นกันค่ะ
ที่มา : ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ