ในปัจจุบันต้องยอมรับนะคะ ว่าสังคมยุคนี้ มีการใช้ Social Media กันเยอะจริงๆ แทบจะใช้กันเป็นทุกวัยเลยก็ว่าได้ค่ะ โดยเฉพาะแอปยอดฮิตอย่าง FaceBook หรือ Twitter นั้นเป็นสิ่งที่นิยมกันมากเลยนะคะ ในหมู่วัยรุ่น และบุคคลที่ต้องการสื่อสารสัมพันธ์กัน แม้ว่า FacBook จะถูกสร้างขึ้นเพื่อให้สามารถติดต่อสัมพันธ์กันในทางบวก แต่จากการศึกษากลับพบว่าในทางกลับกัน FaceBook นั่น ก็สามารถเป็นสื่อที่ก่อให้เกิดอันตรายได้ในเวลาเดียวกันอีกด้วยนะคะ ดังนั้นเรามาดูกันค่ะว่า การใช้ Facebook ของลูกๆในข่วงวัยรุ่นนั้น มีข้อดี และข้อเสียอย่างไรบ้างค่ะ

FaceBook เป็นซอฟท์แวร์ในการสร้างเครือข่ายทางสังคมในโลกอินเตอร์เน็ต โดยผู้ใช้สามารถใส่ข้อมูลต่างๆที่ต้องการ หรือใส่ความสนใจที่ชอบ จากนั้นระบบจะค้นหาผู้ที่มีความสนใจในลักษณะเดียวกัน และผู้ใช้สามารถเพิ่ม หรือลบในการเชื่อมต่อไปหาผู้ใช้อื่นๆได้ และ Mr. Mark Zuckerburg คือผู้ก่อตั้งนะคะ เมื่อปี ค.ศ. 2003 ในขณะนั้นเขาเป็นนักศึกษาแผนกจิตวิทยา ของมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด สหรัฐอเมริกา โดยเปิดให้เป็นบริการหนึ่งของนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาเวิร์ดในการศึกษาหาข้อมูลเท่านั้น แต่เนื่องจากมีสมาชิกมาใช้บริการกันอย่างล้นหลามจึงทำให้มีการขยายเครือข่ายมากขึ้น และพัฒนามาถึงหลายล้านคนในโลกปัจจุบันนั่นเองค่ะ
 

ข้อดีและข้อเสีย การใช้ facebook ของลูกในช่วงวัยรุ่น

 

 

    ข้อดี

1. FaceBook จะเป็นการสร้างเครือข่ายและจุดประกายด้านการศึกษาได้อย่างกว้างขวาง หากใช้ได้อย่างถูกวิธี

2. Facebook ทำให้ไม่ตกข่าว คือทราบความคืบหน้า เหตุการณ์สำคัญต่างๆ รวมถึงเหตุการณ์ของบุคคลต่างๆ และผู้ที่ใกล้ชิด

3. ผู้ใช้ Facebook สามารถสร้างเครือข่ายทางสังคม แฟนคลับหรือผู้ที่มีเป้าหมายเหมือนกัน และทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้

 

4. Facebookสามารถสร้างมิตรแท้ หรือเพื่อนที่รู้ใจที่แท้จริงได้

5. FaceBook เป็นซอฟแวร์ที่เอื้อต่อผู้ที่มีปัญหาในการปรับตัวทางสังคม ขาดเพื่อน อยู่โดดเดี่ยว หรือผู้ที่ไม่สามารถออกจากบ้านได้ ให้มีเครือข่ายทางสังคม และเติมเต็มชีวิตทางสังคมได้อย่างดี ไม่เหงาและปรับตัวได้ง่ายขึ้น

6. Facebook สามารถสร้างเครือข่ายที่ดี สร้างความเห็นอกเห็นใจ และให้กำลังใจที่ดีแก่ผู้อื่นได้

ข้อเสีย

 

1. FaceBook เป็นการขยายเครือข่ายทางสังคมในโลกอินเตอร์เนต ดังนั้นการเพิ่มเพื่อนเครือข่ายที่ไม่รู้จักดีพอ จะทำให้เกิดการลักลอบขโมยข้อมูล หรือการแฝงตัวของขบวนการหลอกลวงต่างๆของมิจฉาชีพได้

2. เพื่อนทุกคนในเครือข่ายสามารถเขียนข้อความต่างๆลง Wall ของ FaceBook ได้แต่หากเป็นข้อความที่เป็นความลับ การใส่ร้ายกัน หรือแฝงไว้ด้วยการยั่วยุต่างๆ จะทำให้ผู้อ่านที่ไม่มีวุฒิภาวะพอ หลงเชื่อ เกิดความขัดแย้ง และปัญหาตามมาในภายหลังได้

3. Facebook อาจเป็นช่องทางในการสร้างสังคมแห่งการนินทา หรือการยุ่งเรื่องส่วนตัวของผู้อื่นโดยใช่เหตุ โดยเฉพาะสังคมที่ชอบสอดรู้สอดเห็น

4. การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวทั้งหมดให้กับบุคคลภายนอกที่ไม่รู้จักดีพอ เช่นการลงรูปภาพของครอบครัวหรือลูก อาจนำมาเรื่องปัญหาการปลอมตัว หรือการหลอกลวงอื่นๆที่คาดไม่ถึงได้

5. เด็กๆที่ใช้เวลาในการเล่น Facebook มากเกินไป จะทำให้เสียการเรียนได้

6. ในการสร้างความผูกพันและการปรับตัวทางสังคมเป็นการพบปะกันในโลกของความจริง มากกว่าในโลกอินเตอร์เนต ดังนั้นผู้อยู่ในโลกของไซเบอร์มากเกินไปอาจทำให้มีปัญหาทางจิต หรือขาดการปรับตัวทางสังคมที่ดี โดยเฉพาะผู้ที่ชอบเล่น FaceBook ตั้งแต่ยังเด็ก

7. FaceBook อาจเป็นแรงขับให้มีการพบปะทางสังคมในโลกแห่งความเป็นจริงที่น้อยลงได้ เนื่องจากทราบความเคลื่อนไหวของผู้ที่อยู่ในเครือข่ายอย่างตลอดเวลา

8. นโยบายของบางโรงเรียน บางมหาวิทยาลัย บางครอบครัวหรือในบางประเทศมีปัญหามากมายที่เกิดจาก FaceBook ทำให้ FaceBook ไม่ได้รับการอนุญาตให้มีในหลายพื้นที่

จากข้อดี และข้อเสียที่ได้กล่าวมาในเบื้องต้นนั้น จะเห็นว่า หากทุกอย่างอยู่ในเกณฑ์ที่พอดีก็ไม่น่าจะเกิดปัญหามากนั้น แต่เนื่องจากเด็ก หรือวัยรุ่นแต่คนนั้น ย่อมมีความแตกต่างกันทั้งจากตัวบุคคล และพื้นฐานทางครอบครัว จึงแนะนำให้ผู้ปกครองควรเอาใจใส่ลูกหลานของท่านที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นซึ่งนิยมท่องโลกอินเตอร์เน็ต ให้มีความระมัดระวัง และมีวิจารณญาณในการเล่น Facebook มากยิ่งขึ้นด้วยนะคะ เพราะ FaceBook นั้นเป็นทั้งสื่อที่มีทั้งคุณอนันต์ และโทษมหันต์ในเวลาเดียวกันก็ว่าได้ค่ะ

 

 

 

 

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์