บทความนี้จะมานำเสนอเกี่ยวกับ วิธีเตรียมตัวรับมือน้ำท่วม เมื่อมีการแจ้งเตือนกันนะคะต้องบอกเลยนะคะว่า ภัยจากธรรมชาติต่างๆ เป็นสิ่งที่เราไม่คาดคิด และสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ และภัยจากธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยก็คือ ภัยจากน้ำท่วมที่เกิดขึ้นทุกปีนั่นเองค่ะ ดังนั้นการรับฟังข่าวสารการแจ้งเตือน เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ก่อนเป็นสิ่งสำคัญมากเลยนะคะ และเมื่อได้รับการแจ้งเตือนแล้ว เราควรเตรียมพร้อมรับมืออย่างไร พร้อมแล้วตามมาดูกันเลยค่ะ

 

วิธีเตรียมตัวรับมือน้ำท่วม เมื่อมีการแจ้งเตือน

 

 

การแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมจะมีระดับการเตือนภัยน้ำท่วม เป็น 4 ระดับ ได้แก่

– การเฝ้าระวังน้ำท่วม : มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดน้ำท่วมและอยู่ในระหว่างสังเกตการณ์

– การเตือนภัยน้ำท่วม : เตือนภัยจะเกิดน้ำท่วม

– การเตือนภัยน้ำท่วมรุนแรง : เกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรง

– ภาวะปกติ : เหตุการณ์กลับสู่ภาวะปกติ หรือเป็นพื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม

 

การวางแผนรับมือน้ำท่วมหลังได้รับการเตือนภัยน้ำท่วม

  • กรณีฉุกเฉินมีเวลาเล็กน้อยหลังการเตือนภัย

1. ติดตามสัญญาณเตือนภัยฉุกเฉิน จากสถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์ที่เกาะติดรายงานสถานการณ์น้ำท่วม โดยเฉพาะรายงานข่าวที่เกาะติดในพื้นที่จากเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เป็นต้น website หน่วยงานที่ดูแล เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา www.tmd.go.th, กรมชลประทาน www1.rid.go.th/main/index.php/th กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย www.disaster.go.th

2. สังเกตระดับน้ำและความผิดปกติ จากแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้ๆ เช่น แม่น้ำ คลอง

3. เตรียมสถานที่สองแห่ง เป็นที่นัดหมายสำหรับสมาชิกในครอบครัวสามารถพบกันได้หากพลัดหลง โดยสถานที่แรกให้อยู่ใกล้บริเวณบ้าน และอีกสถานที่อยู่นอกพื้นที่ที่น้ำท่วมถึง

4. ถ้ามีการเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลัน และหากอยู่ในพื้นที่หุบเขาให้ปฎิบัติดังนี้

– ปีนขึ้นที่สูงให้เร็วสุดเท่าที่จะทำได้
– อย่าพยายามนำสัมภาระติดตัวไปมากเกินไป ให้คิดว่าชีวิตสำคัญที่สุด
– อย่าพยายามวิ่งหรือขับรถผ่านบริเวณน้ำหลาก

 

  • กรณีเตือนภัยการเฝ้าระวังน้ำท่วม ยังมีเวลาในการเตรียมแผนรับมือน้ำท่วม

1. ให้เตรียมแผนเผชิญน้ำท่วม ซักซ้อมหน้าที่ของสมาชิกครอบครัว หาทางหนีทีไล่ให้เรียบร้อย โดยเน้นความปลอดภัยชีวิตเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้พิการ เรื่องทรัพย์สินเป็นเรื่องรองลงมา

2. ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ให้พ้นจากระดับน้ำท่วม

3. อพยพสัตว์เลี้ยงและเคลื่อนย้ายยานพาหนะไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย

4. ตัดกระแสไฟฟ้า ปิดสวิตซ์ไฟ สับคัตเอาท์ ป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่ว

5. ปิดอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและแก๊ส

6. เตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น เช่น นกหวีด เชือก ถุงพลาสติกสีดำ กระดาษชำระ มีด ที่เปิดกระป๋อง

7. เตรียมเอกสารสำคัญ เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน โฉนดที่ดิน สุดบัญชีธนาคาร พร้อมจัดทำสำเนา และจัดเก็บไว้ในถุงพลาสติก หรือซองกันน้ำ ป้องกันเอกสารได้รับความเสียหาย

8. สำรองอาหาร น้ำดื่มสะอาด ใช้การได้อย่างน้อย 3 วัน

9. เตรียมยาสามัญประจำบ้านที่จำเป็นไว้ เช่น ยาแก้ปวดลดไข้ ยาใส่แผล ผงเกลือแร่ไว้ในที่ปลอดภัย

10. ผู้ที่มีโรคประจำตัว ขอให้จัดเตรียมยาที่กินประจำไว้ใกล้ตัว หรือเก็บไว้ในที่ปลอดภัยป้องกันยาสูญหาย

11. จัดเตรียมระบบไฟสำรองส่องสว่างภายในบ้าน เช่นไฟฉาย เทียนไข ไม้ขีดไฟ เป็นต้น

12. จดเบอร์โทรศัพท์เพื่อขอความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินเร่งด่วน เช่น เบอร์เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เบอร์การแพทย์ฉุกเฉิน1669 เบอร์สายด่วนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 1784

13. หากระดับน้ำท่วมสูงไม่สามารถอาศัยภายในบ้านได้ ให้ล็อคประตูบ้านและอพยพขึ้นที่สูง ถ้าไม่มีที่ปลอดภัยบนที่สูง ให้ฟังข้อมูลจากวิทยุหรือโทรทัศน์เกี่ยวกับสถานที่หลบภัยของหน่วยงานต่างๆ

14. หากบ้านพักอาศัยไม่ได้อยู่ในที่น้ำท่วมถึง แต่อาจมีน้ำท่วมในห้องใต้ดิน

– ปิดอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในห้องใต้ดิน
– ปิดแก๊สหากคาดว่าน้ำจะท่วมถึง
– เคลื่อนย้ายสิ่งของมีค่าขึ้นข้างบน
– ห้ามอยู่ในห้องใต้ดิน เมื่อมีน้ำท่วมถีงบ้าน

 

สิ่งที่ต้องระวัง คือ

1. ห้ามเดินตามเส้นทางที่น้ำไหล แม้ระดับน้ำจะไม่สูงก็ตาม เนื่องจากความเชี่ยวของกระแสน้ำอาจทำให้เสียหลักและล้มได้

2. ห้ามขับรถในพื้นที่ที่น้ำกำลังท่วม เพื่อลดความเสี่ยงในการจมน้ำ

3. ห้ามเข้าใกล้อุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟ เนื่องจากน้ำเป็นสื่อนำกระแสไฟได้

 

 

 

 

ที่มา : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย