ทราบหรือไม่คะ ว่าในสมาร์ทโฟนทุกเครื่องจะมีสิ่งที่เรียกว่าเลข IMEI อยู่ ซึ่งเลข IMEI นี้ ก็เป็นสิ่งที่ใช้กันมาตั้งแต่ยุคโทรศัพท์มือถือยังเป็นจอขาวดำอยู่เลยนะคะ ดังนั้นบทความนี้ จะมาอธิบายเกี่ยวกับ IMEI ว่าคืออะไร รวมไปถึงหน้าที่ และประโยชน์กันเลยนะคะ มาดูไปพร้อมๆกันเลยค่ะ
IMEI คืออะไร ?
IMEI (อีมี่) ย่อมาจากคำว่า “International Mobile Equipment Identity” เป็นตัวเลขที่เป็นหมายเลขเฉพาะ. สำหรับใช้ระบุตัวตนของอุปกรณ์ เหมือนกับเป็นเลขประจำตัวประชาชน ซึ่งผู้ให้บริการสามารถใช้เลข IMEI ในการตรวจสอบได้ว่าอุปกรณ์ที่อยู่บนเครือข่าย GSM (บนเครือข่าย CDMA จะเรียกว่า MEID (Mobile Equipment Identifier)) เป็นอุปกรณ์ตัวไหน
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) เป็นต้นมา รูปแบบของ IMEI ส่วนใหญ่แล้ว จะประกอบด้วยตัวเลข 15 หลัก ที่สามารถแบ่งได้ออกเป็น 5 ส่วน
ดังนี้ “AA-BBBBBB-CCCCCC-D”
– AA : เป็นตัวเลขที่ใช้ระบุการจัดสรรประเภท Type Allocation Code (TAC) ของกลุ่ม GSMA
– BBBBBB : แสดงตัวเลข TAC ที่เหลือ
– CCCCCC : แสดงหมายเลขซีเรียล หรือรุ่นของโทรศัพท์
– D : ใช้ตรวจสอบความถูกต้องของเลข ID โดยมักจะใช้อัลกอริทึม Luhn ในการตรวจสอบ
วิธีดูเลข IMEI ของโทรศัพท์
วิธีดูเลข IMEI ของโทรศัพท์นั้นสามารถทำได้หลายวิธี โดยส่วนใหญ่แล้ว จะมีระบุเอาไว้บนตัวกล่อง และบนตัวเครื่อง โดยอาจจะสกรีนเอาไว้ที่ด้านหลังของตัวเครื่อง หรือบนถาดซิมนะคะ
แต่ถ้าทิ้งกล่องไปแล้ว หรือไม่สะดวกในการที่จะถอดถาดซิมออกมาดู ก็สามารถดูผ่านซอฟต์แวร์ของสมาร์ทโฟนได้เช่นกัน โดยใน iPhone และ Android (ส่วนใหญ่) ข้อมูลเลข IMEI ก็จะอยู่ในหน้า About ตัวอย่างการเช็คดูเลข IMEI ของ Android ตามภาพนะคะ
ตามภาพมีเลข IMEI สองชุดเนื่องจาก โทรศัพท์ที่ใช้ตรวจสอบเป็นแบบใส่ได้ 2 ซิมค่ะ เลยพบเลข IMEI ถึง 2 ชุดนั่นเองค่ะ แต่เลขชุดแรก คือ ตัวหลักนะคะ
อีกวิธีก็คือการเปิดแอปโทรศัพท์ขึ้นมาแล้วกดรหัส “*#06#” เลข IMEI ก็จะแสดงผลขึ้นมาทั้งที สามารถทำได้ทั้งใน iOS และ Android เลย
ประโยชน์ของเลข IMEI คืออะไร ?
เลข IMEI นั้นเป็นเหมือนเลขประจำตัวประชาชน ที่ใช้ในการยืนยันตัวตนของอุปกรณ์ดังกล่าว ซึ่งการแก้ไขเลข IMEI นั้น ทำได้ค่อนข้างยาก ทำให้มันถูกใช้เป็นใบรับรองตัวตนของอุปกรณ์ได้ในหลายสถานการณ์ ยกตัวอย่างเช่น
* เวลาที่ซื้อสมาร์ทโฟนมือหนึ่งมา เลข IMEI ของตัวเครื่อง และเลข IMEI บนกล่องจะต้องตรงกัน ถ้าไม่ตรงแสดงว่าเป็นเครื่องที่มีการย้อมแมวมาอย่างแน่นอน
* ตรวจสอบความเป็นเจ้าของที่แท้จริงได้ สมมติว่าโทรศัพท์ของคุณหาย มีคนเก็บได้ แต่ไม่ยอมรับ คุณสามารถแจ้งความ และนำกล่องที่มีเลข IMEI ตรงกันไปเป็นหลักฐานยืนยันความบริสุทธิ์ได้
* กรณีที่ทำโทรศัพท์หายไป สามารถสอบถามไปยังผู้ให้บริการเครือข่ายตรวจสอบได้ว่า มีมือถือของเราถูกใช้งานอยู่ในเครือข่ายหรือไม่จากเลข IMEI เพื่อสืบหาคนร้ายต่อไป
* ผู้ให้บริการมือถือสามารถปิดกั้นการเชื่อมต่อมายังเครือข่ายด้วยเลข IMEI ได้ ซึ่งจะมีประโยชน์เวลาที่คุณทำโทรศัพท์หาย หรือถูกโจรกรรมไป เราสามารถส่งคำร้องให้ปิดกั้น IMEI ทำให้ไม่สามารถใช้งานโทรศัพท์ได้อีกต่อไป
* มีเว็บไซต์หลายแห่งที่ให้บริการตรวจสอบ IMEI ว่าเป็นของที่ถูกขโมยมาหรือเปล่า ? เราสามารถนำเลขไปตรวจสอบเพื่อป้องกันการรับซื้อของโจร ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฏหมาย
ปัจจุบันนี้ มีเทคโนโลยีตรวจสอบตัวตนของอุปกรณ์ อย่าง iCloud และ Find my ทำให้การใช้งาน IMEI ไม่เกิดขึ้นบ่อยเหมือนสมัยก่อน แต่อย่างไรก็ตาม เลข IMEI ก็ยังมีประโยชน์อยู่นะคะ หากไม่เก็บกล่องสินค้าเอาไว้ ก็ควรจะจดเลข IMEI หรือถ่ายรูปกล่องเก็บไว้ก่อนที่จะทิ้งกล่องไป เผื่อในอนาคตทำหาย หรือถูกขโมย จะได้มีหลักฐานไปยืนยันความเป็นเจ้าของได้นั่นเองค่ะ
ที่มา : www.techopedia.com , www.makeuseof.com , www.mintmobile.com , en.wikipedia.org , www.lifewire.com , swappa.com , www.androidauthority.com , safeguarde.com