ต้องยอมรับนะคะ ว่าตอนนี้โลกของเรานั้นร้อนขึ้นกว่าแต่ก่อนมากๆ และรู้หรือไม่คะว่าผลพวงของภาวะโลกเดือดนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนไป แต่ยังส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกเกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น สัตว์ พืช หรือแม้กระทั่งโรคภัยต่างๆก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกันค่ะ โดยเฉพาะ “ยุงลาย” ที่เป็นพาหะนำโรค ได้มีงานวิจัยหลายชิ้นบอกตรงกันว่าเมื่อโลกร้อนขึ้น ยุงลายจะเติบโตเร็วขึ้น ขยายพันธุ์ไว และกัดบ่อยขึ้นอีกด้วยนะคะ ยิ่งสภาพอากาศร้อนชื้นอย่างไทยเรายิ่งเหมาะสมค่ะ

ในไทยก็มีการศึกษาเรื่องดังกล่าว เป็นโครงการวิจัยเรื่อง “อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อยุงพาหะนำโรคในพื้นที่ชายฝั่งทะเล” ของ มรภ.สวนสุนันทา ได้เก็บตัวอย่างยุง จ.สมุทรสงคราม มาศึกษาวงจรการเติบโตและการแพร่พันธุ์จากภาวะโลกร้อน เพื่อหาทางควบคุมยุงให้เหมาะกับพื้นที่

 

 

ภาวะโลกเดือดส่งผลต่อวงจรชีวิตยุง ผศ. ธนวัฒน์ ชัยพงศ์พัทรา หัวหน้าโครงการวิจัยฯ มรภ.สวนสุนันทา

– เปรียบเทียบยุงในอดีต ในช่วงที่อุณหภูมิโลกไม่สูง ยุงพัฒนาค่อนข้างช้า จากระยะไข่ไปถึงตัวโตเต็มวัย ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์

– แต่เมื่ออยู่ในอุณหภูมิที่สูงขึ้น การพัฒนาและเติบโตจะไวขึ้น จากไข่ไปถึงตัวโตเต็มวัย จะลดเหลือ 1 สัปดาห์

 

 

– ผลกระทบจากอากาศร้อนขึ้น ยุงจะมีขนาดเล็กลง และมีโอกาสโจมตีมนุษย์บ่อยขึ้น เพราะตัวเล็ก การย่อยเลือดจะค่อนข้างไว

 

จับตา “ไข้เลือดออก” ระบาด

 

 

หนึ่งในโรคระบาดที่เกิดจากยุงลายก็คือ ไข้เลือดออก นั่นเองนะคะ จากข้อมูลย้อนหลัง 6 ปี (2561-2566) พบว่าในปี 2566 ไข้เลือดออกระบาดรุนแรงกว่าทุกปี ทั่วไทยมีผู้ป่วยรวมกว่า 160,000 คน เสียชีวิตถึง 180 คนเลยนะคะ เมื่อดูยอดผู้เป็นโรคไข้เลือดออกในแต่ละเดือนพบว่า

 

 

– เดือน ก.ค.-ส.ค.เป็นช่วงที่ไข้เลือดออกระบาดสูงสุดของปี

– แต่ใน 3 เดือนแรกของปี 2567 พบผู้ติดเชื้อแล้ว 23,000 คน มากกว่า 2 เท่า
เทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2566

จึงมีความกังวลว่าปีนี้การติดเชื้ออาจสูงขึ้น โดยมีสภาพอากาศร้อนชื้นในช่วงนี้ เป็นปัจจัยเร่งให้มียุงลายล้นเมืองนั่นเองค่ะ

ปิติ มงคลางกูร นักกีฎวิทยา กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค บอกว่า จากนี้ยุงจะเกิดขึ้นมากกว่าปกติ เพราะมันเติบโตเร็ว ช่วงเป็นลูกน้ำมันสั้น มันก็ออกมาผลิตลูกน้ำอีก วนไป ๆ ทบกันไปเรื่อย ๆ ยุงพวกนี้เกิดขึ้นมาก เพราะภาวะโลกร้อน

หลายคนอาจสงสัยว่ายุงตัวเล็ก จะมีเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกเลยหรือไม่ ปิติ บอกว่า เชื้อไวรัสที่อยู่ในตัวยุง จะโตเร็วตามยุงไปด้วย มันก็สามารถแพร่โรคได้เลยในการกัดครั้งแรกของมัน สำหรับยุงที่เจริญจากไข่ที่มีเชื้อนะคะ แสดงให้เห็นว่า ไม่ส่ายังจะตัวใหญ่ หรือตัวเล็กลง แต่ถ้ามีเชื้อในตัว ก็เป็นพาหะนำโรคได้ทั้งสิ้นค่ะ

 

สถิติผู้ป่วยไข้เลือดออก ในปี 2567

 

 

– วัยเด็กยังคงเป็นกลุ่มที่เป็นโรคไข้เลือดออกสูงสุด

– แต่กลุ่มคนอายุ 65 ปีขึ้นไป แม้จะติดโรคน้อยกว่า แต่โอกาสเสียชีวิตมีมากกว่า

เพราะฉะนั้นแล้วทุกคนต้องดูแลตัวเอง บุตรหลาน และผู้สูงอายุภายในบ้านให้ดีนะคะ อย่าให้ยุงกัด จะได้ไม่เสี่ยงกับโรคไข้เลือดออกกันค่ะ

 

 

 

 

 

ที่มา : รายการข่าวเจาะย่อโลก, สถานการณ์โรคไข้เลือดออก พ.ศ. 2566 กรมควบคุมโรค , THAI PBS