บทความนี้จะมานำเสนอ 10 เมนูท้องถิ่นอาหารใต้ น่าทาน พบกับความเผ็ดร้อน จัดจ้าน เอกลักษณ์อันโดดเด่นของอาหารใต้แบบ “​หรอยจังฮู้” เมนูท้องถิ่นอาหารใต้ คือตัวแทนแห่งจิตวิญญาณในการบอกเล่าประวัติศาสตร์ด้านอาหารแห่งแดนปักษ์ใต้ คือการผสมผสานอิทธิพลของจีน มุสลิม และไทยเข้ากับผลผลิตพื้นบ้านอันน่าทึ่ง ตั้งแต่พริกแกงทำเองไปจนถึงของทะเลสดๆ ท่ามกลางชายหาด ท้องทะเล มหาสมุทร หมู่เกาะและป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์สวยงามตระการตา ศูนย์กลางค้าขายทางเรือของชาวจีน อินเดียและชวาในอดีต จึงได้รับเอาวัฒนธรรมการกิน รวมถึงวิธีการทำอาหารโดยใช้เครื่องเทศมาจากชาวอินเดียใต้ โดยเฉพาะ ขมิ้นและกะปิ ที่เป็นวัตถุดิบหลัก และพืชพื้นบ้านที่สามารถหาได้ในท้องถิ่น เช่น สะตอ ลูกเหนียง ยอดกระถิน มาดูกันค่ะว่าเมนูจัดจ้าน เผ็ดร้อนจะมีอะไรกันบ้าง

 

10 เมนูท้องถิ่นอาหารใต้ น่าทานเผ็ดร้อนจัดจ้าน

 

 

1. แกงเหลือง

แกงเหลือง หรือ แกงส้มปักษ์ใต้ มีจุดเด่นคือการใช้พริกแกงส้มที่มีส่วนผสมของขมิ้น ทำให้แกงมีสีเหลือง มักนำมาใช้แกงกับหน่อไม้ดอง มะละกอ ไหลบัว บอน หรือผักอื่นๆ และเพิ่มเนื้อสัตว์อย่างกุ้ง หรือปลา เช่น ปลากระพง ปลานิล ปลากระบอก ปลาดุก เป็นต้น แกงเหลืองมักมีรสชาติจัดจ้าน โดยเฉพาะแกงเหลืองหน่อไม้ดอง เพราะน้ำแกงที่เข้มข้นจึงเข้ากันได้ดีกับรสเปรี้ยวของหน่อไม้ดอง จึงถือเป็นอีกหนึ่งเมนูได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

 

 

2. แกงไตปลา

แกงไตปลา หรือ แกงพุงปลา อีกหนึ่งเอกลักษณ์อาหารท้องถิ่นภาคใต้ รสชาติเผ็ดร้อน อีกทั้งยังมีส่วนผสมของสมุนไพรที่ช่วยเพิ่มความหอมและเพิ่มรสชาติที่จัดจ้านของรสชาติให้มากขึ้น คำว่าไตปลามาจากไส้ของปลาชนิดต่างๆ มีกลิ่นหอม รสชาติค่อนข้างเค็ม ไตปลาเป็นการถนอมอาหารแบบหมักด้วยเกลือ โดยจะเลือกใช้เฉพาะเครื่องในปลาเท่านั้น เช่น ตับปลา ไส้ปลา และไตปลา ส่วนใหญ่จะเลือกใช้ไตปลาช่อนมาทำเป็นแกง เนื่องจากมีรสชาติหวานมากกว่าปลาชนิดอื่นๆ แกงไตปลาถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมของคนไทยภาคใต้ ที่สะท้อนถึงประเพณี วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

 

 

3. หมูผัดกะปิ

.หมูผัดกะปิ เป็นอีกหนึ่งอาหารขึ้นชื่อของทางภาคใต้ เกิดจากการนำวัตถุดิบพื้นบ้านอย่างกะปิมาผัดเข้ากับเนื้อหมู จนกลายเป็นเมนูหมูผัดกะปิ ด้วยรสชาติที่เข้มข้นจากตัวกะปิที่เป็นตัวชูโรง เมื่อนำไปผัดกับหมูและวัตถุดิบชนิดอื่นๆ ทำให้เมนูนี้กลายเป็นอาหารที่ชาวบ้านภาคใต้นิยมรับทานกันมากที่สุดเลยทีเดียว

 

 

4. หมูฮ้อง

หมูฮ้อง จานเด็ดภาคใต้ที่มีความเป็นลูกครึ่งไทย-จีน เพราะได้รับอิทธิพลจากชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพเข้ามาลงหลักปักฐานเมื่อนานมาแล้ว หมูฮ้องในแต่ละพื้นที่ของภาคใต้มีสูตรและกรรมวิธีการปรุงแตกต่างกันไป บางสูตรเก่าแก่หลายชั่วอายุคน อย่างหมูฮ้องสูตรภูเก็ตของร้านตู้กับข้าวนั้นใช้เวลาในการตุ๋นนานถึง 5-6 ชั่วโมง เนื้อจึงออกมานุ่มละมุน

 

 

5. สะตอผัดกะปิกุ้งสด

สะตอผัดกะปิกุ้งสด เมนูอาหารใต้ที่มีรสชาติจัดจ้านกลมกล่อม และมีกลิ่นของกะปิ และสะตอที่เป็นผักพื้นบ้านค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ หารับประทานได้ง่าย นิยมใส่หมูหรือกุ้งลงไปเพื่อให้ได้รับโปรตีนมากขึ้น

 

 

6. แกงคั่วหอยแครงใส่ใบชะพลู

แกงคั่วหอยแครงใส่ใบชะพลู เป็นแกงที่นำหัวกะทิคั้นสดมาคั่วกับพริกแกง รสชาติที่ได้จะออกเค็มมัน และหวานหอมจากตัวกะทิ กลมกล่อมถึงเครื่องถึงรสของเครื่องพริกแกง ซึ่งในใบชะพลูนอกจากความหอมแล้วยังมีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย

 

 

7. คั่วกลิ้ง

คั่วกลิ้ง อาหารใต้ที่ขึ้นชื่อเรื่องความเผ็ดร้อนและหอมกรุ่นด้วยเครื่องแกงที่ทำจากสมุนไพร ไม่ว่าจะเป็นพริก ขมิ้น ข่า ตะไคร้ กระเทียม พริกไทย และผิวมะกรูด สามารถใส่เนื้อสัตว์ได้สารพัด ทั้งหมูสับ ไก่สับ ซี่โครงหมู ปลาทูน่า โดยไม่ทำให้เสียเอกลักษณ์ของรสชาติและความจัดจ้าน นิยมทานคู่กับผักสด โดยคำว่าคั่วกลิ้งมาจากวิธีทำที่ต้องคั่วส่วนผสมกลิ้งไปกลิ้งมาบนกระทะจนแห้งได้ที่ เทคนิคความอร่อยของคั่วกลิ้งอยู่ที่การเลือกส่วนของเนื้อสัตว์ เนื่องจากคั่วกลิ้งมีลักษณะแห้ง บางคนทานไปแล้วอาจจะรู้สึกฝืดคอ ดังนั้นการเลือกใช้เนื้อสัตว์ติดมัน หรือเนื้อส่วนติดกระดูกอ่อน จะช่วยเพิ่มความอร่อยของคั่วกลิ้งได้เป็นเท่าตัว

 

 

8. ข้าวยำ

ข้าวยำ อาหารประจำท้องถิ่นภาคใต้ตอนล่าง นิยมทานกันเป็นอาหารเช้า หรืออาหารกลางวัน เรียกกันในภาษามลายูท้องถิ่นว่า “นาซิเกอราบู” (Nasi kerabu) หมายถึงข้าวสุกที่คลุกกับน้ำบูดู ซึ่งน้ำบูดูถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของข้าวยำ เพราะรสชาติความอร่อยของข้าวยำขึ้นอยู่กับน้ำบูดูที่ใช้ราดข้าวยำ หากเป็นสูตรของอิสลามแท้ ๆ จะใช้น้ำบูดูล้วน ๆ แต่ถ้าเป็นสูตรของภาคใต้ตอนบน จะมีการใช้เครื่องปรุงที่ทำให้น้ำข้าวยำมีรสชาติที่อร่อยไปอีกแบบหนึ่ง ข้าวยำนั้นเป็นมากกว่าอาหารประจำท้องถิ่นของคนใต้ เพราะยังมีกลิ่นอายของวิถีชีวิตรวมถึงวัฒนธรรมที่ฝังลึกมายาวนานจากรุ่นสู่รุ่น

 

 

9. ขนมลูกโดน

ขนมลูกโดน มีลักษณะเป็นแผ่นกลมบาง ๆ สีเหลืองปนน้ำตาล มีรูปร่างเป็นรอยบุ๋มตามแบบพิมพ์ ม้วนเป็นรูปกลมยาว นิยมรับประทานคู่กับมะพร้าวคลุกเกลือ รสชาติ หวาน มัน และเค็มเล็กน้อย

 

 

10. หัวครกราดน้ำผึ้ง

หัวครกราดน้ำผึ้ง หัวครกหรือเม็ดมะม่วงหิมพานต์ที่นำมาแกะ แช่น้ำเกลือ ล้างอย่างสะอาดทุกกรรมวิธี จากนั้นเคี่ยวน้ำตาลปี๊บให้หอมนำมาราดบนตัวถั่วรอจนน้ำตาลแห้งจะเกาะอยู่กับผิวของเม็ดมะม่วงหิมพานต์