ในสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา พบเด็กที่ติดเชื้อ SARS-CoV-2 ที่ก่อให้เกิดโรค COVID-19 ประมาณร้อยละ 13 ของผู้ป่วยทั้งหมดนะคะ แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง หรือไม่มีอาการเลย และพบน้อยมากที่เด็กติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง และต้องรับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต หรือใช้เครื่องช่วยหายใจ

 

 

อาการโรคโควิด-19 ในเด็ก

 

ผู้ป่วยโควิดมีการแสดงอาการหลากหลาย ตั้งแต่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยจนถึงป่วยหนัก ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่จะป่วยหนักได้แก่ อายุน้อยกว่า 1 ปี เด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอดเรื้อรัง โรคหัวใจ หรือโรคที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น แม้ผู้ป่วยเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรงก็สามารถป่วยหนักได้ อาการอาจจะแสดงในวันที่ 2-14 ภายหลังจากได้รับเชื้อโควิด-19

อาการแสดง ได้แก่

* ไข้
* ไอ
* อ่อนเพลีย
* ปวดเมื่อยตามตัว
* ปวดศีรษะ
* ไม่ได้กลิ่นหรือลิ้นไม่รับรส
* เจ็บคอ
* คัดจมูก น้ำมูกไหล
* คลื่นไส้ อาเจียน
* ถ่ายอุจจาระเหลว

กรณีอาการรุนแรง เด็กอาจมีอาการแสดงเหล่านี้ แน่นหน้าอก ซึม กระสับกระส่าย หายใจลำบาก ดื่มนมหรือกินอาหารไม่ได้ มีอาการเขียว

แต่อย่างไรก็ตาม เด็กก็ยังคงมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการรุนแรง หรือมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้นะคะ หากผู้ป่วยเด็กคนนั้นมีภาวะอ้วน เป็นโรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคพันธุกรรมเมตาบอลิก หรือภาวะผิดปกติทางระบบประสาทนั่นเองค่ะ
ส่วนในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 1 ขวบ หากติดโควิด-19 จะมีอาการมากกว่าเด็กโตนะคะ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายยังพัฒนาได้ไม่ดีพอ และช่องทางเดินหายใจยังมีขนาดเล็กนั่นเองค่ะ

 

เด็กติดเชื้อก่อโรค COVID-19 ได้อย่างไร

 

สภาพแวดล้อมที่เด็กจะติดเชื้อ SARS-CoV-2 ได้ ก็คือ

– การอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย หรือผู้ติดเชื้อ
– อยู่ในพื้นที่ที่มีผู้คนรวมกันอยู่มาก
– พบปะผู้คนโดยไม่มีการป้องกันโรค
– ไม่สวมหน้ากากอนามัย
– ไม่ทำความสะอาดร่างกาย
– ไม่รักษาระยะห่าง ผู้ที่
– อยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อทั้งที่มีและไม่มีอาการ

ก็อาจติดเชื้อได้หากไม่มีการป้องกันการติดเชื้อที่เหมาะสมและดีพอ ไม่เว้นแม้แต่พ่อแม่ก็อาจติดเชื้อจากลูกที่ป่วยได้เช่นกันค่ะ

 

วิธีป้องกันโรค COVID-19 ในเด็ก

 

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) และศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้ให้คำแนะนำแนวทางสำหรับครอบครัวที่มีลูกเล็กในการป้องกันการแพร่เซื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่ก่อโรค COVID-19 จากเด็กที่ติดเชื้อไปสู่บุคคลอื่นไว้ ดังนี้

การดูแลและล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ (Keep your Hands Clean)

* สอนเด็กให้รู้จักล้างมืออย่างถูกต้องตามมาตรฐาน  7 ขั้นตอน
* หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่อย่างถูกวิธี นานอย่างน้อย 20 วินาที หรือใช้แอลกอฮอล์ล้างมือที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่า 70%
* ปฏิบัติตัวให้ถูกสุขลักษณะ ไอ/จามต้องปิดปากและจมูกด้วยการงอศอก หรือใช้กระดาษชำระปิด จากนั้นนำไปทิ้งในที่ที่เหมาะสม และล้างมืออีกครั้งเพื่อทำความสะอาด
* หลีกเลี่ยงการเอามือสัมผัสบริเวณ ตา จมูก ปาก
* ให้เด็กล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทันทีที่กลับเข้าบ้าน หลังใช้ห้องสุขา และก่อนรับประทานอาหาร รวมถึงพ่อแม่ต้องดูแลความสะอาดก่อนจัดเตรียมอาหารด้วย

การเว้นระยะห่าง (Practice Social Distancing)

* หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับบุคคลอื่นในบ้าน ทั้งเด็กและสมาชิกในบ้าน
* ให้เว้นระยะห่าง 6 ฟุตหรือ 1 เมตร กับบุคคลอื่นที่ไม่ได้อยู่ในบ้าน
* กรณีมีเด็กคนอื่นมาที่บ้าน ควรให้เด็กเล่นกันนอกบ้าน และเว้นระยะห่าง 6 ฟุต
* หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการใช้ของเล่นหรืออุปกรณ์ร่วมกัน เช่น ลูกฟุตบอล บาสเก็ตบอล ฯลฯ

การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อภายในบ้าน (Clean and Disinfected your Home)

* ใช้สบู่กับน้ำสะอาด หรือแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่า 70% หรือน้ำยาที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้ เช่น น้ำยาซักผ้าขาวที่มีส่วนผสมของ Sodium Hypochlorite โดยผสมกับน้ำในอัตราส่วนที่ถูกต้อง เช็ดทำความสะอาดบริเวณดังต่อไปนี้
* พื้นผิวบริเวณที่มีการใช้ร่วมกันทุกวันและบริเวณที่มีการสัมผัสบ่อย เช่น ผ้าปูโต๊ะ ลูกบิดประตู มือจับประตู เก้าอี้ สวิตช์ไฟ  รีโมทคอนโทรล เครื่องใช้ไฟฟ้า หน้าต่าง โต๊ะ ห้องน้ำ อ่างล้างมือ เป็นต้น
* บริเวณที่สกปรกได้ง่าย เช่น โต๊ะเปลี่ยนผ้าอ้อม โต๊ะอาหาร
* พื้นผิวบริเวณที่เด็กสัมผัสบ่อยๆ เช่น ขอบเตียงนอน โต๊ะวางของเล่น หรือของเล่นต่างๆ โดยเฉพาะของเล่นเด็กชนิดที่เด็กอาจหยิบใส่ปากได้ ให้ทำความสะอาดโดยใช้สบู่และน้ำสะอาด และระวังอย่าให้มีคราบสบู่ตกค้าง
* ในกรณีที่จำเป็นจะต้องดูแลเด็กที่ติดเชื้อ COVID-19 ให้พ่อแม่ผู้ปกครองล้างมือทุกครั้งหลังจับต้องสิ่งของและของเล่นที่เด็กใช้ รวมถึงหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือผ้าปูเตียงเด็ก เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อ และควรรักษาระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัยอยู่เสมอ

การสวมใส่หน้ากากอนามัย (Wear Face Mask)

* แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน หรือไปในที่สาธารณะ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดบุคคลอื่น
* แนะนำให้เด็กอายุ 2 ขวบขึ้นไปสวมหน้ากากอนามัย เมื่อต้องอยู่ท่ามกลางบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัว
* ไม่แนะนำให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ หรือเด็กที่มีปัญหาด้านการหายใจ รวมถึงเด็กที่อยู่ในสภาพที่ถอดหน้ากากเองไม่ได้ สวมหน้ากากอนามัย เนื่องจากระบบทางเดินหายใจของเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ เด็กอาจขาดออกซิเจนและเป็นอันตรายได้ ควรใช้การเว้นระยะห่างอย่างต่ำ 2 เมตร หรือเอาผ้าคลุมรถเข็นที่มีเด็กนอนอยู่แทน

 

 

ที่สำคัญที่สุดคือ ควรพาเด็กไปรับการตรวจสุขภาพและรับวัคซีนตามนัด โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ โดยเลือกรับบริการเฉพาะสถานพยาบาลที่แยกบริเวณเด็กป่วยกับเด็กไม่ป่วยออกจากกัน ไม่ให้ปะปนกันอย่างชัดเจน
ด้วยนะคะ

ที่มา : https://www.samitivejhospitals.com