กับประโยคที่กล่าวว่า “ PM2.5 แค่หายใจก็เป็นมะเร็งปอดได้ ” จะบอกเลยนะคะ ว่าคำกล่าวนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่เกินจริงแต่อย่างใดเลยนะคะ และยิ่งในช่วงนี้ที่ PM2.5 ในไทยพุ่งแตะอันดับโลกกันเลยทีเดียวนะคะ ส่งผลให้มีคนไทยจำนวนมากได้รับผลกระทบจากฝุ่นพิษจิ๋วนี้ โดยเฉพาะกับคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพ และ เชียงใหม่ และตอนนี้อาจจะพูดได้ว่าภาคเหนือเกือบทุกจังหวัดเลยก็ว่าได้ค่ะ รวมถึงภาคอีสานด้วยเช่นกันนะคะ ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ จนเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดได้เลยนะคะ เพราะฉะนั้นอย่าชะล่าใจไปนะคะทุกคน ดังนั้นบทความนี้ จึงมานำเสนอความรู้ และ มาดูวิธีการเช็กกันว่า 8 อาการเตือนป่วยมะเร็ง “มะเร็งปอด” จาก PM 2.5 นั้น มีอะไรกันบ้างนะคะ

 

 

ฝุ่น PM 2.5 สัมพันธ์กับ มะเร็งปอด อย่างไรบ้าง

เนื่องจากฝุ่นพิษ PM 2.5 นั้น มีขนาดโมเลกุลที่เล็กมากเพียง 2.5 ไมครอน ซึ่งมีขนาดที่เล็ก จนขนจมูกคนเรานั้นไม่สามารถกรองฝุ่นจิ๋วชนิดนี้ได้นะคะ และยังประกอบไปด้วยก๊าซพิษ และสารก่อมะเร็ง ที่เกิดจากการเผาไหม้จากเครื่องรถยนต์ การเผาในที่โล่ง และควันจากโรงงานอุตสาหกรรมนั่นเองค่ะ

เมื่อฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายของคนแล้ว นอกจากจะทำให้เกิดการอักเสบภายในร่างกายแล้ว ยังเข้าไปทำลายระบบต่างๆในเซลล์ของปอด ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปอด (Lung cancer) ขึ้นได้ในระยะยาวอีกด้วยนะคะ

 

 

อีกทั้ง PM2.5 ยังมีองค์ประกอบของสารเคมีบางชนิด ที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ยกตัวอย่าง เช่น โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน ที่เกิดจากกระบวนการเผาไหม้ของสารอินทรีย์ไม่สมบูรณ์ มักจะพบในเขม่าควันไฟ รวมถึงควันที่เกิดจากน้ำมันทอดซ้ำ ซึ่งส่งผลให้เกิดมะเร็งปอดได้นั่นเองค่ะ

โดยปกติแล้วปอดของมนุษย์ จะพัฒนาเต็มที่เมื่ออายุประมาณ 25 ปี ซึ่งหากมีสารพิษเข้ามากระทบในช่วงเจริญเติบโตของปอดแล้ว จะส่งผลเสียต่อสมรรถภาพการทำงานของปอดในระยะยาว และอาจถึงขั้นเสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ทุกระดับค่า PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเลยนะคะ โดยเสียชีวิตจากมะเร็งปอดร้อยละ 15-21 และโรคหัวใจร้อยละ 12-14 ค่ะ

 

 

องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2556 เอาไว้ว่า PM 2.5 นั้นจัดอยู่ในกลุ่มที่หนึ่งของสารก่อมะเร็ง ซึ่งส่งผลกระทต่อสุขภาพ ทั้งผลระยะสั้น และระยะยาวกันเลยนะคะ เรามาดูรายละเอียดของผลกระทบที่ตะเกิดขึ้นไปพร้อมกันเลยค่ะ

ผลกระทบระยะสั้น

• ระคายเคืองตา คอ และจมูก
• หัวใจเต้นเร็วหรือผิดจังหวะ
• ไอ
• แน่นหน้าอก
• เหนื่อย โรคหืด หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังกำเริบ
• หลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบ

ผลกระทบระยะยาว

• การเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหืด ภูมิแพ้
• ปอดอุดกั้นเรื้อรัง ปอดเป็นพังผืด มะเร็งปอด
• โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง
• เด็กคลอดก่อนกำหนด ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของปอดในเด็ก ซึ่งเพิ่มความเสี่ยง ต่อการเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในอนาคต

ฝุ่น PM 2.5 ตัวนี้ ทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดได้มากถึง 1-1.4 เท่า ซึ่งถือได้ว่ามีความร้ายแรง เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่เลยทีเดียวนะคะ อันตรายจริงๆค่ะ ต่อไปเรามาดู ลักษณะของอาการต่างๆ ที่เตือนว่า เราเสี่ยงต่อ มะเร็งปอดกันนะคะ

 

8 อาการเตือนป่วย “มะเร็งปอด”

 

 

นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า อาการที่น่าสงสัยว่าอาจเป็นโรคมะเร็งปอด ได้แก่

1. ไอเรื้อรังติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์ (อาจมีหรือไม่มีเสมหะก็ได้)
2. ไอเป็นเลือด หรือมีเสมหะปนเลือด
3. เจ็บหน้าอกเวลาหายใจ
4. น้ำหนักลด
5. เหนื่อยง่าย
6. อ่อนเพลีย
7. เบื่ออาหาร
8. บางรายอาจมีไข้ต่ำ ๆ หรือมีปอดติดเชื้อซ้ำซาก

โดยทั่วไปแล้วนะคะ มะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นนั้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการ แต่เมื่อโรคลุกลามไปแล้ว มักมีอาการแสดงตามที่ได้นำเสนอไปด้านบนแล้วนะคะ
แต่อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้ไม่ได้เป็นอาการที่เฉพาะเจาะจงกับมะเร็งปอดเพียงเท่านั้นนะคะ แต่อาจจะพบในโรคอื่นๆได้ เช่น วัณโรคปอด ดังนั้นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งปอด ควรจะเข้ารับการตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปี หรือหากมีอาการผิดปกติเหล่านี้อย่างต่อเนื่องเกิน 3 สัปดาห์แล้ว ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วนเลยนะคะ

 

 

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด

• การสูบบุหรี่และได้รับควันบุหรี่ ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักในการเกิด โรคมะเร็งปอด รวมไปถึงมะเร็งชนิดอื่น ๆ ด้วย
• การทำงานในอุตสาหกรรมที่มีสารก่อมะเร็ง
• ประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด มีผลการศึกษาระบุว่าหากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอดตั้งแต่อายุน้อย ๆ สมาชิกในครอบครัวจะมีความเสี่ยงสูงเช่นกัน
• มีประวัติโรคปอดเรื้อรังเดิม เช่น โรคถุงลมปอดโป่งพองเรื้อรัง และภาวะพังผืดที่ปอด จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดมากขึ้น

ทางการแพทย์ได้ออกมาเตือน และห่วงใย สำหรับกลุ่มเด็กเล็ก และผู้ใหญ่ที่เป็นโรคภูมิแพ้ ต้องระวัง PM 2.5 เป็นพิเศษเลยนะคะ

สำหรับกลุ่มเด็กเล็กที่เป็นโรคภูมิแพ้

ชนิดแพ้ฝุ่นละอองนั้น เป็นกลุ่มที่ต้องเพิ่มความระวังเป็นเท่าตัว โดยการใส่หน้ากากอนามัยกันฝุ่น PM 2.5 สำหรับเด็ก และให้เด็กเลี่ยงทำกิจกรรมกลางแจ้งทุกชนิด ที่สำคัญไม่แนะนำให้ผู้ปกครอง ใส่หน้ากากอนามัยแบบธรรมดาให้บุตรหลาน โดยเฉพาะลูกหลานที่เป็นโรคภูมิแพ้ฝุ่นละออง เพราะจะไม่เพียงพอต่อการป้องกันฝุ่นพิษจิ๋วในเด็กนั่นเองค่ะ

ในส่วนของผู้ใหญ่ที่เป็นโรคภูมิแพ้

ก็แนะนำให้ทำมาตรการเดียวกัน คือให้ใส่หน้ากากอนามัยกันฝุ่น PM 2.5 และคอยติดตามข่าวสารว่าเขตไหน หรือจุดไหนมีความเสี่ยงของฝุ่นพิษเยอะ ก็ให้เลี่ยงจุดที่มีฝุ่นพิษอยู่ในปริมาณอากาศจำนวนมาก และงดการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงนี้เช่นกันค่ะหรือออกจากบ้านให้น้อย และใช้ระยะเวลาให้สั้นที่สุดนะคะ

 

จะเห็นได้ว่า ฝุ่น PM2.5 ที่เราทุกคนต้องเผชิญหน้ากับมันในทุกวันนี้ เป็นสาเหตุที่มีความเชื่อมโยงกับการป่วยเป็นมะเร็งปอด และโรคอื่นๆ ที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆเลยนะคะ เพราะฉะนั้นขอให้ทุกคน อย่าได้ประมาทภัยร้ายจากฝุ่นพิษจิ๋ว PM 2.5 นี้กันเด็ดขาดเลยนะคะ เมื่อไหร่ที่ต้องออกจากบ้าน ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่เสมอ และควรหลีกเลี่ยงการไปยังสถานที่ ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงด้วยนะคะ

 

ขอบคุณที่มา : 1. สสส. 2. รพ. เวชธานี 3. thereporters 4.ชีวิตดีดีGetGoodLife