บทความนี้จะมานำเสนอ 3 ขั้นตอน ผ่อนบ้านอย่างไรให้สบายตลอดรอดฝั่งกันค่ะ เมื่อคิดจะกู้เงินซื้อบ้าน ผู้กู้ก็ต้องเตรียมตัวให้ดีทั้งก่อนการกู้เงินกับธนาคารและในระหว่างการผ่อนบ้านด้วยนะคะ หากผ่อนบ้านทั้งที่ตนเองยังไม่พร้อม ก็อาจมีเหตุให้สะดุดในระหว่างการผ่อนได้ หรือที่ร้ายที่สุดคือผ่อนบ้านไม่ไหวจนบ้านถูกยึดในที่สุดนั่นเองค่ะ แต่อย่าเพิ่งกังวลไปนะคะ เพราะคำแนะนำต่อไปนี้จะช่วยให้ผู้กู้ประเมินความพร้อมได้ด้วยตนเอง เพื่อให้มั่นใจว่าผู้กู้สามารถผ่อนได้ ก่อนตัดสินใจกู้ซื้อบ้านเป็นของตนเองอย่างแน่นอนเลยค่ะ จะต้องทำอย่างไรบ้าง ตามมากูพร้อมกันเลยค่ะ

 

3 ขั้นตอน ผ่อนบ้านอย่างไรให้สบายตลอดรอดฝั่ง

 

 

 

ขั้นตอนที่ 1 เช็กความพร้อมก่อนตัดสินใจกู้ซื้อบ้าน

1. ความสม่ำเสมอของรายได้
สิ่งแรกที่ผู้กู้ต้องถามตนเองให้ดีก่อนตัดสินใจกู้ซื้อบ้านนั่นก็คือ การงานของผู้กู้มีความมั่นคงหรือไม่ มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียรายได้มากน้อยเพียงใด หากมีงานที่มั่นคง ทำงานมาแล้วนานนับปี มีความก้าวหน้าในอาชีพ และมีแนวโน้มรายได้ที่สูงขึ้น จึงค่อยตัดสินใจกู้ซื้อบ้านจะดีที่สุด

2. หนี้สินและภาระค่าใช้จ่าย
หนี้สินและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของผู้กู้ถือเป็นภาระสำคัญที่จะทำให้ความสามารถในการผ่อนบ้านลดน้อยลง ผู้กู้จึงต้องลดรายจ่ายในกลุ่มนี้ให้น้อยที่สุดก่อนการกู้ซื้อบ้าน หากผู้กู้ไม่มีหนี้สิน ผู้กู้ก็จะมีเงินเก็บ และมีประวัติทางการเงินที่ดี ซึ่งง่ายต่อการกู้บ้านมากกว่าคนที่มีภาระหนี้สิน

3. ความสามารถในการผ่อน
ผู้กู้สามารถตรวจสอบความสามารถในการผ่อนบ้านได้ด้วยตนเอง โดยใช้รายได้ของผู้กู้มาคำนวณผ่านเครื่องมือช่วยคำนวณการผ่อนบ้าน ซึ่งจะทำให้ผู้กู้ทราบว่ารายได้ของตนเองจะผ่อนบ้านได้เดือนละกี่บาท และจะเหมาะกับบ้านราคาเท่าไร เพื่อเลือกบ้านที่เหมาะสมกับรายได้ของตนเอง

 

ขั้นตอนที่ 2 เตรียมตัวก่อนจะขอกู้และผ่อนบ้าน

1. สุขภาพทางการเงินต้องดี
ก่อนขอกู้ซื้อบ้านกับธนาคาร ผู้กู้ต้องมีวินัยทางการเงินเป็นอย่างมากด้วยการสร้างเครดิตทางการเงินที่ดี เช่น จ่ายบัตรเครดิตตรงเวลาและจ่ายเต็มทุกรอบ ไม่มีประวัติการเบี้ยวหนี้จนมีประวัติผิดนัดชำระหนี้อยู่ในเครดิตบูโร หรือโดนฟ้องร้องจนล้มละลาย หรือไม่มีหนี้สินค้างชำระก้อนใหญ่ เช่น การผ่อนรถ ที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการผ่อนบ้าน

2. มีเงินเก็บและเงินดาวน์บ้าน
ผู้กู้ควรต้องมีเงินดาวน์บ้านขั้นต่ำ 10% ของราคาบ้านที่จะซื้อ (แม้บางกรณีจะไม่ต้องวางเงินดาวน์จากมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ Loan-to-Value: LTV) และยังไม่รวมถึงเงินเก็บสำหรับการตกแต่งต่อเติมบ้าน และเงินเผื่อสำหรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในวันโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งอาจมีบางส่วนที่ผู้กู้ต้องชำระเอง เช่น ค่าโอนกรรมสิทธิ์ และค่าจดจำนอง

3. เงินผ่อนบ้านต้องเพียงพอ
การผ่อนบ้านนั้นใช้ระยะเวลานานหลายปี ผู้กู้จึงต้องแน่ใจว่ามีรายได้เพียงพอต่อการผ่อนบ้านในแต่ละเดือน โดยเงินผ่อนบ้านสามารถคิดคร่าว ๆ ได้ล้านละ 7,000 บาทต่อเดือน แต่เงินผ่อนบ้านรวมกับหนี้สินทั้งหมดต้องไม่เกิน 40% จากรายได้ของผู้กู้ ซึ่งเป็นเพดานหนี้สินที่ธนาคารส่วนใหญ่จะยอมรับได้

 

ขั้นตอนที่ 3 ระหว่างการผ่อนบ้าน

1. รักษาวินัยทางการเงินให้ดี
แม้จะสินเชื่อจะผ่านการอนุมัติและอยู่ในระหว่างการผ่อนบ้านแล้ว แต่วินัยทางการเงินยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้กู้ต้องรักษาไว้ โดยเฉพาะการผ่อนบ้านให้ตรงเวลาทุกเดือน และไม่สร้างหนี้สินเพิ่มในระหว่างการผ่อนบ้าน แต่ถ้าหากเป็นไปได้ ผู้กู้ก็ควรมีเงินเก็บสำรองเพื่อใช้ผ่อนบ้านเมื่อขาดรายได้อย่างน้อย 3-6 เดือนด้วย

2. พยายามผ่อนบ้านให้หมดไวขึ้น
ผู้กู้สามารถใช้เทคนิคต่าง ๆ เพื่อผ่อนบ้านให้หมดไวขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรีเทนชั่นบ้านกับธนาคารเดิม หรือรีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคารอื่นเพื่อลดดอกเบี้ยจากการผ่อนให้ต่ำลง หรือจะใช้วิธีผ่อนบ้านเกินทุกงวดเพื่อลดเงินต้นให้หมดเร็วขึ้นก็ได้ ซึ่งวิธีเหล่านี้จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยในภาพรวมได้เป็นอย่างมาก

3. หาทางออกเมื่อผ่อนบ้านไม่ไหว
หากผู้กู้มีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้เกิดปัญหาทางการเงิน ก็ยังมีวิธีที่ช่วยบรรเทาภาระหนี้บ้านให้ผู้กู้ได้ เช่น การหารายได้อื่น ๆ มาทดแทน แต่ถ้าการหารายได้เพิ่มยังไม่ใช่ทางออกที่ดี การรีไฟแนนซ์เพื่อยืดระยะเวลาผ่อนบ้าน หรือขอประนอมหนี้กับธนาคาร ก็เป็นทางออกที่อาจจะช่วยกู้สถานการณ์ที่เลวร้ายให้ดีขึ้นได้

หากผู้กู้สามารถเตรียมตัวและปฏิบัติตนตามคำแนะนำเหล่านี้ได้ทุกข้อ โดยเฉพาะการเลือกบ้านให้เหมาะสมกับรายได้ของตนเอง และมีวินัยทางการเงินที่ดีอยู่เสมอ ผู้กู้ก็จะผ่อนบ้านได้อย่างสบายใจ ผ่อนบ้านหมดไว และโอกาสที่จะผ่อนบ้านไม่ไหวจนถูกยึดบ้านก็จะยิ่งลดน้อยลงอย่างแน่นอนค่ะ

 

ที่มา : DDproperty Editorial Team