ในยุคปัจจุบันนี้ การเดินทางด้วยเครื่องบิน ถือว่าเป็นวิธีที่สะดวกสบาย และรวดเร็วที่สุก็ว่าได้นะคะ ราคาตั๋วเครื่องบินก็ไม่ได้สูงมากเกินไป ทำให้หลายคนหันมาเดินทางด้วยเครื่องบินกันมากขึ้นนั่นเองค่ะ แต่ก็มีสิ่งที่อาจจะถูกมองข้ามนั่นก็คือ เรื่องของการมีโรคประจำตัว หรืออาการต่างๆ ที่อาจทำให้อาจเกิดอันตรายระหว่างการเดินทางได้นั่นเองค่ะ ยิ่งถ้าต้องเป็นการเดินทางระยะไกล คือบินข้ามประเทศ บินข้ามทวีปด้วยแล้ว ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังกันให้มากกว่าปกติค่ะ

 

 

จากรายงานการศึกษาของ WHO พบว่า ความเสี่ยงของภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำจะ เพิ่มขึ้น 2 ถึง 3 เท่า หลังจากโดยสารเที่ยวบินระยะไกลนานกว่า 4 ชั่วโมงเลยนะคะ และนอกจากผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวแล้ว  คุณแม่ตั้งครรภ์  ทารก และผู้ที่เพิ่งดำน้ำ ก็จัดอยู่ในบุคคลที่ต้องระวังในการโดยสารเครื่องบินด้วยเช่นกันค่ะ

การเดินทางโดยเครื่องบินเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย  ปัญหาเรื่องความเจ็บป่วยของผู้โดยสารก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อต้องบินระยะไกลข้ามทวีป
แม้ปัจจุบันเครื่องบินส่วนใหญ่มีระบบหมุนเวียนอากาศ สามารถหมุนเวียนอากาศในห้องโดยสารได้ถึง 50%   มีการระบายอากาศประมาณ 20–30 ครั้งต่อชั่วโมง  โดยอากาศหมุนเวียนจะถูกส่งผ่านแผ่นกรองอากาศแบบอนุภาคประสิทธิภาพสูง (HEPA) ชนิดเดียวกับที่ใช้ในห้องผ่าตัดของโรงพยาบาล  เพื่อดักจับอนุภาคฝุ่น แบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัส แต่ด้วยปัจจัยอื่นๆ ก็อาจส่งผลต่อโรคประจำตัวบางประเภทได้อยู่นั่นเองค่ะ
ดังนั้นบทความนี้ จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับ 14 โรค ที่ผู้ป่วยควรระวังเมื่อต้องเดินทางด้วยเครื่องบินเป็นเวลานานนะคะ จะมีโรคไหนบ้างตามมาดูไปพร้อมกันเลยค่ะ

14 โรค ที่ควรระวังเมื่อต้องเดินทางด้วยเครื่องบินเป็นเวลานาน

 

1. โรคหัวใจ

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary heart disease)  หรือโรคหัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure) ควรตรวจร่างกาย โดยไม่มีอาการเจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย หรือไม่มีหัวใจเต้นผิดปกติ อย่างน้อย 6 สัปดาห์ ก่อนโดยสารเครื่องบิน  หากมีความจำเป็นสามารถเดินทางหลังมีอาการ 2-3 สัปดาห์  แต่ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ และต้องแจ้งสายการบิน เพื่อเตรียมเครื่องมือในกรณีจำเป็น

2. ผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery bypass grafting)

เนื่องจากการผ่าตัดอาจเกิดอากาศในโพรงช่องหน้าอก จึงควรรอให้อากาศถูกดูดซึมไปหมดก่อน หรือภายใน 2 สัปดาห์ภายหลังผ่าตัด  และควรเตรียมยาไว้ในกระเป๋าถือขึ้นเครื่อง ให้เพียงพอในการเดินทาง  ทั้งนี้ควรเขียนรายละอียด และวิธีใช้ยาแต่ละชนิดเก็บไว้เผื่อจำเป็นต้องซื้อใหม่ กรณียาสูญหาย

3. โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)

ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง สามารถขึ้นเครื่องบินได้ โดยควบคุมความดันโลหิตด้วยการรับประทานยา และควรเตรียมยาให้พร้อม และเพียงพอกับระยะเวลาเดินทาง

4. โรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Venous thrombosis)

แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Deep Vein Thrombosis) มักเกิดขึ้นบริเวณขา และภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด (Pulmonary Embolism) เกิดขึ้นเมื่อลิ่มเลือดที่อุดกั้น หลุดไปตามกระแสเลือด และไปอุดตันบริเวณหลอดเลือดดำในปอด ซึ่งผู้โดยสารเครื่องบินมักประสบปัญหา ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำภายในกล้ามเนื้อน่อง จากการศึกษาของ WHO พบว่าความเสี่ยงของภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ เพิ่มขึ้น 2 ถึง 3 เท่าหลังจากโดยสารเที่ยวบินระยะไกลนานกว่า 4 ชั่วโมง

5. โรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ(Asthma)

กรณีอาการรุนแรงไม่สามารถควบคุมได้ หรือเพิ่งออกจากโรงพยาบาล  ควรงดการเดินทางด้วยเครื่องบิน  หากอาการไม่รุนแรง ควรมียาติดตัวขึ้นเครื่องไปด้วยโดยเฉพาะยาชนิดพ่น

6. โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease)

ผู้ป่วยมักมีอาการเมื่ออยู่ในภาวะพร่องออกซิเจน  ดังนั้นจึงควรพกยาขยายหลอดลม และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ เพื่อเตรียมอุปกรณ์กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

7. โรคลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอด (Pneumothorax)

 

คือภาวะที่มีลมค้างในช่องเยื่อหุ้มปอด ส่งผลให้กระบวนการหายใจผิดปกติ หากมีความจำเป็นต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน  ควรพบแพทย์เพื่อใส่ท่อระบายลมออกจากปอด หลังจากนั้น ต้องรอให้ปอดขยายตัวเต็มที่อย่างน้อย 7 วัน โดยการเอกซเรย์ปอด หรือ คอมพิวเตอร์เอกซเรย์ ก่อนเดินทาง

8. โรคติดเชื้อ (Infectious disease)

 

สามารถแพร่เชื้อหรือติดต่อไปยังผู้อื่น ห้ามเดินทางโดยเครื่องบิน  เนื่องจากการแพร่เชื้ออาจเกิดขึ้นระหว่างผู้โดยสาร ที่นั่งอยู่ในพื้นที่เดียวกันของเครื่องบิน ซึ่งมักเกิดจากการไอ หรือจามของบุคคลที่ติดเชื้อ หรือโดยการสัมผัส  เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ ผู้ป่วยควรชะลอการเดินทางจนกว่าจะหายดี

9. โรคหลอดเลือดสมอง (Cerebrovascular disease)

ภาวะต่างๆ ที่ส่งผลต่อการส่งเลือดไปเลี้ยงสมอง ได้แก่  ภาวะสมองขาดเลือดชั่วขณะ (Transient ischemic attack) ภาวะเลือดออกในสมอง (Intracerebral hemorrhage) และภาวะหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือแตก (Stroke) ซึ่งส่งผลให้เซลล์สมองได้รับออกซิเจนน้อยลง เมื่อขึ้นเครื่องบินซึ่งมีภาวะพร่องออกซิเจน อาจส่งผลให้อาการกำเริบ ดังนั้นก่อนเดินทางควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับยา รวมถึงข้อควรปฏิบัติขณะอยู่บนเครื่องบิน โดยอาการต้องคงที่อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนเดินทาง

10. โรคโลหิตจาง (Anemia)

ร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ ทำให้นำออกซิเจนไปยังเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ ได้น้อยลง  ซึ่งเสี่ยงอันตรายจากภาวะพร่องออกซิเจนบนเครื่องบิน กรณีมีความเข้มข้ของฮีโมโกลบินต่ำกว่า 10 กรัม/เดซิลิตร ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ และไม่ควรขึ้นเครื่องบินหากค่าฮีโมโกลบินน้อยกว่า 7.5 กรัม/เดซิลิตร

 

11. โรคลมชัก (Epilepsy)

โรคลมชัก มีโอกาสชักได้ง่ายขึ้นในภาวะพร่องออกซิเจน เหนื่อยล้าอ่อนเพลีย วิตกกังวล และการเปลี่ยนแปลงของเวลา ควรพบแพทย์เพื่อเตรียมยาหรืออาจเพิ่มขนาดของยา ขึ้นกับความสามารถในการควบคุมโรค และไม่ควรเดินทางหลังจากชักหมดสติ อย่างน้อย 1 สัปดาห์

 

12. โรคเบาหวาน (Diabetes)

แม้สภาพภายในห้องโดยสารเครื่องบินจะไม่ส่งผลอันตรายต่อผู้ป่วยเบาหวาน แต่การบินข้ามเวลา อาจทำให้ผู้ป่วยสับสนในการรับประทานอาหารและยา  รวมถึงประเภทของอาหารที่อาจส่งผลกระทบต่อโรค ผู้ป่วยควรติดต่อขอให้สายการบินจัดเตรียมอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน และนำยาติดตัวขึ้นเครื่องบิน ทั้งยารับประทาน และยาฉีด พร้อมอุปกรณ์ สำหรับการรับประทานยาให้ยึดเวลาต้นทาง แล้วค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับเวลาใหม่

 

13. ผู้ป่วยผ่าตัด

การผ่าตัดหรือการบาดเจ็บที่อาจมีอากาศหรือก๊าซหลงเหลืออยู่  เช่น การผ่าตัดช่องท้องและทางเดินอาหาร การผ่าตัดกะโหลกศีรษะและใบหน้า รวมถึงการผ่าตัดตาที่เกี่ยวข้องกับลูกตา  ผู้ป่วยที่เพิ่งผ่านการผ่าตัด ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษา ว่าควรรอนานแค่ไหนก่อนที่จะเดินทางด้วยเครื่องบิน

14. โรคทางจิตเวช (Psychiatric disorders)

ก่อนเดินทางด้วยเครื่องบินต้องได้รับคำรับรองจากแพทย์ผู้ทำการรักษาว่าอาการสงบ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและผู้โดยสารอื่น ๆ  แพทย์อาจสั่งยาระงับประสาท หรือยานอนหลับ สำหรับใช้ระหว่างการเดินทาง

 

การเตรียมตัวขึ้นเครื่องบินระยะไกลสำหรับผู้ป่วย

– ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ควรพบแพทย์ก่อนเดินทาง  และเตรียมยาประจำตัวพกพาในกระเป๋าที่ถือขึ้นเครื่องบิน กรณี  ใช้ข้อเทียม ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ หรือต้องมีเครื่องมือแพทย์ขึ้นเครื่อง ต้องมีใบรับรองแพทย์ติดตัว

– ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาตามตารางเวลาที่เข้มงวด เช่น อินซูลินหรือยาคุมกำเนิด ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ ก่อนการเดินทาง

– ผู้พิการที่ต้องได้รับความช่วยเหลือระหว่างอยู่บนเครื่องควรมีผู้ร่วมเดินทางด้วย และแจ้งต่อสายการบินล่วงหน้า

– ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาที่มีอาการคงที่ หรืออาจมีอาการทรุดลงระหว่างเดินทางต้องยื่นเอกสารขออนุมัติการเดินทางกับสายการบิน (MEDIF หรือ Medical Information Form) ก่อนจองที่นั่ง และควรระบุปริมาณออกซิเจนที่ต้องใช้บนเครื่องบิน รวมถึงหากต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเหลืออื่นๆ

– เด็กแรกเกิดอายุต่ำกว่า 7 วัน และเด็กคลอดก่อนกำหนดต้องยื่น MEDIF เพื่อขออนุมัติการเดินทาง

– สตรีมีครรภ์ที่ไม่มีปัญหาสุขภาพ  อายุครรภ์เกิน 28  สัปดาห์ต้องมีใบรับรองแพทย์บอกกำหนดการคลอด และรับรองความปลอดภัยในการเดิน และไม่ได้รับการอนุมัติให้ขึ้นเครื่องบินเมื่ออายุครรภ์เกิน 36 สัปดาห์

 

 

การเดินทางโดยเครื่องบิน อาจจะมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้ป่วย หรือมีเงื่อนไขทางการแพทย์   อาจส่งผลต่อความปลอดภัย และความสะดวกสบายในการเดินทางเหิดขึ้นได้นะคะ ดังนั้นผู้ป่วยโรคประจำตัว สตรีมีครรภ์ ทารกแรกเกิด และผู้ที่เพิ่งผ่านการดำน้ำมา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำความเข้าใจ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินทางด้วยเครื่องบิน  ทั้งนี้นโยบายของสายการบินก็จะแตกต่างกันไป เพราะฉะนั้น ควรตรวจสอบข้อกำหนดต่างๆเสมอ ก่อนทำการจองเที่ยวบิน รวมถึงหาวิธีที่จะทำให้การเดินทางให้ปลอดภัย และสะดวกสบายสำหรับตนเอง ผู้โดยสารอื่นๆ และลูกเรือด้วยนะคะ

ที่มา : https://www.samitivejhospitals.com