บทความนี้จะมานำเสนอ 10 อันดับคณะยอดฮิต ที่เด็กรุ่นใหม่อยากเรียน รวมทั้งแนะนำคณะ และสาขาวิชาที่ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ที่เรียนจบแล้วรับรองว่าเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างแน่นอนเลยนะคะ ตามมาดูพร้อมกันเลยค่ะ ว่าจะมีคณะอะไรกันบ้าง

 

10 อันดับคณะยอดฮิต ที่เด็กรุ่นใหม่อยากเรียน

 

 

1. คณะแพทยศาสตร์

คณะแรกนี้ได้รับความนิยมมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน นั่นก็คือ คณะแพทยศาสตร์ นั่นเองค่ะ เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาคนไข้จากอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ซึ่งแน่นอนว่า มนุษย์ทุกยุคสมัยยังไงก็หนีไม่พ้นการเจ็บป่วย เพราะฉะนั้นแล้ววิชาชีพแพทย์เรียนจบแล้วมีงานทอย่างเดียวำแน่นอนค่ะ

โดยคณะแพทยศาสตร์นั้น จะเป็นการเรียนเกี่ยวกับศาสตร์ด้านการแพทย์ ใช้เวลาในการเรียน 6 ปี ในปีแรกก็จะเรียนวิชาพื้นฐานอย่าง เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยาที่มุ่งเน้นไปทางแพทย์ ในปีต่อ ๆ ไปก็จะเริ่มเจาะลึกไปทางศาสตร์ด้านการแพทย์มากขึ้น เพื่อนำไปสู่แพทย์เฉพาะทางในด้านต่าง ๆ เช่น อายุรศาสตร์ จักษุศาสตร์ นรีเวชศาสตร์ ศัลยศาสตร์ค่ะ หลังจากที่มีการเรียนพื้นฐานที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ในปี 2-3 ก็จะเข้าสู่การเรียนเนื้อหาของแพทย์ โครงสร้างร่างกาย หรือจะเรียกว่า Pre-Clinic จากนั้นในปี 4-5 ก็จะเรียนรู้การปฏิบัติในโรงพยาบาล เรียกว่า Clinic และในปีสุดท้าย ก็จะเข้าสู่การปฏิบัติงานในโรงพยาบาลที่เรียกว่า Extern ค่ะ

หลังจากที่เรียนจบ ขึ้นอยู่กับว่าเรียนแพทย์จากมหาวิทยาลัยรัฐหรือเอกชน ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยรัฐ จะต้องเริ่มต้นจากการเป็นแพทย์ใช้ทุนหรือที่เรียกว่า Intern ประมาณ 3 ปีค่ะ เป็นแพทย์ทั่วไป หากได้ไปเรียนต่อในสาขาเฉพาะทาง เช่น จักษุศาสตร์ จิตเวชศาสตร์ก็จะเป็นแพทย์ที่เรียกว่า แพทย์ประจำบ้านนั่นเองค่ะ

โดยคณะแพทยศาสตร์นั้น เปิดสอนในมหาวิทยาลัยรัฐ และเอกชนเกือบทุกแห่ง ยกตัวอย่าง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ถือว่าเป็นคณะแพทย์ที่ได้รับความนิยมและได้รับการยอมรับมากที่สุดค่ะ

2. คณะสหเวชศาสตร์

เป็นคณะที่เกี่ยวกับการทางการแพทย์เช่นกันค่ะ คือ คณะสหเวชศาสตร์ หรือที่หลาย ๆ คนรู้จักในชื่อ คณะเทคนิคการแพทย์ เป็นการปฏิบัติงานในห้องแล็บเพื่อตรวจสอบและวินิจฉัยสิ่งต่าง ๆ จากร่างกายมนุษย์ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งถือว่าเป็นเป็นองค์ประกอบสำคัญในการรักษาคนไข้จากอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ที่ไม่สามารถขาดได้ค่ะ

โดยคณะสหเวชศาสตร์เป็นการเรียนเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือทดสอบผลจากสิ่งต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ จะเรียนอยู่ 4 ปี ในปีแรกก็เรียนพวกวิทยาศาสตร์พื้นฐานเหมือนคณะแพทยศาสตร์ค่ะ ในปีที่ 2 จะลงลึกไปที่พวกโลหิตวิทยา เพราะงานหลัก ๆ ก็เป็นการตรวจเลือดนั่นเอง นอกจากนี้จะมีพยาธิวิทยา จุลชีววิทยา และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องค่ะ ส่วนปี 3 จะได้เรียนปฏิบัติในแล็บของสถานที่เรียน ส่วนปีสุดท้ายก็จะมีการฝึกงานในห้องแล็บของโรงพยาบาล โดยอาจจะมีการทำวิจัยด้วยค่ะ
หลัก ๆ เลย จบมาแล้วสามารถประกอบอาชีพนักเทคนิคการแพทย์ค่ะ ทำงานอยู่ในห้องแล็บของโรงพยาบาล หรืออาจจะผันตัวไปเป็นเซลล์ขายอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ก็ได้ค่ะ เพราะในการเรียนคณะนี้ก็ต้องเรียนเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือทางการแพทย์อยู่แล้วนั่นเองค่ะ

คณะสหเวชศาสตร์ เปิดสอนในมหาวิทยาลัยรัฐหลายแห่ง ยกตัวอย่าง คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บางแห่งอาจใช้ชื่อว่าคณะเทคนิคการแพทย์ ยกตัวอย่าง คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ค่ะ

3. คณะวิทยาศาสตร์

ก็ยังคงเป็นศาสตร์ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง คณะวิทยาศาสตร์ มาพร้อมกับสาขาย่อยหลายแขนงให้ได้เลือก ทั้งคณิต ฟิสิกส์ ชีววิทยา เคมี วัสดุ สถิติ และอื่น ๆ ที่เรียนไปแล้วสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับอะไรได้หลาย ๆ อาชีพค่ะ

คณะวิทยาศาสตร์เป็นการเรียนที่ใช้หลักการตั้งสมมติฐาน การทดลอง และแสดงผลเชิงปริมาณ จะเรียนอยู่ 4 ปีค่ะ โดยปีแรกก็จะเรียนพวกวิทยาศาสตร์พื้นฐานอย่างฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ เมื่อเข้าสู่ปี 2 และ 3 จะแยกไปตามแขนงย่อยของวิทยาศาสตร์ อย่างสาขาสิ่งแวดล้อมก็จะเรียนเกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งดิน น้ำ อากาศ และวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโดยตรง ส่วนปี 4 ก็จะมีการฝึกงานตามหน่วยงานต่าง ๆ และมีการทำวิจัย (ขึ้นอยู่กับแต่ละมหาวิทยาลัย)

อย่างที่บอกไปว่าคณะวิทยาศาสตร์นั้นมีสาขาย่อยที่หลากหลาย คนที่เรียนจบคณะนี้สามารถเป็นนักวิทยาศาสตร์ ครู อาจารย์วิชาวิทยาศาสตร์ นักวิจัยในสาขาต่าง ๆ สังกัดหน่วยงาน หรือทำงานทางด้านธุรกิจ โรงงานอุตสาหกรรมในตำแหน่งที่ต้องใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ค่ะ

คณะวิทยาศาสตร์ เปิดสอนในมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนหลายแห่ง ยกตัวอย่าง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บางแห่งใช้ชื่อแตกต่างไปจากที่กล่าวมาหรือได้นำศาสตร์ที่ใกล้เคียงเข้ามารวมในชื่อด้วย ยกตัวอย่าง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

4. คณะวิศวกรรมศาสตร์

จากคณะวิทยาศาสตร์ ที่เป็นการคิดค้นทฤษฎีและแนวคิด สู่คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นคณะที่นำเอาวิทยาศาสตร์มาประยุกต์เป็นเทคโนโลยีที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ประกอบไปด้วยหลายแขนงย่อย เช่น วิศวกรรมเครื่องกล ไฟฟ้า ชีวการแพทย์ คอมพิวเตอร์ ขนส่งและโลจิสติกส์ ความรู้ทางวิศวกรรมเป็นที่ต้องการของหลายภาคส่วน ทั้งทางอุตสาหกรรม การก่อสร้าง การแพทย์ ดนตรีและความบันเทิง และอื่น ๆ อีกมากมายค่ะ

คณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นการเรียนวิทยาศาสตร์แบบประยุกต์ จะเรียนอยู่ 4 ปีเช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์ ในปีแรกก็จะเรียนพื้นฐานวิทยาศาสตร์ เน้นไปที่ฟิสิกส์ กลศาสตร์ เคมี คณิตศาสตร์ แคลคูลัส ต่อมาในปี 2 และ 3 ก็จะเริ่มเรียนในแขนงที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่าง วิศวกรรมโยธา ที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง ก็จะเรียนทฤษฎีโครงสร้าง เทคโนโลยีการก่อสร้าง วิเคราะห์โครงสร้าง ปฐพีกลศาสตร์ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนปี 4 จะเป็นการฝึกงานและทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่เรียนค่ะ

เมื่อเรียนจบแล้ว สามารถประกอบได้หลากหลายตามสาขาย่อยที่เรียน อย่างวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สามารถเป็นวิศวกรระบบ วิศวกรรมโยธา เป็นวิศวกรออกแบบโครงสร้าง วิศวกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ เป็นวิศวกรประจำสินค้า โดยหลัก ๆ ก็คือเป็นวิศวกรนั่นเอง แต่ต่อท้ายด้วยสาขาที่เราเรียนมาค่ะ

คณะวิศวกรรมศาสตร์ เปิดสอนในมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนหลายแห่ง รวมไปถึงสถาบัน วิทยาลัยด้วยค่ะ ยกตัวอย่าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่มีชื่อเสียงในด้านของวิศวกรรมศาสตร์มาก ๆ ค่ะ

5. คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ

สำหรับคณะนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งอยู่รวมกับคณะวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์เลยนะคะ แต่ก็มีหลายแห่งที่ได้แยกออกมาเป็นคณะหรือวิทยาลัยโดยเฉพาะ คือ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์และโทรคมนาคมเพื่อการจัดการข้อมูล สำหรับภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแน่นอนว่าในยุคนี้ ทุก ๆ อย่างขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและข้อมูล จึงรับประกันได้ว่าเป็นที่ต้องการของทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงระดับประเทศค่ะ

คณะเทคโนโลยีสารสนเทศเรียนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ จะเรียนอยู่ 4 ปี ในปีแรกก็จะเรียนเกี่ยวกับพื้นฐานของคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี ในปี 2 และ 3 ก็จะได้เรียนในสาขาย่อยที่เลือก ยกตัวอย่าง สาขาเกมและสื่ออินเตอร์แอคทีฟ ก็จะได้เรียนวิชาหลายศาสตร์ผสมผสาน ทั้งการพัฒนาโปรแกรม การออกแบบกราฟิก การออกแบบโครงสร้าง และอื่น ๆ ส่วนปีสุดท้ายก็จะมีการฝึกงานและทำโครงการตามสาขาที่เรียนมาค่ะ เมื่อเรียนจบแล้วสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลายขึ้นอยู่กับสาขาย่อยที่เลือก อย่างสาขาเกมและสื่ออินเตอร์แอคทีฟก็สามารถเป็นนักพัฒนาเกม หรือนักออกแบบ UX/UI ได้ค่ะ

คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ เปิดสอนในมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนบางแห่ง เนื่องจากหลาย ๆ ที่ยังรวมอยู่กับคณะวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์ เป็นคณะที่มีการใช้ชื่อที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ยกตัวอย่าง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ใช้ชื่อว่า วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยพะเยา ใช้ชื่อว่า คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ใช้ชื่อว่า คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม

6. คณะอุตสาหกรรมเกษตร

คณะอุตสาหกรรมเกษตร เป็นการนำเอาผลผลิตทางการเกษตรมาเข้าสู่กระบวนการทางอุตสาหกรรม ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างสรรค์สินค้าที่ต่อยอดทางเศรษฐกิจได้ ตราบใดที่มนุษย์ยังมีความต้องการผลผลิตทางการเกษตรทั้งการกิน การรักษา การเสริมสร้างร่างกาย และอื่น ๆ ในจำนวนมหาศาล และมีการพัฒนาต่อยอดไปสู่รูปแบบที่ดีกว่า วิชาชีพจึงเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่องค่ะ

คณะอุตสาหกรรมเกษตรก็จะเรียนเกี่ยวกับการใช้นวัตกรรมในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรค่ะ จะเรียนอยู่ 4 ปี ในปีแรกก็เรียนวิชาพื้นฐานทั่ว ๆ ไป เน้นไปทีเคมี เทคโนโลยีชีวภาพ ส่วนปี 2-3 ก็จะเรียนเจาะลึกไปตามสาขาย่อย ยกตัวอย่างสาขาเทคโนโลยีอาหาร ก็จะเรียนเกี่ยวกับมาตรฐานและกฎหมายอาหาร การประกันคุณภาพอาหาร การสร้างผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ และในปีสุดท้ายก็จะได้ฝึกงานในสถานประกอบการตามสาขาของเราค่ะ เมื่อเรียนจบแล้วสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับสาขาย่อยที่เราเรียนค่ะ เช่น เรียนทางเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ สามารถเป็นนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ค่ะ

คณะอุตสาหกรรมเกษตร เปิดสอนในมหาวิทยาลัยรัฐบางแห่ง ยกตัวอย่าง สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

7. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

มาดูคณะในสาขาทางสังคมศาสตร์กันบ้างค่ะ แน่นอนว่า จะต้องมีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์อยู่ในอันดับด้วย ถือว่าเป็นคณะที่เก่าแก่ เรียนเกี่ยวกับเรื่องราวของมนุษย์ในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งด้านวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ ประวัติศาสตร์ ภาษาและการสื่อสาร โบราณคดี ซึ่งจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยค่ะ ด้วยความที่มีศาสตร์หลากหลาย และเกี่ยวข้องกับมนุษย์อย่างเจาะลึก ทำให้คณะนี้ได้รับความนิยมสำหรับเด็กสายศิลป์อย่างมากเลยทีเดียวค่ะ

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ บางแห่งอาจจะแยกเป็น คณะมนุษยศาสตร์ และคณะสังคมศาสตร์ หลัก ๆ ก็คือเรียนเกี่ยวกับมนุษย์และสังคมนั่นเอง จะเรียนอยู่ 4 ปี โดยปีแรกก็จะเรียนวิชาพื้นฐานเช่นเดียวกับคณะอื่น แต่จะมุ่งเน้นไปที่วิชาทางสังคม ภาษาอังกฤษ และภาษาที่สาม ในกรณีที่เรียนสาขาภาษา ส่วนในปี 2-3 ก็จะเจาะลึกไปที่วิชาตามแขนงย่อยที่เราเลือกค่ะ อย่างสาขาประวัติศาสตร์ ก็จะเรียนเจาะลึกประวัติศาสตร์ทั้งโลกตะวันออกและตะวันตก ยุโรป อเมริกา ประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคสมัย ประวัติศาสตร์โลกใหม่ สงครามโลก หรือสาขาทางภาษา ก็จะเรียนเกี่ยวกับหลักการทางภาษา ไวยากรณ์ ทักษะทางภาษาวิเคราะห์วรรณกรรม และในปีสุดท้ายก็จะมีการฝึกงานและทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับที่เรียนมาค่ะ เมื่อเรียนจบแล้วสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลายมากมายเลย จะเป็นอาชีพที่ตรงกับสาขาเป๊ะ ๆ เช่น เรียนสาขาภาษา ก็เป็นครูสอนภาษา หรือจะข้ามสาขาไปเลยก็ได้ค่ะ เช่น เลขานุการ เพราะว่าความรู้ทางสายนี้สามารถประยุกต์ให้เข้ากับหลาย ๆ อาชีพได้ค่ะ

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เปิดสอนในมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนทุกแห่งเลยก็ว่าได้ค่ะ ยกตัวอย่าง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บางแห่งจะใช้ชื่อที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะใช้ชื่อ อักษรศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะใช้ชื่อว่า คณะศิลปศาสตร์ และอย่างที่บอกไปบางแห่งจะแยกเป็น 2 คณะ ยกตัวอย่าง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะมีคณะมนุษยศาสตร์และคณะสังคมศาสตร์แยกกันค่ะ

8. คณะบริหารธุรกิจ

คณะบริหารธุรกิจหลัก ๆ เลยก็คือเรียนเกี่ยวกับการจัดการธุรกิจนั่นเอง และมีการแยกย่อยเป็นสาขาต่าง ๆ เช่น การเงิน การตลาด การผลิต การจัดการค่ะ จะเรียนอยู่ 4 ปี ในปีแรกก็จะเรียนพวกวิชาพื้นฐานตามสาขาย่อยก่อน เช่น การตลาดพื้นฐาน ในปี 2-3 ก็จะเจาะลึกไปในสาขาที่เลือก ยกตัวอย่าง สาขาการตลาดก็จะเรียนพวกพฤติกรรมผู้บริโภค หลักการตลาด กลยุทธ์การตลาด เป็นต้น และในปีสุดท้ายก็จะเข้าสู่การฝึกงานในสถานประกอบการและมีการทำวิจัยในสาขาที่เราเรียนค่ะ เมื่อเรียนจบแล้วสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลาย อย่างสาขาการตลาด ก็เป็นนักวิจัยการตลาด นักวางกลยุทธ์ทางการตลาด ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพที่ช่วยพัฒนาธุรกิจให้เติบโตได้ค่ะ

คณะบริหารธุรกิจเปิดสอนในมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนแทบจะทุกแห่ง ยกตัวอย่าง คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีการใช้ชื่อค่อนข้างหลากหลายขึ้นอยู่กับว่าแต่ละที่เน้นด้านใด บางแห่งอาจเพิ่มคำว่า บัญชี เข้ามาด้วย ยกตัวอย่าง คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น บางแห่งใช้ชื่อที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่าง คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

9. คณะนิเทศศาสตร์

ในอดีตคณะนิเทศศาสตร์อาจจะไม่ได้รับความนิยมมากนัก แต่ในปัจจุบัน ภาคอุตสาหกรรมความบันเทิงและสื่อได้เข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมมากขึ้น ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึง รับและส่งสื่อต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งด้านความบันเทิงก็เป็นสิ่งที่ช่วยให้มนุษย์ได้ผ่อนคลายจากการใช้ชีวิตได้เป็นอย่างดี จึงไม่แปลกถ้าคณะนิเทศศาสตร์จะกลายเป็นคณะที่ยังคงได้รับความนิยม แม้ว่ารูปแบบของสื่อจะเปลี่ยนไป แต่การเรียนการสอนในคณะนี้ก็ได้ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยได้เสมอ

คณะนิเทศศาสตร์เรียนเกี่ยวกับการสร้างสรรค์สื่อและสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ จะเรียนอยู่ 4 ปี ในปีแรกจะเรียนวิชาการสื่อสารพื้นฐาน และประเภทสื่อเบื้องต้น ในปี 2-3 จะเรียนแยกไปตามสาขาย่อยที่เลือก ยกตัวอย่าง สาขาภาพยนตร์ ก็จะเรียนเกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์ ทั้งการหาข้อมูล การเรียบเรียงบท การหาพื้นที่ การจัดองค์ประกอบต่าง ๆ สำหรับการถ่ายทำ มุมกล้อง การตัดต่อ ก็คือต้องเรียนรู้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์เลยทีเดียว และระหว่างที่เรียนก็จะต้องสร้างผลงานออกมาจริง ๆ ด้วย และในปีสุดท้ายจะมีการฝึกงานในสถานที่จริงค่ะ เมื่อเรียนจบแล้วสามารถประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับการผลิตสื่อและภาคอุตสาหกรรมบันเทิง ยกตัวอย่าง ผู้ประกาศข่าว นักเขียนบท พิธีกร ผู้กำกับภาพยนตร์ และอื่น ๆ

คณะนิเทศศาสตร์ เปิดสอนในมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนเกือบทุกแห่ง ส่วนมากแล้วจะนิยมใช้ชื่อว่า คณะนิเทศศาสตร์ แต่บางแห่งก็มีการใช้ชื่อที่ต่างออกไป ยกตัวอย่าง คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบางแห่งอาจจะยังรวมอยู่ในคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

10. คณะนิติศาสตร์

คณะสุดท้ายถือว่าเป็นคณะที่เรียนแล้วมีประโยชน์ทั้งกับตนเองและสังคมเป็นอย่างมาก นั่นคือ คณะนิติศาสตร์ค่ะ เพราะในทุกสังคมประเทศย่อมมีกฎหมายที่ครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายขั้นพื้นฐาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายพาณิชย์ การเรียนวิชาชีพกฎหมายสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้กับหลาย ๆ ทาง ทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน การค้า และการประกอบอาชีพต่าง ๆ ค่ะ

คณะนิติศาสตร์เรียนเกี่ยวกับกฎหมายโดยตรง จะเรียนอยู่ 4 ปีค่ะ ปีแรกก็เรียนพื้นฐานวิชาทางด้านสังคม และความรู้ทางกฎหมาย ส่วนปี 2-3 จะลงลึกในเนื้อหาทางด้านกฎหมายเฉพาะทางมากขึ้น แต่ไม่ได้มีการแบ่งเป็นสาขาย่อยที่ชัดเจนนะคะ สามารถเลือกเรียนในแขนงย่อยที่ต้องการได้ ยกตัวอย่าง กฎหมายแพ่ง ก็จะเรียนเกี่ยวกับกฎหมายทรัพย์ นิติกรรม กฎหมายอาญา ก็เกี่ยวกับการกระทำผิดต่าง ๆ และในปีสุดท้ายก็เรียนพวกหลักวิชาชีพกฎหมาย นิติปรัชญา และมีพวกวิชาที่ต้องปฏิบัติค่ะ
เรียนจบแล้วสามารถทำอาชีพโดยตรง เช่น ทนายความ ผู้พิพากษา อัยการ หรือว่าจะเป็นโดยอ้อมคือ อาจารย์สอนวิชากฎหมาย ที่ปรึกษาด้านกฎหมายค่ะ

คณะนิติศาสตร์ เปิดสอนในมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนหลายแห่ง ทุกแห่งจะใช้ชื่อว่า คณะนิติศาสตร์ เหมือนกันหมดค่ะ (ยกเว้นแม่ฟ้าหลวงที่จะใช้คำว่า สำนักวิชา แทนคณะ) ยกตัวอย่าง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ถือว่ามีชื่อเสียงในด้านนี้ค่ะ