บทความนี้จะมานำเสนอเกี่ยวกับ 10 สิ่งที่ควรทำ และไม่ควรทำ สำหรับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกันนะคะ จะมีอะไรบ้างนั้น พร้อมแล้วตามมาดูกันเลยค่ะ

10 สิ่งที่ควรทำ และไม่ควรทำ สำหรับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ

 

 

1. การช่วยเหลืออาหารสด

เมื่อไปบริจาคอาหารให้ผู้ประสบภัยพิบัติ คนส่วนใหญ่จะบริจาคข้าวกล่องโดยเฉพาะข้าวผัด ขอแนะนำว่าควรงดข้าวกล่อง หรือข้าวที่บรรจุถุงเนื่องจากอาหารบูดง่าย บางครั้งกว่าจะถึงมือผู้รับก็ใช้เวลานาน ข้าวกล่อง/ถุง ควรใช้ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ และต้องมั่นใจว่าจะถึงมือผู้เดือดร้อนก่อนอาหารจะบูด

อาหารสดที่เหมาะสำหรับผู้ได้รับผลกระทบควรเก็บไว้ได้ 1-2 วัน เช่น ข้าวหลาม ขนมข้าวเหนียว ข้าวเหนียวสุก หมูทอด เนื้อทอด ปลาทอด ฯลฯ

สำหรับการรวมกลุ่มไปทำอาหารสดเพื่อแจกผู้ได้รับผลกระทบ ควรทำสำหรับพื้นที่ที่เข้าถึงง่าย และไม่ควรเป็นข้าวผัด เพราะกรณีนี้มักจะหมุนเวียนกันไปทำอาหารให้ผู้ประสบภัยและคนส่วนใหญ่มักจะทำข้าวผัด ทำให้ผู้ประสบภัยต้องกินข้าวผัดทุกมื้อ ดังนั้น ควรเป็นอาหารอย่างอื่นบ้าง

สำหรับผู้ประสบภัย การตั้งครัวกลางโดยผู้ประสบภัย จะสามารถแก้ไขอาหารที่ซ้ำซากจำเจได้

2. การช่วยเหลืออาหารแห้ง

อาหารแห้งที่ควรบริจาคคือ ข้าวสาร และเครื่องเทศต่างๆ สำหรับปรุงอาหาร เช่น พริกแห้ง หอม กระเทียม มะนาว ผักสดที่เก็บได้หลายวัน เช่น แตงกวา ถั่วฝักยาว ฯลฯ รวมทั้งน้ำดื่มสะอาด เครื่องดื่ม และขนมแห้งที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

3. บริจาคอาหารให้คำนึงถึงวัฒนธรรม

ในการบริจาคอาหารทั้งสดและแห้งตามข้อ 1 และ 2 สิ่งที่คนส่วนใหญ่ รวมทั้งศูนย์ที่นำอาหารไปช่วยเหลือไม่ค่อยคำนึงถึงคือ อาหารที่ถูกต้องตามหลักศาสนาของคนในชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น ชุมชนมุสลิม ต้องเป็นอาหารฮาลาล เป็นต้น ประสบการณ์ที่ผ่านมาก็คือ มีการนำบะหมี่สำเร็จรูปประเภทต้มยำหมู หรือเนื้อที่ไม่ใช่อาหารฮาลาลไปให้ชุมชนมุสลิม ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือคนในชุมชนได้ และยังเป็นการซ้ำเติมผู้ประสบภัย

4. ศูนย์รับบริจาคควรถามผู้ประสบภัยพิบัติก่อนรับบริจาค

เมื่อเกิดภัยพิบัติ สิ่งที่ตามมาก็คือ ศูนย์รับบริจาคจำนวนมากตั้งขึ้นมาเพื่อต้องการระดมความช่วยเหลือจากสาธารณะ และคนจำนวนไม่น้อยก็จะบริจาคเสื้อผ้ามือสอง หรืออาจจะเป็นตุ๊กตามือสอง และศูนย์รับบริจาคก็มักจะรับไว้ ความจริงแล้ว เสื้อผ้า หรือตุ๊กตามือสองที่ท่านบริจาคอาจจะไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับผู้ได้รับผลกระทบ และประสบการณ์ที่ผ่านมาก็คือ เสื้อผ้ามือสองที่ได้รับบริจาคมา ศูนย์ก็ไม่รู้ว่าะจัดการอย่างไร

ดังนั้น ศูนย์ควรระบุสิ่งของที่รับบริจาคให้ชัดเจนโดยตรวจสอบจากผู้ประสบภัยก่อน ซึ่งผู้ประสบภัยจะบอกได้ว่าสิ่งขอบรรเทาทุกข์อะไรที่จำเป็นเร่งด่วน เช่น คนที่ประสบภัยพิบัติต้องการ ผ้าห่ม อุปกรณ์ทำอาหาร หวดนึ่งข้าว เป็นต้น

ในกรณีหากพบว่าเสื้อผ้ามีความจำเป็นสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติก็ประกาศรับ และคนที่บริจาคเสื้อผ้ามือสอง ขอให้เป็นเสื้อผ้าที่ไม่เก่าเกินไป และต้องซักให้สะอาดก่อนนำไปบริจาค

กรณีที่มีผู้บริจาคมาบริจาคสิ่งของที่ไม่เป็นที่ต้องการของผู้ประสบภัยพิบัติ ศูนย์ไม่ควรรับไว้ เนื่องจากจะเป็นภาระให้กับศูนย์

5. ให้ความสำคัญกับกลุ่มคนเปราะบาง

เมื่อเกิดภัยพิบัติ กลุ่มคนที่ทุกข์ยากที่สุดคือกลุ่มคนเปราะบาง เช่น ทารก เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ศูนย์รับบริจาคควรตรวจสอบปลายทางว่าคนเปราะบางต้องการสิ่งของบรรเทาทุกข์อะไร เช่น ทารกต้องการนมผงสำหรับเด็กทารก สตรีต้องการผ้าอนามัย เด็กเล็กและผู้สูงอายุต้องการผ้าห่ม

6. ให้ความสำคัญกับปัญหาระดับชุมชน

นอกจากความต้องการส่วนบุคคลแล้ว ศูนย์รับบริจาคควรให้ความสำคัญกับความต้องการของชุมชน เช่น การขาดแคลนน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภคสาร สิ่งที่ขอรับบริจาคจึงควรเป็นสารที่ทำให้น้ำสะอาด

7. จัดระบบการส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์อย่างเป็นระบบ

บ่อยครั้งเราจะพบว่าศูนย์รับบริจาคไม่ส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ถึงผู้ประสบภัย เช่น น้ำท่วมภาคกลางในปี 2554 มีสิ่งของบริจาคจำนวนมากตกค้างที่อาคารของสนามบินดอนเมือง และความจริงก็ถูกเปิดเผยเมื่อน้ำไหลบ่าเข้าท่วมของบริจาคเหล่านั้น

การส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ของศูนย์เมื่อได้รับการบริจาคตามความต้องการของชุมชนแล้ว ให้มีการจัดระบบโดยการแพ็คสิ่งของบรรเทาทุกข์ การเขียนข้างกล่องระบุชนิดของสิ่งของบรรเทาทุกข์ ปริมาณ ผู้ที่ควรได้รับสิ่งของบรรเทาทุกข์ จะทำให้เมื่อสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปถึงปลายทาง ปลายทางสามารถแจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์ได้ทันที

สิ่งที่ศูนย์รับบริจาคต้องระวังก็คือ การที่ศูนย์นำสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปมอบให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกทอด ประสบการณ์ที่ผ่านมาก็คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งจะกระจายสิ่งของไปยังเครือญาติ/เครือข่ายของตนเองเป็นหลัก หรือบางกรณีจะเลือกของบริจาคที่มีคุณภาพไว้แจกเฉพาะเครือญาติ/คนในเครือข่าย ส่วนของคุณภาพต่ำจะนำไปบริจาคให้คนอื่นๆ

ดังนั้น หากเป็นไปได้ ศูนย์ควรกระจายของบรรเทาทุกข์ด้วยตนเอง และกระจายไปยังกลุ่มคนที่เดือดร้อนที่สุดเป็นอันดับแรกก่อน และที่เหลือค่อยกระจายไปยังคนที่เดือดร้อนน้อย อีกทั้งไม่ควรกระจุกที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

8. ระวังการรับบริจาคเงิน

ศูนย์ของคนทั่วไปต้องระมัดระวังในการขอรับบริจาคเงินไม่ให้ผิดกฎหมาย การรับบริจาคเงินควรมีองค์กรที่ถูกกฎหมายรองรับ เช่น ใช้บัญชีขององค์กร/มูลนิธิ มีเป้าหมายชัดเจน และต้องสามารถตรวจสอบได้

สำหรับเงินที่ได้รับการบริจาค สิ่งสำคัญอันดับแรกคือ การนำไปใช้ในการตอบสนองต่อความต้องการเร่งด่วนของผู้ประสบภัยและเน้นไปที่กลุ่มคนเปราะบาง เช่น การซื้อนมผงสำหรับทารก การซื้อผ้าห่มสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ

9. การเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต้องไม่เป็นภาระ

บางคนที่มีจิตใจอยากช่วยเหลือ และมีความสามารถที่จะไปได้ มักจะไม่คิด หรือวางแผนอะไร ทางที่ถูกต้องก็คือ ควรที่จะประสานกับองค์กรที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ และควรเป็นอาสาสมัครภายใต้องค์กรนั้น ซึ่งจะมีการประสานงานกับพื้นที่ และองค์กรอื่นๆ ที่เป็นระบบกว่า มิฉะนั้น การเข้าไปช่วยเหลืออาจทำให้เกิดความยุ่งยาก หรือเป็นภาระ หรือทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น เมื่อเกิดน้ำท่วมภาคกลางในปี 2554 ได้มีผู้ใจดีนำเจ็ตสกีไปวิ่งแถวหมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วมหวังว่าจะช่วยผู้ที่เดือดร้อน แต่การนำเจ็ตสกีไปวิ่งโดยไม่มีความจำเป็นกลับทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน เนื่องจากทำให้เกิดคลื่นใหญ่เข้าซัดบ้านของชาวบ้าน อย่าลืมนะครับว่าในภาวะที่น้ำท่วม น้ำที่เพิ่มสูงขึ้นเพียงไม่กี่เซนติเมตร ก็สร้างความเดือดร้อนเพิ่มขึ้นอีกมาก

10. อย่าลืมสัตว์เลี้ยง

เมื่อเกิดภัยพิบัติ สัตว์เลี้ยงมักจะถูกลืม เช่น หญ้าสำหรับวัวควาย ดังนั้น การบริจาคอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงจึงเป็นสิ่งจำเป็นด้วย เช่น การรับบริจาคหญ้าสำหรับวัวควาย

 

 

 

ที่มา : ผศ. ดร. ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม