ในยุคปัจจุบันนี้ ต้องยอมรับเลยนะคะว่า พวกมิจฉาชีพเยอะมากจริงๆ และคนไทยก็ตกเป็นเหยื่อไม่ใช่น้อยๆเลยนะคะ เห็นได้จากข่าวแต่ละวัน ที่จะมีคนเฒ่าคนแก่ร้องไห้เสียใจ เพราะถูกหลอกโอนเงินให้กับแก๊งมิจฉาชีพ สูญเสียเงินที่สะสมมาทั้งชีวิต แม้แต่คนวัยทำงาน เด็กและเยาวชนก็มีข่าวถูกหลอกลวงไม่เว้นแต่ละวันกันเลยค่ะ และส่วนใหญ่เงินที่สูญเสียไปนั้น จะไม่สามารถเรียกร้องคืนจากธนาคารเจ้าของบัญชีได้ ทำให้บางคนถึงขนาดคิดสั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไปกันเลยค่ะ ทุกคนจึงมีคำถามนี้ขึ้นมาในหัวอยู่เสมอว่า หากเราถูกหลอกโอนเงินให้มิจฉาชีพ จะมีโอกาสได้เงินคืนหรือไม่ มาดูคำตอบกันค่ะ

 

โอนเงินให้มิจฉาชีพจะมีโอกาสได้เงินคืนหรือไม่

 

 

– หากผู้เสียหายพิสูจน์ได้ว่า เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากระบบของธนาคาร เช่น การถูกแฮ็กเข้ามาโอนเงิน หรือสุ่มเลขบัตร หรือบัญชีในการโอนเงินออก (BIN Attack) ธนาคารจะต้องโอนเงินคืนให้ลูกค้าภายใน 5 วันหลังตรวจพบ

– ส่วนการโอนเงินจากการถูกหลอกลวงนั้น ก็จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า เกิดจากระบบการโอนเงิน ไม่ใช่การยินยอมของลูกค้าให้เกิดการโอนเงินเช่นกัน ธนาคารจึงจะชดใช้เงินที่เสียหายให้ ยกตัวอย่างเช่น : เหตุการณ์ข่าวมิจฉาชีพอ้างตัวเป็นบริษัทขนส่งพัสดุ ติดต่อขอชดใช้ค่าเสียหาย 1,000 บาท หลังทำเอกสารชำรุด และให้ดาวน์โหลดแอปเพื่อจะคืนเงิน แต่หลังจากดาวน์โหลดแอปแล้ว โทรศัพท์ก็มืดไม่สามารถใช้งานได้ มีเพียงช่องให้สแกนใบหน้า ก่อนหน้าจอจะดับลงไปนานราว 10 นาที และพบว่าเงินถูกโอนออกจากบัญชีทั้งหมดกว่า 1.1 ล้านบาท นั้น ธนาคารขอชี้แจงว่า ข่าวดังกล่าวไม่ใช่กรณีแอปดูดเงิน แต่เป็นการโอนเงินผ่านการสแกน QR พร้อมเพย์ ซึ่งคนร้ายหลอกว่าเป็น QR รับเงิน  แต่ความจริงแล้วเป็น QR จ่ายเงิน ผู้เสียหายดำเนินการตามขั้นตอน โดยเป็นผู้ใส่รหัส สแกนหน้า และโอนเงิน พร้อมยืนยันรายการด้วยตนเองเป็นจำนวน 2 รายการ เท่ากับว่าลูกค้าซึ่งเป็นเหยื่อเป็นคนยินยอมเอง

 

 

ส่วนกรณีที่ถูกหลอกลวงไปแล้ว แจ้งความดำเนินคดีแล้ว มีโอกาสที่จะได้เงินคืนหรือไม่

 

 

กรณีนี้หากตำรวจสามารถอายัดเงินจากบัญชีม้าได้ หรือยึดทรัพย์จากการจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์เหล่านี้ได้ สามารถนำมาชดเชยให้กับผู้เสียหายได้ โดยผู้เสียหายจะต้องแจ้งไปที่ ปปง.ว่าเป็นผู้เสียหาย และเท่าที่ทราบ รัฐบาลกำลังเร่งออกพระราชกำหนดเพื่อเร่งคืนเงินให้กับผู้เสียหายจากโจรออนไลน์ เพื่อให้การคืนเงินทำได้อย่างยุติธรรมและรวดเร็วขึ้น

 

ธนาคารพาณิชย์สามารถช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภัยจากโจรไซเบอร์ได้หรือไม่

 

 

กรณีดังกล่าว ธปท.ได้เร่งรัด และธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร ได้ให้ความร่วมมือในการยกระดับการป้องกันการเข้าโจรกรรมทางไซเบอร์ในรูปแบบต่างๆมาต่อเนื่อง เห็นได้จากการปรับเวอร์ชันของแอปบนโทรศัพท์มือถือตลอดเวลา ซึ่งขอให้ประชาชนอัปเกรดแอปให้เป็นเวอร์ชันล่าสุดด้วย แต่อย่างไรก็ตาม มิจฉาชีพก็พร้อมปรับปรุงระบบการโกงตลอดเวลาเช่นกัน เช่น แอปดูดเงิน เท่าที่รู้ในขณะนี้เป็นเวอร์ชันที่ 4 แล้ว และอาจจะมีเวอร์ชันใหม่ตามมา และเท่าที่ทราบในวันที่ ธปท.แถลงข่าวการยกระดับการป้องกัน ยังมีลิงก์แปลกๆจากต่างประเทศเข้ามาฟังด้วย 2 ลิงก์ ซึ่งอาจจะเป็นมิจฉาชีพมาฟังด้วยก็เป็นได้ค่ะ

 

 

สรุปโดยรวมแล้ว เมื่อเผลอโอนเงินให้มิจฉาชีพ มีโอกาสได้เงินคืนหรือไม่

ยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีโอกาสได้เงินคืน แต่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ดังนี้เลยค่ะ

1. ระยะเวลาแจ้งความและแจ้งธนาคาร

– รีบแจ้งความโดยเร็วที่สุด ภายใน 24 ชั่วโมง หลังทราบว่าถูกหลอก แนะนำโทร AOC 1441 โดยเร็วเพื่อระดับการโอนเงินให้มิจฉาชีพ
– ติดต่อธนาคารของท่านโดยเร็วที่สุด เพื่อขอ อายัดบัญชี ปลายทางที่โอนเงินไป

2. หลักฐานการโอนเงิน

– เก็บ หลักฐานการโอนเงิน ไว้ให้ครบถ้วน เช่น ใบเสร็จรับเงิน สลิปโอนเงิน ข้อความแชท ฯลฯ

3. ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของมิจฉาชีพและธนาคารปลายทาง

– กรณีที่มิจฉาชีพ ยินยอม ให้โอนเงินคืน
– กรณีธนาคารปลายทาง สามารถอายัดบัญชี มิจฉาชีพได้

4. ช่องทางการโอนเงิน

– โอกาสได้เงินคืนจะยากกว่า หากเป็นกรณีโอนผ่าน แอป Mobile Banking

 

 

สิ่งสำคัญ คือ การป้องกันตัว ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

 

 

– ตรวจสอบข้อมูล ให้แน่ชัดก่อนโอนเงิน
– ไม่โอนเงิน ให้บุคคลที่ไม่รู้จัก หรือ ไม่ไว้ใจ
– ไม่คลิกลิงก์ หรือ เปิดไฟล์ ที่แนบมากับอีเมล หรือ SMS
– ติดตามข่าวสาร เกี่ยวกับกลโกงวิธีมิจฉาชีพอยู่เสมอ

สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร.1213 และ AOC 1441

 

 

 

 

 

ที่มา : สมาคมธนาคารไทย