มาทำความรู้จักกับ “แคดเมียม” กันนะคะ หลังพบการลักลอบเก็บสะสมกากแคดเมียมในโรงงานจังหวัดสมุทรสาคร แคดเมียมคืออะไร อันตรายแค่ไหน พร้อมวิธีป้องกันตัวเอง และการปฐมพยาบาลกันนะคะ จากกรณีพบการลักลอบเก็บสะสมกากแคดเมียมและสังกะสีจำนวนมากในโรงงานจังหวัดสมุทรสาคร โดยบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดตากได้ขายกากเหล่านี้ให้กับบริษัทในจังหวัดสมุทรสาคร กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินงานทางการแพทย์และสาธารณสุข พร้อมเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกากของเสียอุตสาหกรรมดังกล่าวมีความเป็นอันตราย หากมีการจัดเก็บที่ไม่ถูกต้อง อาจส่งผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจากกากแคดเมียมถือเป็นสารอันตรายต่อสุขภาพนั่นเองค่ะ

 

 

 

แคดเมียม (Cadmium: สูตรทางเคมี Cd) เป็นแร่โลหะหนักชนิดหนึ่ง ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมหลากหลายด้าน เช่น ใช้ฉาบและเคลือบเงาผิวโลหะต่าง ๆ เพื่อความเงางาม ทนต่อการกัดกร่อน สารเพิ่มความคงตัวของพลาสติก จำพวกพีวีซี ผลิตเม็ดสี ผลิตแบตเตอรี่ขนาดเล็ก (แคดเมียม – นิกเกิล แบตเตอรี่)
แคดเมียมยังพบปนอยู่กับแร่ธาตุอื่น ๆ เช่น แร่สังกะสี แร่ตะกั่ว หรือทองแดง ในการทำเหมืองสังกะสีจะได้แคดเมียมเป็นผลตามมา มีคุณสมบัติ มีฤทธิ์กัดกร่อน จุดหลอมเหลวต่ำ และนำความร้อนได้ดี สามารถพบแคดเมียมปนเปื้อนได้ในอาหาร น้ำ รวมทั้งพบแคดเมียมในสีที่ผสมใช้กับบ้าน หรืออาคาร

ช่องทางการรับสัมผัส แคดเมียม เข้าสู่ร่างกาย แคดเมียมสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ดังนี้

 

 

• ทางผิวหนังผ่านการสัมผัส
• ทางจมูก ด้วยการหายใจ สูดดมฝุ่นละอองที่ปนเปื้อนแคดเมียมเข้าไปในร่างกาย การดูดซึมได้ 10-40%
• ทางปากด้วยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนสารแคดเมียม เช่น ข้าวที่ปลูกบนดินที่มีการปนเปื้อนของแคดเมียมอยู่ สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีการปนเปื้อน เนื้อหรือนมจากวัวที่กินหญ้าที่เกิดจากดินที่มีการปนเปื้อน การดูดซึมประมาณ5% การดูดซึมจะเพิ่มขึ้นในกรณีที่ร่างกายขาดธาตุเหล็ก สังกะสี และแคลเซียม

 

แหล่งที่พบ แคดเมียม

 

 

1. อาหารและแหล่งน้ำ : ร่างกายได้รับจากแคดเมียมจากการปนเปื้อน และตกค้างในแหล่งน้ำและอาหารเป็นสำคัญ

2. อากาศ : แคดเมียมเป็นหนึ่งในโลหะที่พบว่ามีการปนเปื้อนอย่างมากในอากาศจากการเผาไหม้ของพลังงานฟอสซิล ถ่านหิน และน้ำมัน

3. บุหรี่ : มีแคดเมียมได้ปริมาณ 0.5-1 ไมโครกรัม/บุหรี่ 1 มวน เนื่องจากการตกค้างในใบยาสูบ

เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว แคดเมียมจะไปสะสมที่ตับ ไต ปอด ตับอ่อน กล้ามเนื้อ เนื้อเยอะไขมัน อัณฑะ และรบกวนการทำงานของเอนไซม์ต่างๆ ในร่างกาย รวมถึงทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระ ซึ่งจะทำให้เกิดพิษต่อเซลล์ต่างๆ ของร่างกายต่อไป

 

พิษต่อร่างกายของ แคดเมียม

 

 

1. พิษต่อไต ทำให้การทำงานของไตผิดปกติ (proximal tubule damage) อาการแรกเริ่มจะพบโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ทำให้เกิด Fanconi syndrome ได้

2. พิษต่อปอด ทำให้เกิดภาวะทางเดินหายใจอักเสบเรื้อรัง ปอดอักเสบเรื้อรัง

3. พิษต่อกระดูก ทำให้เกิดการสร้างกระดูกที่ผิดปกติได้ (ได้รับเรื้อรัง) ทำให้กระดูกพรุนและปวดกระดูก (โรค itai-itai รายงายที่ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ช่วงปี คศ. 1912)

4. พิษต่อระบบสืบพันธุ์ มีการศึกษาพบว่าทำให้ลดการสร้างสเปิร์ม และมีการสร้างสเปิร์มที่ผิดปกติได้

5. พิษต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดผิดปกติ เพิ่มโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ สมอง และหลอดเลือดแดงส่วนปลาย เพิ่มความเสี่ยงความดันสูง

6. เป็นสารก่อมะเร็ง (IARC I) แคดเมียมในระยะยาวจะสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกมาก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งไต เป็นต้น

ส่วนวิธีการรักษา ส่วนใหญ่จะรักษาตามอาการ และการให้คีเลชั่นบำบัด (Chelation Therapy) คือ การกำจัดสารโลหะหนักออกจากร่างกายเพื่อบำบัดภาวะผิดปกติทางสุขภาพที่สัมพันธ์กับการสะสมและตกค้างของสารโลหะหนักแบบเรื้อรัง

 

วิธีป้องกันตัวเอง และปฐมพยาบาล

1. หากสูดดม : ให้รีบออกจากพื้นที่ รับอากาศบริสุทธิ์นำส่งแพทย์ทันที
2. หากสัมผัสกับผิวหนัง : ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนออกหมดทันที ล้างด้วยน้ำไหลผ่าน รีบพบแพทย์
3. หากเข้าตา : ล้างออกด้วยน้ำปริมาณมาก รีบพบจักษุแพทย์
4. หากกลืนกิน /ดื่ม ให้รีบดื่มน้ำตามทันทีอย่างน้อย 2 แก้ว รีบพบแพทย์
5. งดเข้าพื้นที่เกิดเหตุ ติดตามสถานการณ์ สังเกตอาการตนเอง ผิดปกติรีบพบแพทย์ทันที

 

กลุ่มคนงานที่ต้องสัมผัสกับแคดเมียม สามารถป้องกันได้โดย

• ใส่หน้ากาก เช่น หน้ากาก N95 ป้องกันไอระเหยจากสารเคมีโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันการหายใจเอาไอของแคดเมียมเข้าสู่ร่างกาย
• ใส่ถุงมือตลอดเวลาในขณะปฎิบัติงาน
• ล้างมือและทำความสะอาดร่างกายหลังการทำงานทุกครั้ง
• ประชาชนทั่วไปให้เฝ้าระวังและสังเกตอาการหากเกิดพิษที่เป็นผลจากแคดเมียม

 

วิธีเก็บรักษาแคดเมียม

ควรเก็บแคดเมียมในรูปแบบของสถานะของแข็ง และอยู่ในบรรจุภัณฑ์อย่างมิดชิด จะสามารถลดความเสี่ยงการรับสัมผัสสารดังกล่าวได้

การขับออกจากร่างกายของ แคดเมียม : ผ่านไต (HL 8-10 ปี)

 

วิธีการตรวจวัด แคดเมียม

สามารถทำได้โดย การตรวจปัสสาะวะ (urine cadmium, urine creatinine, urine beta-microglobulin)

 

 

ที่มา : siriraj poison control center, กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์