บทความนี้จะมานำเสนอเกี่ยวกับ วิธีเช็คแอพพลิเคชันมัลแวร์กันนะคะ และวิธีดูว่ามือถือถูกติดตั้งแอพรีโมทดูดเงินหรือยัง ? บน Android พร้อมทั้งแนวทางป้องกันการโดนแฮกข้อมูลปี 2023 กันค่ะ มาดูไปพร้อมกันเลยดีกว่าค่ะ

วิธีเช็คแอพฯมัลแวร์ และวิธีดูว่ามือถือถูกติดตั้งแอพรีโมทดูดเงินหรือยังบน Android
สำหรับการเช็คข้อมูลเหล่านี้ ทางกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. หรือ CCIB นั้นได้บอกวิธีการเช็คแค่บนระบบ Android เท่านั้นนะคะ ไม่ได้บอกวิธีของ iOS เนื่องจากตัวระบบของ IOS เองนั้น ก็มีการป้องกันที่ค่อนข้างแน่นหนาอยู่แล้วนั่นเองค่ะ แต่ถ้าจะให้มั่นใจจริงๆ แนะนำให้เข้าไปที่

 

 

 

***การตั้งค่า -> แบตเตอรี่ และดูว่ามีแอพฯไหน ที่ใช้งานหนักเกินการใช้งานจริงไปบ้าง หรือจะเข้าไปดูแอพทั้งหมดบน iPhone ก็ได้ค่ะ ว่ามีแอพฯไหนแปลกปลอมติดมาหรือเปล่า ถ้ามีให้กดลบทันที

ที่สำคัญก็คือ ควรเปิดการเตือนเว็บหลอกลวงบน Safari ไว้ด้วยนะคะ
***โดยเข้าไปที่ การตั้งค่า -> Safari จากนั้นให้กดเปิดสวิตช์ “คำเตือนเว็บไซต์หลอกลวง” เอาไว้อยู่เสมอก็จะพอป้องกันได้บ้างค่ะ รวมไปถึงการลบปฏิทินสแปมบนแอพปฏิทินด้วยค่ะ สำหรับ iOS นะคะ

ส่วนของ Android นั้นจะมีการป้องกันที่ค่อนข้างหละหลวมกว่านิดนึค่ะ จึงทำให้โดนแอพฯติดมัลแวร์ หรือแอพแฝงการติดตั้งแอพฯรีโมทดูดเงินเข้ามาโดยไม่รู้ตัวได้บ่อยกว่านั่นเองค่ะ ดังนั้นทางตำรวจไซเบอร์ จึงได้แนะนำวิธีการเช็ค และวิธีดูว่ามือถือเราถูกติดตั้งแอพรีโมทดูดเงินหรือยังเอาไว้ดังนี้นะคะ

วิธีการเช็คว่ามือถือถูกติดตั้งแอพฯรีโมทดูดเงินแล้วหรือไม่ มีดังนี้

 

 

1. เข้าไปที่เมนู การตั้งค่า (Settings)

 

2. กดเลือกไปที่เมนู แอพ (Apps)

 

3. กดเลือก การเข้าถึงพิเศษ (Special app access) [มือถือบางรุ่นเมื่อเข้ามาแล้วให้เลือกไปที่ปุ่มตัวเลือก (จุด 3 จุดมุมขวาบน) เพื่อเลือกเมนูย่อย

 

4. เมื่อกดปุ่มตัวเลือก (จุด 3 จุด) แล้ว กดเลือก “การเข้าถึงพิเศษ” ถ้าหากว่าเข้าได้ปกติ ก็แสดงว่ามือถือเรายังปกติดีอยู่ แต่ถ้าหากเข้าไม่ได้ โดยหน้าจอจะเด้งออกไปที่หน้าหลัก แสดงว่ามือถือเครื่องนั้นถูกฝังแอพรีโมทดูดเงินเรียบร้อยแล้ว

 

 

หากลองตรวจสอบเบื้องต้นตามด้านบนแล้ว ปรากฏว่าเข้าไม่ได้ตามที่บอกและมีการเด้งออกไปที่หน้าหลัก มือถืออาจจะโดนแฝงแอพดูดเงินไว้แล้วก็ได้นะคะ

วิธีการแก้ปัญหาเบื้องต้น

1. ให้รีบปิดอินเทอร์เน็ตทันที

2. จากนั้นสำรองข้อมูลที่จำเป็นอย่างรูปหรือไฟล์ที่จำเป็น

3. ให้รีบล้างเครื่องโดยรีเซตเครื่องกลับสู่ค่าเริ่มต้นที่มาจากโรงงานทันที

แนวทางป้องกันโดนแฮกข้อมูลโดยไม่รู้ตัว

 

 

สำหรับการป้องกันการโดนแฮก หรือป้องกันแอพมัลแวร์เบื้องต้นนั้น ทางตำรวจไซเบอร์ก็ได้มีการเตือนเอาไว้ด้วยเช่นกันนะคะ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะติดมากับแอพ จำพวก เป็นแอพหาคู่ แอพดูไลฟ์สด ดูภาพลามกอนาจาร และแอพพูดคุยยอดนิยมชื่อดังตามท้องตลาดทั่วไป ที่มีการขอสิทธิการเข้าถึงข้อมูลที่มีความอ่อนไหว (permission) หลายอย่าง ทำให้มิจฉาชีพใช้ช่องทางนี้ในการเข้าถึงข้อมูล และเข้ามาควบคุมมือถือของเราได้นั่นเองค่ะ โดยทางกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้มีแนวทางการป้องกันเอาไว้ดังนี้นะคะ

1. ไม่กดลิงก์ที่มากับข้อความ (SMS) หรือกดลิงก์ดาวน์โหลดแอพต่างๆ เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูล หรือการฝังแอพติดมัลแวร์ของมิจฉาชีพได้ง่ายที่สุด

2. ไม่ควรโหลดแอพที่คนอื่นส่งมาให้เด็ดขาด ถึงแม้ว่าเราอาจจะรู้จักชื่อแอพนั้นดีอยู่แล้วก็ตาม แนะนำว่าให้โหลดแอพผ่าน App Store หรือ Play Store เท่านั้น

3. ควรอ่านและตรวจสอบการขออนุญาตเข้าถึงข้อมูลจากแอพต่างๆ ที่ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นรูป ไมโครโฟน ตำแหน่ง เลขโทรศัพท์ และรายชื่อผู้ติดต่อเป็นต้น

4. หากรู้ตัวว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อ หรือเผลอติดตั้งแอพที่มีมัลแวร์ไปแล้ว ให้รีบปิดอินเทอร์เน็ต พร้อมเปิดโหมดเครื่องบิน (Airplane Mode) รวมไปถึงการถอดซิมการ์ดออก สำรองข้อมูลที่จำเป็น และติดต่อศูนย์บริการโทรศัพท์ หรือรีเซ็ตเครื่องเป็นแบบโรงงานใหม่ทั้งหมด

5. ไม่ใช้อุปกรณ์ในจุดให้บริการสาธารณะ หรือจากคนแปลกหน้า รวมไปถึงการใช้คอมพิวเตอร์สาธารณะ การเข้าใช้งานเว็บไซต์ที่มีความเป็นส่วนตัวเช่น อีเมล, ธุรกรรมทางการเงิน, การเทรดหุ้น ที่ไม่ควรให้ข้อมูลส่วนตัวไปทั้งหมด

6. ไม่กดอนุญาตให้เว็บหรือเบราว์เซอร์ ไม่ว่าจะบนมือถือหรือบนคอมให้จดจำรหัสผ่าน หรือการกดอนุญาตให้เข้าสู่ระบบอัตโนมัติเด็ดขาด

7. ไม่ควรเข้าเว็บที่ไม่มีความปลอดภัย อย่างเช่นเว็บที่มีโฆษณาให้กดเยอะ หรือจำพวกเว็บพนัน, เว็บลามกอนาจาร และไม่ควรกดแอดไลน์มั่วตามลิงก์ในเว็บเหล่านั้นด้วยเช่นกัน

และนี่ก็คือข้อมูลที่ได้มาจากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. หรือ CCIB นะคะ ที่ได้มีการบอกข้อมูลเตือน และการป้องกันเบื้องต้นเอาไว้ จากหลายๆ ข่าวที่ออกมาในช่วงนี้ทั้งสายชาร์จดูดเงิน หรือว่ามีการแฮกข้อมูลเข้ามาในมือถือ ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อหลายคนเลยนะคะ ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมานั้น ได้มีการตรวจสอบแล้วว่าเกิดจากการโหลดแอพพลิเคชั่น หรือติดตั้งแอพฯ แปลกปลอมกันทั้งนั้นเลยนะคะ เป็นเหตุให้ที่ทำให้พวกมิจฉาชีพสามารถเข้าถึง และสามารถรีโมทควบคุมมือถือของเหยื่อได้ค่ะ

 

 

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่จำเป็นก็อย่ากดดาวน์โหลดอะไรมั่วๆกันนะคะ โดยเฉพาะพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ ที่อาจหลงเชื่อกดโหลดแอพฯมั่วต่างๆ วิธีที่ดีที่สุดก็คือ ควรโหลดแอพฯต่างๆผ่าน App Store หรือ Play Store เป็นหลักเท่านั้นค่ะ

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. หรือ CCIB