บทความนี้จะพามารู้จักอาการ Post-Vacation Blues หรือภาวะซึมเศร้าหลังจากวันหยุดยาว พร้อมวิธีแก้ง่าย ๆ ทำได้ด้วยตัวเองกันนะคะ หากคุณกำลังสงสัยว่า ทำไมเมื่อเดินทางท่องเที่ยวหรือได้หยุดพักผ่อนยาวแบบหลายวันแล้ว แต่เมื่อเตรียมตัวทำงานในวันต่อไป กลับรู้สึกเหนื่อยล้า ห่อเหี่ยวจิตใจ และรู้สึกไม่อยากจะทำงาน หรือไปเรียนซะงั้น สาเหตุมันเกิดจากอะไรกันแน่ มาหาคำตอบไปพร้อมกันเลยดีกว่าค่ะ

 

 

ต้องบอกก่อนเลยนะคะว่า อาการดังกล่าวไม่ใช่ความขี้เกียจ แต่เป็นอาการป่วยระยะหนึ่งค่ะ ที่มักเกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง และสามารถหายไปเองได้ โดยเรียกภาวะนี้ว่า Post Vacation Blues, Post-Holiday Blues, Post-Holiday Depression and Blues หรือภาวะซึมเศร้าหลังวันหยุดยาวนั่นเองค่ะ

โดยศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์ อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวว่า ความรู้สึกไม่สดชื่นจาก Post-Vacation Blues มักเกิดขึ้นช่วงสั้น ๆ หรือ เกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ประมาณ 2-3 วัน ไปจนถึง 3 สัปดาห์เพราะประสบการความแตกต่างระหว่างวันหยุดกับความเป็นจริง หลังจากนั้นอาการซึมเศร้าเหล่านี้ก็จะหายไปได้เอง

 

วิธีการสังเกตอาการ Post Vacation Blues หรือ อารมณ์เศร้าหลังวันหยุดพักผ่อน

 

 

ซึ่งมักมีลักษณะอาการร่วมที่คล้ายอาการของโรควิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า ได้แก่

– ความรู้สึกไม่สดชื่น อาจมีปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว
– มีความกังวลเรื่องทุกอย่างจนเกินเหตุ
– เหนื่อยง่าย พักผ่อนเท่าไหร่ก็ไม่พอ รู้สึกหลับไม่อิ่ม
– การจดจ่อกับสิ่งต่างๆ ไม่ค่อยดี ไม่ค่อยมีสมาธิ
– หงุดหงิดง่าย
– บางคนอาจรู้สึกจมดิ่งไปกับอารมณ์เศร้าหมอง จนอาจเกิดการตั้งคำถามว่าทำไมชีวิตเรามันช่างเบื่อจืดชืดแบบนี้ จมดิ่ง และหดหู่เป็นที่สุด

ต่อไปมาดูวิธีจัดการกับภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาวนี้กันค่ะ สามารถทำได้ไม่ยากเลยนะคะ มาดูกันค่ะ

 

วิธีจัดการกับภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาว

 

 

1. ทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเบี่ยงเบนความเฉาในใจ ไม่ว่าจะเป็นฟังเพลง ดูหนัง ปลูกไม้ต้น ออกกำลังกาย หรืออื่น ๆ งดทำงานหนักและงานบ้าน

2. พยายามทำทุกที่ให้มีความสุขเหมือนได้ใช้ชีวิตในวันหยุด โดยดร.ลอรี ซานโตสศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเยล เผยว่า”จำไว้ว่าการสิ้นสุดวันหยุดไม่ได้หมายถึงการสิ้นสุดความสนุก เราสามารถหาวิธีที่จะได้สัมผัสกับการเดินทางมากขึ้นอีกเล็กน้อยหากเรานำความคิดแบบนักท่องเที่ยวมาใช้ในชีวิตที่บ้าน อาจจะลองร้านอาหารใหม่หรือเดินเล่นผ่านย่านใหม่”

3. นึกถึงแต่ความทรงจำดี ๆ โดยดร.ลอรี่ กล่าวว่า “คุณอาจเคยได้ยินคำแนะนำว่า คุณควรลงทุนในประสบการณ์ไม่ใช่สิ่งของ กลายเป็นว่าหนึ่งในเหตุผลก็คือว่าประสบการณ์สร้างความทรงจำที่น่าจดจำมากกว่าการซื้อวัตถุ เราสามารถได้รับความสุขเพิ่มขึ้นไม่ใช่แค่ประสบการณ์ในวันหยุด แต่จากการจดจำมัน” แน่นอนว่ารวมถึงการวางแผนเที่ยวครั้งต่อไป โดยอาจจะเป็นทริปสั้น ๆ เพื่อให้มีอะไรให้คาดหวังเมื่อรู้ว่ามีความสนุกรออยู่

4. พูดคุยกับผู้อื่น โดยการติดต่อกับเพื่อน ครอบครัว และคนที่คุณรักเป็นสิ่งสำคัญ โดยเร.เผยว่า “การวิจัยแสดงให้เห็นว่า การที่เราสามารถพูดได้ว่าเรามีอารมณ์บางอย่าง ทำให้อารมณ์นั้นรู้สึกน่ากลัวน้อยลง และเรารู้สึกว่าควบคุมได้มากขึ้น เราสามารถมีหลายอารมณ์ในเวลาเดียวกัน เช่น เศร้าแต่ตื่นเต้น” ซึ่งหากใครยังมีอาการ Post-Vacation Blues ติดต่อกันมากกว่า 3 สัปดาห์สามารถปรึกษาปรึกษาแพทย์หรือนักจิตวิทยาได้

5. ทานอาหารจำพวกโปรตีนปราศจากไขมัน ควรมองหาอาหารจำพวกโปรตีนปราศจากไขมัน เช่น เนื้อสัตว์ ไก่ ปลา ผลไม้และผักสดที่อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประโยชน์ในปริมาณสูง รวมทั้งไขมันที่ดีต่อสุขภาพจากแหล่งต่างๆ เช่น น้ำมันมะกอกและถั่วในปริมาณที่เหมาะสม ส่วนอาหารเสริมที่จะช่วยให้คุณปรับตัวได้เร็วยิ่งขึ้น ได้แก่ วิตามินบีรวม วิตามินซี วิตามินอี สารแคโรทีน สารไลโคพีน โคเอนไซม์ Q10 และ N-acetylcysteine (NAC) เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างพลังงานภายในเซลล์ร่างกายและกล้ามเนื้อ

 

 

ที่มา : CNN ประชาชาติ , โรงพยาบาลสมิติเวช