ในยุคปัจจุบันนี้ เชื่อว่ามีหลายคนที่กำลังประสบปัญหานี้อยู่นะคะ นั่นก็คือ อาการติดเนตอย่างหนัก ความวิตกกังวลที่ว่าตัวเองจะขาดการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก เช่น ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต จนไม่อาจติดต่อกับที่ทำงาน หรือหลุดออกมาจากโลกโซเชียล จนกลายเป็นความกังวลอย่างรุนแรง ซึ่งอาการนี้เรียกว่า Fear of Switching Off หรือ FOSO นั่นเองค่ะ

 

 

จากการศึกษาของ Priority Pass (งานศึกษาทางจิตวิทยาของบริษัทที่ปรึกษา และทำหน้าที่เก็บข้อมูลในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว) พบว่า ช่วงวัยที่พบภาวะ FOSO ได้มากที่สุด คือผู้ที่มีอายุ 18 – 27 ปี เพราะโตขึ้นมากับการสื่อสารแบบออนไลน์เป็นหลัก จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ต่อไปมาดูสัญญาณเตือนเกี่ยวกับอาการ FOSO กันค่ะ

สัญญาณเตือน 4 ข้อ ที่กำลังบอกว่า คุณกำลังมีความกลัวแบบ FOSO

 

 

 

1. ขาดมือถือไม่ได้

ไม่ว่าจะออกไปเที่ยว กินข้าว ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมใด ๆ ก็ตาม มือถือ แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ก จะต้องมีติดตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะกลัวเช็กงาน หรือติดต่อเรื่องงานไม่ได้

2. ขาดอินเทอร์เน็ตเมื่อไหร่ หัวร้อนเมื่อนั้น

ถ้าเจอกับสถานการณ์ที่อินเทอร์เน็ตติดขัดเมื่อไหร่ จะทำให้ผู้ที่มีภาวะ FOSO รู้สึกหงุดหงิดมาก ๆ จนอาจเผลอเหวี่ยงวีนคนรอบข้างแบบไม่รู้ตัว

3. แชทเด้ง งานต้องเข้าแน่ ๆ

ถ้าได้ยินเสียงไลน์เด้ง แชทดังเมื่อไหร่ ก็จะทำให้นึกถึงงานขึ้นมาเป็นอันดับแรกทันที ถึงแม้ว่าความจริงอาจจะเป็นแค่เพื่อนทักแชทมาก็ได้ ถ้าคุณมีอาการในข้อนี้หนัก แสดงว่าคุณกำลังอยู่ในภาวะ FOSO แล้วละค่ะ

4. ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหนก็ตาม งานต้องมาก่อน

ไม่ว่าจะไปเที่ยวพักผ่อนที่ต่างจังหวัด ไปปาร์ตี้ หรือออกไปซื้อของ แต่ถ้ามีเรื่องงานเข้ามา คุณก็จะต้องรีบหยิบแท็บเล็ต หรือโน้ตบุ๊กมาเช็กงานทันที ถ้าคุณกำลังทำพฤติกรรมนี้อยู่ ขอบอกเลยว่างานกำลังเริ่ม “คุกคาม” ชีวิตคุณแล้วค่ะ

 

ข้อแนะนำในการบรรเทาอาการ FOSO (FEAR OF SWITCHING OFF)

 

 

 

– ตั้งเวลาปลอดเครื่องมือสื่อสาร ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ก่อนถึงเวลานอนสัก 1 ชั่วโมง ขอให้เป็นช่วงเวลาแห่งการปลอดอินเตอร์เน็ตและเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด แล้วหันไป
ทำกิจกรรมเบา ๆ

– ควบคุมการใช้งานอินเตอร์เน็ตและเข้าสื่อสังคมออนไลน์

– กำหนดกฎชัดเจนว่าแอปพลิเคชั่นไหนใช้เรื่องงาน และแอปพลิเคชั่น ไหนใช้เรื่องส่วนตัว

– เวลาพัก คือ เวลาพัก กฎเหล็กสำคัญที่จะทำให้งานไม่คุกคามชีวิตเรา ก็คือ เวลาพักไม่ทำงาน และเวลางานก็ทำเต็มที่ เมื่อถึงเวลาพักไม่คุยเรื่องงาน ซึ่งคุณต้องใจแข็งหน่อย

สิ่งที่สำคัญคือ คนเราควรใช้ชีวิตแบบพอดี เพราะถ้าปล่อยให้งานเข้ามาคุกคามชีวิตในด้านอื่นมากจนเกินไปแล้วล่ะก็ อาจจะทำให้คุณเสียสุขภาพกาย และสุขภาพจิตในระยะยาวนั่นเองค่ะ ซึ่งบอกเลยค่ะว่าไม่คุ้มกันเลยกับสิ่งที่คุณได้รับ เพราะฉะนั้นแล้วก็ขอให้ทุกคนใช้ชีวิตให้เต็มที่ แล้วค่อยกลับมาทำงานให้แบบเต็มที่เหมือนกัน ชีวิตจะได้เดินหน้าด้วยความสมดุลในทุก ๆ ด้านนะคะ