บทความนี้จะมานำเสนอเกี่ยวกับเรื่องของ “ ดาวลูกตา “ ดาวเคราะห์ที่เหมาะสำหรับดำรงชีวิตที่อาจสมบูรณ์แบบที่สุดกันค่ะ

นักวิทยาศาสตร์เผยว่า ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงหนึ่งที่มีลักษณะคล้าย “ลูกตา” อาจเป็นแคนดิเดตดาวเคราะห์ที่เหมาะสำหรับดำรงชีวิตที่สมบูรณ์แบบที่สุดอีกดวงหนึ่งกันเลยนะคะ สำหรับการตามหาดาวเคราะห์ที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต (Habitable Planet) ยังคงเป็นภารกิจ ที่นักดาราศาสตร์หลายกลุ่มให้ความสำคัญ และล่าสุดมีรายงานการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงหนึ่งที่น่าจะมี “มหาสมุทร” และเป็นแคนดิเดตโลกใบที่ 2 ที่สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่เคยพบกันเลยทีเดียวค่ะ ตามมาดูรายละเอียดกันเลยค่ะ

 

มารู้จักกับดาวเคราะห์ที่เหมาะสำหรับดำรงชีวิตที่อาจสมบูรณ์แบบที่สุด “ ดาวลูกตา ”

 

 

– ดาวเคราะห์ดวงนี้ มีชื่อว่า “LHS-1140b”
– ถูกค้นพบเมื่อปี 2017
– อยู่ห่างจากโลก 50 ปีแสง
– มีขนาดใหญ่กว่าโลกของเราประมาณ 1.73 เท่า
– มีมวลมากกว่าโลกประมาณ 5.6 เท่า

ในตอนแรกที่ถูกค้นพบ นักวิทยาศาสตร์คิดว่ามันมีลักษณะคล้าย “มินิเนปจูน” ที่มีองค์ประกอบที่หนาแน่นของน้ำ มีเทน และแอมโมเนีย แต่การศึกษาล่าสุดที่ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ (JWST) พบว่า มันมีอะไรมากกว่านั้น
การศึกษาใหม่ระบุว่า

“ ดาวเคราะห์ดวงนี้มีน้ำแข็ง และเปียกมากกว่าที่คิด โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ของดาวเป็นน้ำแข็ง แต่จะมีด้านหนึ่งที่เป็นมหาสมุทรกว้าง 4,000 กิโลเมตร จนดูไปแล้วจะคล้ายกับดวงตาของคน คือ มหาสมุทรจะเป็นเหมือนกับม่านตา ส่วนน้ำแข็งที่ล้อมรอบเหมือนกับตาขาว “

ชาร์ลส์ คาดูซ์ นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยมอนทรีออล หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า “ในบรรดาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเขตอบอุ่นทั้งหมดที่รู้จักในปัจจุบัน LHS-1140b อาจเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด ที่อาจมีน้ำในสถานะของเหลวอยู่บนพื้นผิว ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่อาจดำรงชีวิตได้”

LHS-1140b ยังมีคุณสมบัติพิเศษนั่นก็คือ การหมุนรอบตัวเองของมันถูกล็อกไว้กับดาวฤกษ์ ซึ่งหมายความว่า มันหมุนรอบตัวเองด้วยอัตราเดียวกับที่มันโคจรรอบดาวฤกษ์ ทำให้ด้านมหาสมุทรหันไปทางดาวฤกษ์เสมอ จนเกิดลักษณะคล้ายดวงตา
ดาวลูกตาดวงนี้ใช้เวลาโคจรรอบดาวฤกษ์เท่ากับ 25 วันบนโลกเท่านั้น เท่ากับว่า 1 ปีบนดาวนี้มีเพียง 25 วัน นั่นเองค่ะ

สำหรับดาวฤกษ์ที่ LHS-1140b โคจรรอบนั้น เป็นดาวแคระแดงที่เย็นกว่าดวงอาทิตย์ของเรา ทำให้มหาสมุทรยังคงอยู่ได้ โดยหากดาวฤกษ์นี้ร้อนเท่ากับดวงอาทิตย์จะทำให้มหาสมุทรเดือดพล่าน และสิ่งมีชีวิตไม่สามารถดำรังชีวิตอยู่ได้โดยสิ้นเชิงนั่นเองค่ะ
ในการศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบ นักวิจัยได้ใช้กล้องอินฟราเรดใกล้ (NIRCam) และสเปกโตรกราฟของเว็บบ์ ซึ่งช่วยให้สามารถประเมินรายละเอียดบนดาวลูกตาได้ และนักดาราศาสตร์พบสัญญาณของไนโตรเจน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในชั้นบรรยากาศของโลกอีกด้วยค่ะ

 

 

การคำนวณต่อมายังเผยให้เห็นว่า ดาวเคราะห์ LHS-1140b ไม่หนาแน่นพอที่จะเป็นดาวเคราะห์หิน (Rocky Planet) เมื่อนำมารวมกัน ผลลัพธ์เหล่านี้ดูเหมือนจะบ่งชี้ว่า ดาวลูกตาไม่ใช่ดาวเคราะห์หิน หรือมินิเนปจูน แต่เป็นดาวที่ห่อหุ้มอยู่ในทะเลน้ำแข็ง
ในขณะที่ดาวเคราะห์ส่วนใหญ่สามารถแข็งตัวเป็นน้ำแข็งได้ นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า ด้านที่เป็นเหมือนม่านตาของดาวลูกตานั้น อาจมีอุณหภูมิอยู่ที่ 20 องศาเซลเซียสบริเวณพื้นผิว ซึ่งอุ่นพอที่สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลจะสามารถอยู่อาศัยได้

เรอเน ดัวยอง นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยมอนทรีออล หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า “การตรวจจับชั้นบรรยากาศบนดาวเคราะห์นี้ กำลังผลักดันขีดความสามารถของเว็บบ์ถึงขีดจำกัด ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เราแค่ต้องการเวลามากกว่านี้ในการสังเกต”
เธอเสริมว่า “หลักฐานเบื้องต้นของชั้นบรรยากาศที่อุดมด้วยไนโตรเจน จำเป็นต้องได้รับการยืนยันด้วยข้อมูลเพิ่มเติม เราต้องใช้เวลาสังเกตการณ์อย่างน้อย 1 ปีเพื่อยืนยันว่า LHS 1140b มีชั้นบรรยากาศจริง และน่าจะใช้เวลาอีก 2-3 ปีในการตรวจจับคาร์บอนไดออกไซด์”

จากข้อมูลเบื้องต้นก็ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งข่าวดีด้านเทคโนโลยีเลยก็ว่าได้นะคะ และคงต้องรอเวลาเพื่อพิสูจน์และยืนยันข้อมูลต่างๆให้ชัดเจนค่ะ ไว้มีความคืบหน้าจะพยายามนำมาอัพเดทให้ต่อไปนะคะ

 

ที่มา : Live Science