ภาวะวูบหมดสติ (Syncopal Attack) หมายถึง ภาวะที่มีการสูญเสียการรับรู้สติ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะได้แก่ หมดสติเฉียบพลัน เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น และสามารถฟื้นคืนสติได้ด้วยตัวเอง (Transient loss of consciousness : TLOC)
เกิดอะไรขึ้นในขณะที่วูบหมดสติ
การหมดสติ เกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองลดลงชั่วขณะ ทำให้สมองที่เป็นศูนย์ควบคุมการรู้สติขาดออกซิเจนชั่วคราวจึงทำให้ผู้ป่วยหมดสติ
อาการแสดงที่พบในขณะหมดสติ ได้แก่
* เรียกไม่รู้สึกตัว
* ล้มลงกับพื้น ทรงตัวไม่อยู่
* อาจมีอาการเกร็งที่มือ, เท้า, ตาค้างชั่วขณะ
* ปลายมือ ปลายเท้าเย็น, เหงื่อออกที่ใบหน้า, หน้าและริมฝีปากซีด
* อาจมีอาการอุจจาระ และ ปัสสาวะราด
* ผู้ป่วยจะจำเหตุการณ์ตอนหมดสติไม่ได้
* ระยะเวลาการหมดสติ พบได้ตั้งแต่ 30 วินาที – 5 นาที ขึ้นอยู่กับสุขภาพพื้นฐานเดิมและอายุของผู้ป่วย
* มีอาการเตือนล่วงหน้าหรือไม่ ผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการเตือนล่วงหน้าก่อนหมดสติ เช่น รู้สึกหวิวๆ มึนศีรษะ, โคลงเคลง, ตาพร่า เห็นสีวูบวาบ เหมือนตัวลอยๆ, คลื่นไส้
สาเหตุของการหมดสติมีอะไรบ้าง
1. สาเหตุที่มาจากโรคของหัวใจโดยตรง เช่น
– หลอดเลือดหัวใจตีบ
– ลิ้นหัวใจตีบ
– หัวใจเต้นผิดจังหวะทั้งชนิดเร็วและช้า
– กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวผิดปกต
– ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
– กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ
2. สาเหตุที่มาจากระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ จะพบในบางสถานการณ์ที่จำเพาะ เช่น
– หลังการไอ จาม เบ่งอุจจาระ ปัสสาวะ
– ยืนนานๆ ในที่มีคนแออัด หรืออากาศร้อนจัด
– กลัวการเจาะเลือด กลัวเข็มฉีดยา
– หลังการออกกำลังกาย
พบในโรคเรื้อรังที่มีผลต่อการทำงานของระบบประสาท, เส้นประสาทเสื่อม
– เบาหวาน (Orthostatic hypotension)
– โรคทางสมองบางอย่างที่มีระบบประสาทอัตโนมัติเสื่อม เช่น พาร์กินสัน, สมองเสื่อม
– อันตรายต่อไขสันหลัง
3. ภาวะการสูญเสียเลือด หรือ ขาดน้ำ
4. ยาบางชนิด โดยเฉพาะยาลดความดันโลหิต, ยาขับปัสสาวะ, ยาต้านเศร้า, ยารักษาต่อมลูกหมาก
เมื่อพบผู้ป่วยหมดสติ ควรทำอย่างไร
เมื่อพบผู้ป่วยหมดสติ ควรให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ดังนี้ คือ
* ให้ผู้ป่วยนอนราบกับพื้นที่สะอาด ปลอดภัย
* ไม่มุงดู เพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก
* ตะแคงศีรษะไปด้านข้าง ป้องกันลิ้นตก
* ถ้ากำลังรับประทานอาหารอยู่ มีอาหารในปาก มีฟันปลอมอยู่ ควรใช้ผ้าล้วงเศษอาหารออกจากปาก และถอดฟันปลอมได้ ให้ช่วยถอดฟันปลอม
* เรียกรถฉุกเฉิน หรือนำส่งโรงพยาบาล
แนวทางการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วย
การประเมินผู้ป่วยที่มาด้วยอาการวูบหมดสติ แพทย์จะซักประวัติจากผู้เห็นเหตุการณ์ และจากผู้ป่วยภายหลังฟื้นสติแล้ว ตรวจร่างกายในกรณีที่ผู้ป่วยมีสัญญานชีพและอาการทางร่างกายที่ไม่คงที่ พร้อมการรักษาตามสาเหตุของโรคต่อไป
การตรวจเพิ่มเติม
การตรวจพิเศษเพิ่มเติมขึ้นอยู่กับโรคที่เป็นสาเหตุของการหมดสติ เช่น
* ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ, Holter EKG ในผู้ป่วยที่สงสัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
* ตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram) ในผู้ป่วยที่จำเป็นต้องวินิจฉัยแยกโรคหัวใจบางอย่าง เช่น ลิ้นหัวใจตีบ, กล้ามเนื้อหัวใจหนา
* ตรวจ Till Table Test ในผู้ป่วยที่สงสัยภาวะวูบหมดสติจากความดันต่ำเวลาเปลี่ยนอิริยาบถ Orthotatic Hypotension หรือ ความดันต่ำจากการยืนนานๆ หรือหลังออกกำลังกาย
* ตรวจ Coronary CTA หรือ CAG ในผู้ป่วยที่สงสัยภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ
* ตรวจ MRI Brain ในผู้ป่วยที่สงสัยภาวะสมองเสื่อม
* โรคนี้รักษาอย่างไร
* การรักษาโรคขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้วูบ ซึ่งแพทย์จะรักษาตามเหตุนั้นๆ ได้แก่ การรักษาภาวะโรคหัวใจขาดเลือด (การใช้ยา, การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน)
* การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจในผู้ที่หัวใจเต้นช้าผิดจังหวะ (Pacemaker)
* การใช้ยาบางชนิดในผู้ป่วยที่มี Orthostatic Hypotension
* การแนะนำให้ผู้ป่วยใส่ถุงน่อง เพื่อลดการขยายตัวของหลอดเลืด ในผู้ที่วูบหลังยืนนานๆ
การป้องกันภาวะวูบ
การป้องกันการวูบ สามารถทำได้เพื่อลดความรุนแรง ลดความถี่ของการเกิดอาการและลดอุบัติเหตุซ้ำเติมจากการวูบ ได้แก่
* ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ
* หลีกเลี่ยงการยืนนานๆ ในที่อากาศร้อนจัด
* หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์, สูบบุหรี่
* ออกกำลังกายแบบแอโรบิก อย่างน้อย 4 ครั้ง / สัปดาห์ ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที
* นั่งปัสสาวะในผู้ที่วูบหลังเบ่งปัสสาวะ, งดเบ่งอุจจาระและปัสสาวะแรงๆ
* ออกกำลังกายแบบ hand grip exercise ได้แก่ บีบลูกบอลด้วยมือ 2 ข้าง ทำซ้ำๆ ชุดละ 10 ครั้ง อย่างน้อย 2 -3 ชุด /วัน
* หลักเลี่ยงการไอหรือจามแรงๆ
* หลีกเลี่ยงอาชีพที่จะมีอันตรายจากอุบัติเหตุซ้ำเติมขณะวูบ เช่น ช่างทาสี ช่างไม้ นักบิน หรือคนขับรถรับจ้าง
และสำหรับใครที่มีอายุเกิน 40 ปีแล้วนั้น แนะนำให้ไปตรวจร่างกายดังนี้นะคะ
– ควรมีการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ ตลอดจนโรคที่มีผลให้เกิดการวูบหมดสติ
– ควรพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาเมื่อสงสัยว่ามีอาการคล้ายจะวูบหรือเคยมีอาการวูบหมดสติมาก่อน เพื่อจะได้รับการตรวจเพิ่มเติมที่เหมาะสมต่อไป
ล่าสุด ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมานี้ รศ.พญ.แพรว ให้ข้อมูลว่า โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบผู้ป่วยภาวะวูบหมดสติเฉลี่ยวันละ 2-3 คน หรือเดือนละประมาณ 60-90 คน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากอากาศร้อน สูญเสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย และการติดเชื้อแทรกซ้อนในผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่เดิม เช่น ผู้ป่วยบางรายมีโรคเกี่ยวกับหัวใจ หรือสมอง แต่ติดโควิด-19 จนไข้ขึ้นสูง หรือท้องเสียจากอาหารเป็นพิษจนหมดสติก็เข้ามารับการรักษาเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาอีกด้วยนะคะ
และยังได้มีการเตือนอีกด้วยนะคะ ว่าแม้ผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงอยู่แล้ว ก็อาจจะมีโอกาสเกิดภาวะวูบหมดสติได้เช่นกัน หากมีพฤติกรรมดังต่อไปนี้นะคะ
– ตากแดด หรือสัมผัสอากาศร้อนเป็นเวลานานๆ
– เสียน้ำ หรือเหงื่อในปริมาณมาก โดยไม่ดื่มน้ำให้เพียงพอ
– มีไข้สูงจากการติดเชื้อในร่างกาย
– ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินไป หรือ
– อยู่ในสภาวะที่ตึงเครียดมากเกินไปจนพักผ่อนไม่เพียงพอ
เพราะฉะนั้นแล้ว ทุกคนควรต้องหมั่นดูแลสุขภาพกันให้ดีๆนะคะ ยิ่งในสภาพอากาศที่ร้อนจัดของบ้านเราในช่วงนี้แล้วด้วย ต้องดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ สวมหน้ากากอนามัย และ พักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของตัวเองและคนรอบข้าง เผื่อมีอะไรผิดสังเกตไป จะได้ทำการป้องกันและช่วยเหลือได้ทันท่วงทีนั่นเองค่ะ
ที่มา : https://www.vejthani.com/th