การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศส่วนใหญ่ของโลกในปัจจุบันนี้ มาจากฤดูกาลที่เปลี่ยนไป ทำให้อุณภูมิ และปริมาณฝนของแต่ละเดือนแตกต่างกัน แต่จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้มีการนำเสนอข่าวเรื่องการเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิมค่อนข้างบ่อยเลยนะคะ เช่น บางพื้นที่มีฝนตกหนักกว่าปกติ หรือ มีอากาศร้อนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสาเหตุนอกจากเรื่องของการเกิดภาวะโลกร้อนแล้ว ยังมาจากการเกิดปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” และ “ลานีญา” อีกด้วยนั่นเองค่ะ ดังนั้นบทความนี้ จะมานำเสนอความรู้กับปรากฏการณ์ทั้งสองอย่างนี้กันค่ะ พร้อมแล้วตามมาดูกันเลยค่ะ
เอลนีโญ (El Nino)
เป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลตอนกลางและตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตศูนย์สูตรอุ่นขึ้นผิดปกติประมาณ 0.5 องศาเซลเชียสขึ้นไป ส่งผลทำให้เกิดพายุฝนที่รุนแรงจนเกิดเป็นอุทกภัยขึ้นที่บริเวณชายฝั่งของทวีปอเมริกาใต้ และเกิดความแห้งแล้งมากผิดปกติในแถบประเทศฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน อาทิ ประเทศออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ไทย เป็นต้น
สำหรับปรากฏการณ์เอลนีโญเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยทุก ๆ 2-7 ปี และสามารถคงอยู่ได้ 9-12 เดือน แต่ว่าระหว่างนี้อาจเกิดปรากฎการณ์เกี่ยวกับสภาพอากาศ เช่น พายุไซโคลนเขตร้อน และความแห้งแล้งที่กินระยะเวลายาวนาน
สาเหตุที่เกิด : เอลนีโญเกิดจากกระแสลมที่มีกำลังอ่อนและเปลี่ยนทิศทางพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปฟิชิกไปด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปฟิชิก ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลไปยังทวีปอมริกาใต้แทน ด้วยเหตุนี้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียจึงขาดฝนและเกิดความแห้งแล้ง แต่ชายฝั่งของทวีปอมริกาใต้กลับมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น โดยมักจะเกิดอยู่แบบนี้ประมาณ 12-18 เดือนโดยเฉลี่ย
ลานีญา (La Nina)
เป็นปรากฏการณ์ที่ตรงกันข้ามกับเอลนีโญ กล่าวคือ ลานีญา เป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณตอนกลางและตะวันออกตอนกลางของแปปซิฟิกเขตศูนย์สูตรต่ำกว่าปกติประมาณ 0.5 องศาเซลเซียสลงไป ซึ่งปรากฏการณ์ลานีญาจะเกิดขึ้นได้ทุก 2-3 ปี และปกติจะเกิดนานประมาณ 9-12 เดือน แต่บางครั้งอาจอยู่ได้นานถึง 2 ปี
สาเหตุที่เกิด : ลานีญาเกิดจากกระแสลมพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปชิฟิกมายังด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปชิกตามเดิม แต่กระแสลมมีความรุนแรงมากกว่าปกติ ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ส่งผลให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียมีระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและมีปริมาณฝนตกหนักมากกว่าปกติ ซึ่งในทางตรงข้ามก็ทำให้เกิดภาวะความแห้งแล้งตามแนวชายฝั่งทวีปอมริกาใต้อีกด้วย
ความแตกต่างระหว่าง “เอลนีโญ” และ “ลานีญา”
ถึงแม้ว่าเอลนีโญและลานีญา จะเป็นปรากฏการณ์ที่มีชื่อเรียกคล้ายกัน และเกิดจากกระแสลมเหมือนกัน ทำให้หลายคนอาจเกิดความสับสนได้ แต่เราสามารถแยกความแตกต่างของทั้งสองปรากฏการณ์ได้ดังนี้
– เอลนีโญ คือ ลมที่พัดจากมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกไปยังตะวันตก โดยลมที่พัดมามีกำลังที่อ่อนกว่าปกติ ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลย้อนกลับไปยังอเมริกาใต้ และเกิดสภาพอากาศผันแปรผิดปกติ ส่งผลให้เกิดภัยแล้งในฤดูฝน
– ส่วน ลานีญา คือ ลมที่พัดจากมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกไปตะวันตก ซึ่งลมที่พัดไปนั้นมีกำลังแรงกว่าปกติ ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ส่งผลให้เกิดสภาพอากาศผันแปรในเรื่องการเกิดฝนตกหนักมากกว่าปกติ
ผลกระทบต่อสภาพอากาศไทย
การเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญานั้น มีผลกระทบกับประเทศไทยโดยตรง ในเรื่องการเกิดความแห้งแล้งและการเกิดน้ำท่วมที่ผิดจากสภาวะปกติตามฤดูกาล โดยช่วงที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญนั้น ประเทศไทยจะมีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปกติ และมีอุณภูมิเพิ่มสูงขึ้น แต่หากเกิดปรากฏการณ์ลานีญา ไทยจะมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ และมีอุณภูมิลดลง นั่นเอง
ที่มา : กรมชลประทาน และ GISTDA