วัคซีน “แอสตร้าเซนเนก้า” (AstraZeneca) เป็นวัคซีนแบบเทคนิคไวรัลแว็กเตอร์ (Viral Vector) คือการผลิตจากเชื้อไวรัสอะดีโนเป็นพาหะ ( Adenoviral vector ) พัฒนาโดยการนำไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลง แล้วฝากสารพันธุกรรมของโควิด-19 เข้าไป ซึ่งทำให้ไม่สามารถแบ่งตัว และไม่สามารถก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ได้

 

 

• วัคซีนชนิดที่ใช้เทคนิคไวรัลแว็กเตอร์ ( Adenoviral vector ) สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี เพราะใช้วิธีการเลียนแบบการติดเชื้อที่ใกล้เคียงธรรมชาติ โดยนอกจากมีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่ใช้วิธีนี้แล้ว วัคซีนอื่นๆ ที่ผลิตด้วยวิธีนี้ยังมี จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และสปุกนิก วี
• ประสิทธิภาพของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ( AstraZeneca ) สามารถป้องกันการติดเชื้อทุกแบบได้ 63.1% ( 78% หากเว้นระยะห่างระหว่างเข็มมากกว่าหรือเท่ากับ12สัปดาห์ ) ป้องกันโรคแบบแสดงอาการ 70.4% ป้องกันโรครุนแรง-ถึงขั้นเสียชีวิต100% แต่ยังป้องกันโรคแบบไม่มีอาการไม่ได้
• ได้รับการยอมรับจาก WHO
• เมื่อรับการฉีดวัคซีนชนิดแอสตร้าเซนเนก้า ต้องเข้ารับการฉีดจำนวน 2 โดส ที่แขน โดยต้องทิ้งระยะเวลาห่างจากโดสแรก 8-12 สัปดาห์ถึงจะทำการฉีดโดส ที่สองได้
• วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเหมาะที่จะใช้สำหรับฉีดให้กับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
• ผลข้างเคียงที่มักพบ คือปวดบริเวณที่ฉีด อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่
• ผลข้างเคียงอื่น ๆที่อาจพบได้ คือภาวะลิ่มเลือดอุดตัน (ในอังกฤษมีรายงาน 1 ใน 50,000 โดส ในกลุ่มอายุน้อยกว่า 40 ปี )

 

และอัพเดทล่าสุดนี้ สถาบันวัคซีน แจงแล้ว ‘วัคซีนแอสตร้าฯ’ เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันจริง ชี้เอเชียเกิดได้น้อย สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เรื่องชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีการเกิดภาวะลิ่มเลือดร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombosis with thrombocytopenia syndrome, TTS) ภายหลังการได้รับวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ระบุว่า

 

 

ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวในประเด็น บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ยอมรับว่าวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท อาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombosis with thrombocytopenia syndrome, TTS) ซึ่งอาจทำให้เกิดความกังวลใจของประชาชนได้นั้น สถาบันวัคซีนแห่งชาติรับทราบข้อกังวลดังกล่าวแล้ว และขอให้ข้อมูล ดังนี้

 

 

 

1. ข้อมูลดังกล่าวไม่ใช่ข้อมูลใหม่ แต่เป็นข้อมูลที่ได้รับจากการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่เมื่อเริ่มมีการใช้วัคซีนโควิด-19 ชนิดไวรัสเวกเตอร์ ของ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ในวงกว้าง ซึ่งจากข้อมูลทั่วโลก พบว่า ภาวะ TTS ที่เกิดขึ้นภายหลังการได้รับวัคซีนโควิด-19 ชนิดไวรัสเวกเตอร์ เป็นเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่พบได้น้อยมาก

โดยรายงานการเกิดภาวะ TTS ภายหลังการฉีดวัคซีนส่วนใหญ่มาจากสหราชอาณาจักร (UK) และสหภาพยุโรป (EU) และจากรายงานทั่วโลกพบว่า อุบัติการณ์ของภาวะ TTS ภายหลังการฉีดวัคซีน มีความแตกต่างทางภูมิศาสตร์อย่างมาก

โดยมีรายงานน้อยมากที่มาจากประเทศนอกยุโรป จากข้อมูลของสหราชอาณาจักร (ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2564) และสหภาพยุโรปคาดการณ์ว่า ความเสี่ยงในการเกิด TTS ของประชากรในภูมิภาคอยู่ที่ประมาณ 1 ราย ต่อ 100,000 ประชากร(1)

ในขณะที่ ฐานข้อมูลความปลอดภัยระดับโลกของ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า พบว่าอัตราการรายงาน TTS ต่อประชากร 1,000,000 ราย อยู่ระหว่าง 0.2 (ในประเทศแถบเอเชียและบราซิล) ถึง 17.6 (ในกลุ่มประเทศนอร์ดิก)(1,2)

สำหรับประเทศไทย มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ทั้งหมด 48,730,984 โดส พบผู้สงสัยหรือยืนยันภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำจำนวน 7 ราย อัตราการเกิดภาวะ TTS เท่ากับ 0.014 ต่อ 100,000 ประชากร(3) หรือ จะพบผู้มีภาวะดังกล่าวได้ 1 ราย ในผู้ได้รับวัคซีนจำนวน 10,000,000 คน

 

2. ภาวะ TTS ที่เกิดขึ้นภายหลังจากการได้รับวัคซีน ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นภายใน 3-21 วันแรก หลังจากที่ได้รับวัคซีน(1) ซึ่งมักพบภายหลังการฉีดวัคซีนเข็มแรกมากกว่าเข็มที่สอง และพบในคนอายุน้อยมากกว่าผู้สูงอายุ

ปัจจุบันยังไม่ทราบปัจจัยเสี่ยงที่เฉพาะเจาะจงสำหรับการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ โดยจากการเก็บข้อมูลพบว่าภาวะ TTS มักเกิดในผู้ป่วยที่เคยมีประวัติการเกิดลิ่มเลือดมาก่อน ผู้ป่วยที่เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง รวมถึงผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากระบบภูมิคุ้มกัน

ทั้งนี้ ข้อมูลความเสี่ยงของภาวะดังกล่าว ได้ถูกเพิ่มเติมในเอกสารกำกับยาของวัคซีนโควิด 19 ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า หัวข้อ “คำเตือนพิเศษ และข้อควรระวังในการใช้ยา”(4) ตั้งแต่ วันที่ 8 กันยายน 2564

ภายหลังจากที่มีข้อมูลภายหลังการใช้วัคซีนในวงกว้างมากขึ้น ทำให้หลังจากนั้นสามารถติดตามเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการฉีดวัคซีน และสามารถให้การรักษาภาวะดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม

 

3. ความเสี่ยงของการเกิดภาวะ TTS ภายหลังจากการป่วยด้วยโควิด-19 สูงกว่าความเสี่ยงที่เกิดจากการได้รับวัคซีนโควิด-19 หลายเท่า จากการเก็บข้อมูลในอังกฤษ (England)(5) ซึ่งมีประชาชนจำนวน 19,608,008 คน ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ของ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า เป็นโดสแรก กับกลุ่มประชาชนที่มีผลบวกในการตรวจการติดเชื้อ SARS-CoV-2 จำนวน 1,758,095 คน

 

 

ในการศึกษา สามารถวิเคราะห์ข้อมูลอัตราเสี่ยงของการเกิดภาวะต่าง ๆ ในช่วง 8-14 วัน หลังได้รับวัคซีน ซึ่งเป็นช่วงที่มีรายงานอุบัติการณ์สูงสุดได้

 

4. องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกเอกสารคำแนะนำสำหรับการใช้วัคซีนโควิด-19 ของ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า(1) ตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 และได้มีการปรับคำแนะนำอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ เมื่อมีข้อมูลภายหลังการใช้ที่มากขึ้น

โดยมีการปรับปรุงคำแนะนำล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 มีใจความสำคัญเกี่ยวกับประเด็นภาวะ TTS ที่เกิดภายหลังการได้รับวัคซีนโควิด-19 ชนิดไวรัสเวกเตอร์ ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ดังนี้

ในประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ประโยชน์ของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคมีมากกว่าความเสี่ยงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม การประเมินประโยชน์และความเสี่ยงอาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ทั้งนี้ แต่ละประเทศควรพิจารณาสถานการณ์ทางระบาดวิทยา ความเสี่ยงในระดับบุคคลและประชากร ความพร้อมของวัคซีนชนิดอื่น ๆ และทางเลือกสำหรับการลดความเสี่ยง

ซึ่งจากข้อมูลทั่วโลกพบว่า การรับวัคซีนมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงสูงที่สุดในกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจาก หากประชากรในกลุ่มนี้ ป่วยด้วยโควิด-19 มีโอกาสที่จะป่วยหนักหรือเสียชีวิตได้ และความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันที่มีสาเหตุมาจากการป่วยด้วยโควิด-19 จะเพิ่มขึ้นตามอายุ นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่มีภาวะ TTS ภายหลังการรับวัคซีนโดสแรก ไม่ควรได้รับวัคซีนชนิดเดิมเป็นโดสที่สอง

 

5. ปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิดไวรัสเวกเตอร์ ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า แล้ว เมื่อพิจารณาจากข้อมูลข้างต้น พบว่าความเสี่ยงของการเกิดภาวะ TTS ที่เป็นผลมาจากการป่วยด้วยโควิด-19 มีอุบัติการณ์สูงกว่า ภายหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิดไวรัสเวกเตอร์ ของ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า อย่างมาก และทั่วโลก

รวมถึงประเทศไทย มีระบบกำกับดูแลความปลอดภัยของการใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการฉีดวัคซีนมากกว่าความเสี่ยงที่ได้รับอย่างดีที่สุด อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงภายหลังจากการได้รับวัคซีนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่จะมีการควบคุมให้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยที่สุด

 

 

ก่อนการพิจารณาอนุญาตให้ใช้วัคซีนในวงกว้าง ขอให้ประชาชนคลายความกังวลใจ ทั้งนี้ หากมีข้อมูลเพิ่มเติม สถาบันวัคซีนแห่งชาติจะทำการอัปเดตข้อมูลให้ท่านทราบเป็นระยะ

 

 

ที่มา : 1. Interim recommendations for use of the ChAdOx1-S [recombinant] vaccine against COVID-19 (AstraZeneca COVID-19 vaccine AZD1222 Vaxzevria™, SII COVISHIELD™), https://www.who.int/publications/i/item/WHO-2019-nCoV-vaccines-SAGE_recommendation-AZD1222-2021.1

2. Very rare thrombosis with thrombocytopenia after second AZD1222 dose: a global safety database analysis, https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(21)01693-7/fulltext

3. สถานการณ์เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังการได้รับวัคซีนป้องกันโรค COVID-19, กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค, 30 เมษายน 2567,
https://ddc.moph.go.th/uploads/ckeditor2//files/AEFI%20Situation_COVID-19%20Vaccine_30042024_web.pdf

4. เอกสารกำกับยา COVID-19 Vaccine AstraZeneca เวอร์ชั่นภาษาไทย
https://drug.fda.moph.go.th/media.php?id=510394271338209280&name=U1DR1C1072640000111C-SPC-TH.pdf

5. Risk of thrombocytopenia and thromboembolism after covid-19 vaccination and SARS-CoV-2 positive testing: self-controlled case series study https://www.bmj.com/content/bmj/374/bmj.n1931.full.pdf