อุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นสิ่งที่คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นนะคะ แม้ผู้ใช้รถใช้ถนนจะมีความระมัดระวังมากแค่ไหน แต่อุบัติเหตุมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าจะจากตนเองหรือผู้ใช้เส้นทางร่วมกัน เพราะฉะนั้นแล้วผู้ขับรถจึงควรรู้วิธีปฏิบัติหากเกิดอุบัติเหตุ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อม และลดปัญหาการจราจรที่อาจจะติดขัดตามมานะคะ จะต้องทำอย่างไรบ้าง ตามมาดูพร้อมกันเลยค่ะ

 

ข้อควรปฏิบัติเมื่อขับรถประสบอุบัติเหตุ

 

 

 

  1.  สติ

เหนือสิ่งอื่นใดคือต้องมี “สติ” ค่ะ สติ ย่อมสำคัญที่สุด บ่อยครั้งที่เราจะเห็นผู้ขับรถทำอะไรไม่ถูกหลังเกิดอุบัติเหตุสดๆร้อนๆ เช่น นั่งช็อกอยู่เฉยๆไม่ลงจากรถ โทรศัพท์หาพ่อแม่พี่น้องและเพื่อน หรือโมโหเถียงกับคู่กรณีจนไม่ทันช่วยคนเจ็บ ฯลฯ ดังนั้นควรเริ่มจากการตั้งสติก่อน เหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว ไม่สามารถย้อนกลับไปทำอะไรได้ แต่ควรคิดว่าต้องทำอะไรต่อ อย่ามัวเสียเวลาเถียงกันหาคนผิดถูกเวลานั้น

 

2.  ตรวจสอบการบาดเจ็บก่อนสำรวจรถ

รถเสียหายยังซ่อมได้ แต่อวัยวะเสียหายอาจซ่อมไม่ได้ ดังนั้นต้องสำรวจตนเอง ผู้โดยสาร และคู่กรณีก่อน ว่าร่างกายได้รับบาดเจ็บอะไรหรือไม่ ถ้ามีให้รีบเรียกรถพยาบาล โทร.1669 ทันที หากเป็นแผลฉกรรจ์ หรือสงสัยว่าแตกหักผิดรูป ยังไม่ควรขยับหรือเคลื่อนย้าย เพราะอาจให้เกิดความเสียหายในภายหลัง จากนั้นค่อยเดินสำรวจรอบรถอย่างระมัดระวัง เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนได้ ถ้าอยู่บนทางด่วนหรือทางพิเศษ ควรโทรศัพท์แจ้งเหตุโดยเร็ว เพื่อให้เจ้าหน้าที่เดินทางมาอำนวยการที่จุดเกิดเหตุ

 

3. แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีหมายเลขโทรศัพท์สำหรับแจ้งอุบัติเหตุทางท้องถนน ที่สามารถใช้ได้เบอร์เดียวได้ทุกจุดทั่วประเทศ ยังคงแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ เช่น
ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร โทร.1197 สำหรับกรุงเทพและปริมณฑล ,ตำรวจทางหลวง โทร. 1193 สำหรับต่างจังหวัด และยังมีรายละเอียดแยกย่อยรายพื้นที่อีก บางคนอาจเลือกใช้เบอร์ 191 ซึ่งแท้ที่จริงเป็นเบอร์สายด่วนตำรวจสำหรับแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายทั่วไป แนะนำหากคุณไม่มั่นใจว่าควรใช้เบอร์ไหน สามารถแจ้ง จส.100 โทร. 1137 หรือ *1808(ฟรี) หรือกดปุ่ม SOS ผ่านแอป JS100 สามารถประสานต่อได้ทุกพื้นที่

 

4. แจ้งประกันภัย

หากเราทำประกันภัยไว้ ให้เตรียมรายละเอียดที่จำเป็นต่อการตอบคำถามก่อน เช่น จุดเกิดเหตุ ช่วงถนน รายละเอียดรถยนต์ และเลขที่กรมธรรม์ ส่วนหมายเลขโทรศัพท์ประกันภัยให้ดูที่ป้ายวงกลมที่ติดกระจกรถหรือในเอกสารกรมธรรม์ และระหว่างที่รอประกันภัยเดินทางมาถึง ให้เตรียมเอกสาร บัตรประชาชน ใบขับขี่ ให้พร้อมไว้เลย

 

5. การเคลื่อนย้ายก่อน จนท. มาถึง

หากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นไม่รุนแรง มีความเสียหายเล็กน้อย จุดที่เกิดอุบัติเหตุกีดขวางกลางถนน ส่งผลให้การจราจรติดขัด ตำรวจให้ข้อแนะนำว่าสามารถเคลื่อนย้ายให้พ้นการกีดขวางก่อนได้ โดยการถ่ายภาพเก็บหลักฐานให้ครบถ้วน 3 ส่วน เหมือนตำรวจ ได้แก่

– ถ่ายภาพลักษณะการเกิดอุบัติเหตุ ภาพตำแหน่งของล้อรถในช่องทางที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านหน้า ด้านข้าง ด้านหลัง และมุมกว้างให้เห็นเหตุการณ์ครอบคลุม

– ถ่ายภาพความเสียหายที่เกี่ยวข้อง ตำแหน่งบุบ แตก หรือเป็นรอย ที่มีความเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุ

– ถ่ายภาพรายละเอียดของตัวรถ ยี่ห้อ รุ่น และหมายเลขทะเบียน

ยกเว้นหากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมีผู้เสียชีวิต ห้ามเคลื่อนย้ายรถและคนโดยเด็ดขาดเลยนะคะ ต้องรอจนกว่าเจ้าหน้าที่จะมาถึง เนื่องจากอาจมีผลทางคดีอาญาได้นั่นเองค่ะ

 

6. เมื่อเจ้าหน้าที่มาถึงที่เกิดเหตุ

เจ้าหน้าที่มักจะเก็บหลักฐานจากจุดเกิดเหตุ สอบปากคำคู่กรณี และพยานแวดล้อม และแบ่งการดำเนินการดังนี้

– หากคู่กรณีตกลงความเสียหายกันได้ ตำรวจจะลงบันทึกประจำวันและให้แยกย้าย

– หากคู่กรณีตกลงความเสียหายกันไม่ได้ จะเชิญไปสอบปากคำที่สถานีตำรวจ และอาจมีการแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรฯ

– กรณีมีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ต้องไปสอบปากคำต่อที่สถานีตำรวจ และอาจมีการแจ้งข้อหาคดีอาญา

ทั้งนี้บ่อยครั้งที่เกิดอุบัติเหตุ คู่กรณีมักจะลงมาเถียงกันเพื่อหาคนผิดด้วยอารมณ์โมโห ต่างฝ่ายต่างเถียงว่าตนเองถูก ทั้งที่จริงแล้ว “ใครผิดใครถูก แม้แต่ตำรวจยังไม่สามารถฟันธงได้” ตำรวจเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาและรวบรวมพยานหลักฐานลงบันทึกประจำวันเท่านั้น ซึ่งหากเป็นการกระทำความผิดที่ชัดเจน และมีการชำระค่าปรับเกิดขึ้น คดีก็จะถึงที่สิ้นสุด แต่ถ้าคดียังไม่ชัดเจน เรายังสามารถรวบรวมพยานหลักฐานไปต่อสู้คดีในชั้นศาลได้อีกค่ะ

 

 

ที่มา : อภิสุข เวทยวิศิษฏ์