บทความนี้จะมานำเสนอ ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ การทำ CPR กันนะคะ ซึ่ง CPR นั้นก็จัดว่าเป็น วิธีปฐมพยาบาลที่สามารถเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับบุคคลที่ ตกอยู่ในสภาวะ หัวใจหยุดเต้นนั่นเองค่ะ ต่อไปเรามาดูความหมาย และขั้นตอนในการทำ CPR ที่ถูกต้องกันค่ะ
CPR หรือ Cardiopulmonary resuscitation คือการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ที่ใช้ฟื้นคืนชีพให้ผู้ที่หยุดหายใจ หรือหัวใจหยุดเต้น ให้กลับมามีชีพจรดังเดิมนั่นเองค่ะ
จะทำ CPR ตอนไหน คือตอนที่ผู้ป่วยหยุดหายใจ หรือเช็คชีพจรแล้วไม่มีการเต้นของหัวใจ เหตุการณ์แบบนี้เราพบได้ทั่วไป แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถช่วยเหลือหรือฟื้นคืนชีพได้ทันท่วงที เนื่องจากสมองของคนเราขาดอากาศได้ไม่เกิน 4 นาที การทำ CPR จะช่วยส่งเลือดพร้อมออกซิเจนขึ้นไปเลี้ยงสมอง ดังนั้นหากผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น และช่วยเหลือได้ทันท่วงทีแล้ว ก็จะสามารถที่จะทำให้ผู้ป่วยรายนั้นๆ สามารถจะรอดชีวิตไดนั่นเองค่ะ ดังนั้นบทความนี้ จึงอยากเชิญชวน ทุกๆ คน มาฝึกฝนการทำ CPR ที่ถูกต้อง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม เมื่อต้องเผชิญเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่างๆ จะได้มีความรู้ติดตัวไว้นะคะ ว่าการทำ CPR นั้น ต้องทำอย่างไรบ้าง
ควรทำ CPR ตอนไหน
เราสามารถเข้าไปทำ CPR ให้กับผู้ป่วยที่หมดสติ ลมหายใจอ่อน หรือหยุดหายใจ หัวใจใกล้หยุดเต้น หรือหยุดเต้นไปแล้ว ยกตัวอย่าง เช่น คนจมน้ำ คนหัวใจวาย คนสำลักควันไฟที่เกิดไฟไหม้ หรือ คนที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุต่างๆ
วิธีทำ CPR ที่ถูกต้อง
1. ตรวจดูความปลอดภัยบริเวณรอบๆ ตัวผู้ป่วย ยกตัวอย่าง เช่น มีของแหลมคม มีกระแสไฟฟ้า มีน้ำมัน มีไฟ หรือสิ่งอันตรายอื่นๆ หรือไม่ ถ้าดูแล้วไม่ปลอดภัย อย่าเพิ่งเข้าไปช่วยทันที ควรเรียกกู้ภัยมาช่วยเหลือจะเป็นการดีกว่า
2. หากสถานที่รอบๆ ผู้ป่วยปลอดภัยดี ให้เข้าไปหาผู้ป่วยทำการยืนยันว่าผู้ป่วยหมดสติจริง โดยการตีที่ไหล่แล้วเรียกด้วยเสียงดัง 4-5 ครั้ง หากผู้ป่วยยังรู้สึกตัวอยู่ และหายใจเองได้ ให้จับผู้ป่วยนอนตะแคง รอการช่วยเหลือ หรือโทรแจ้ง 1669 ไม่ควรทำ CPR ขณะที่ผู้ป่วยยังมีสติ
3. หากผู้ป่วยไม่ได้สติ ไม่ลืมตาจริงๆ และหยุดหายใจไปแล้ว ให้รีบโทรแจ้ง 1669 โดยด่วน แจ้งทางทีมงานว่าผู้ป่วยไม่ได้สติ หยุดหายใจ ให้นำเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ AED มาด้วย
4. เริ่มทำการกดหน้าอก หรือ ทำ CPR
โดยปฏิบัติตาม 4 ขั้นตอนการทำ CPR ง่ายๆให้เราจำ ดังนี้
1. กดให้ลึก หมายถึง กดหน้าอกจากหน้าอกโดยปกติให้ลึกลงไป 2 ถึง 2.4 นิ้ว
2. กดให้ร้อย หมายถึงอัตราความเร็วในการกด 100 ถึง 120 ครั้งต่อ 1 นาที
3. ปล่อยให้สุด หมายถึงเมื่อกดหน้าอกยุบลงไป 2ถึง 2.4 นิ้วแล้วให้ปล่อยให้อกกลับมาฟูเหมือนปกติทุกครั้งก่อนกดใหม่
4. อย่าหยุดกด หมายถึงอย่าทำการหยุดการกดหน้าอก จนกว่าจะมีทีมแพทย์ หรือกู้ภัยมาช่วยเหลือ หรือผู้ช่วยนั้นไม่สามารถกดต่อได้เนื่องจากอาการเหนื่อยล้า
การ CPR จะได้ผลดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความลึกและจำนวนครั้งในการกด หากลึกและเร็วได้อย่างสม่ำเสมอการ CPR ครั้งนั้นๆ ก็จะมีประสิทธิภาพ และจะเป็นเรื่องที่ดีมากถ้าหากสามารถทำเป็นทีมได้
อย่างน้อยในทีม 3 คน โดย
– คนที่ 1 มีหน้าที่เข้าประเมิน
– คนที่ 2 มีหน้าที่ประสานงานขอความช่วยเหลือ เช่น โทร1669
– คนที่ 3 คอยจับเวลาและพร้อมจะผลัดเปลี่ยนตำแหน่งกันได้ตลอดเวลา
4 ขั้นตอนที่กล่าวมานี้ให้ทำอย่างต่อเนื่องจนกว่าผู้ป่วยจะมีการตอบสนองเลยนะคะ
อย่างไรก็ตามก่อนที่จะทำการเข้าช่วยเหลือในการกดหน้าอกนั้นให้ผู้ช่วยเหลือประเมินความปลอดภัยของตนเองเสียก่อน จากนั้นให้
– ผู้ช่วยเหลือประเมินการหายใจ และชีพจรของผู้ป่วย ด้วยสิ่งที่ต้องประเมิน เช่น ความรู้สึกตัวระบบทางเดินหายใจ ว่ามีสิ่งอุดตันหรือไม่
– ระหว่างการทำ CPR นั้น ให้ผู้ช่วยเหลือผลัดกันทำเปลี่ยนกันทุก 2 นาที
– ระหว่างการเปลี่ยน ให้ผู้ช่วยเหลือทำการประเมินสัญญาณชีพผู้ป่วยทุกครั้ง
– แลให้ทำการปฏิบัติ วนผู้ช่วยเหลือไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีทีมทางการแพทย์มาสนับสนุน
– อย่างไรก็ตาม หากผู้ช่วยเหลือไม่สามารถทำได้ครบ 2 นาที ให้คำการส่งสัญญาณให้คนในทีมเข้าสนับสนุน เช่น มีอาการเหนื่อยล้าเนื่องจากปฏิบัติมาแล้วหลายครั้ง ต้องทำการส่งสัญญาณให้ผู้ช่วยเหลือคนถัดไปได้เตรียมตัวและพร้อมที่จะ CPR เพราะการที่หยุด CPR 1 ครั้งไม่ควรเกิน 7-10 วินาที
– การทำ CPR ในยุคสมัยนี้ อาจมีการใช้เครื่อง AED เข้าร่วมด้วย ทางสถานที่ สถานประกอบการใดๆ มีเครื่อง AED จะสามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้ค่อนข้างเยอะ
– การทำ CPR ในเด็กและผู้ใหญ่มีความแตกต่างกันเนื่องจาก วิธีการกด ความลึกจะต้องมีการแยกแยะ เช่น เด็กจะใช้วิธีการดูความหนาของลำตัวและกดเพียง 1 ใน 3 ของลำตัวเด็กเท่านั้น
– ส่วนทารกให้ใช้ปลายนิ้วชี้และนิ้วกลางทำการกดบริเวณตำแหน่งคือ กึ่งกลางอกส่วนล่าง
– ส่วนสุภาพสตรีนั้นให้วัดจากลิ้นปี่ขึ้นมา 2 นิ้ว
– ส่วนมือที่ใช้กดให้ใช้ฝ่ามือทั้งสองฝั่ง มาประสานทับกัน แล้วเลือกใช้บริเวณส้นมือวางไปตรงตำแหน่งที่ระบุไว้ แขนทั้งสองข้างเหยียดตรึงไม่งอข้อศอก รวมน้ำหนักจากลำตัวมาสู่หัวไหล่ และกดพุ่งตรงบริเวณจุดที่มาร์คไว้ โดยที่จะไม่ใช้ข้อมือหรือข้อศอกเป็นตัวกด แต่จะใช้กำลังทั้งตัวในการกดลงไป ขณะที่นั่งให้ผู้ช่วยเหลือคุกเข่าบริเวณข้างลำตัวผู้ป่วย โดยการนั่งไม่นั่งทับบนส้นเท้า กางหัวเข่าออกให้ได้หลัก แล้วกดลงบริเวณที่มาร์คไว้
การช่วยหายใจด้วยการเป่าปาก ในปัจจุบันนี้ไม่นิยมให้เป่าปากหรือเม้าส์ทูเม้าส์แล้วนะคะ เพราะจะเป็นการติดเชื้อระหว่างผู้ช่วยเหลือหรือผู้ป่วยได้นั่นเองค่ะ
ดังนั้นจึงมีอุปกรณ์ช่วยเหลือที่เรียกว่า Pocket แมส หรือแอมบูแบค ซึ่งจะมีตัววาล์วต่างๆ ซึ่งสามารถป้องกันการติดเชื้อระหว่างผู้ช่วยเหลือและผู้ป่วยได้
– มาตรฐานเดิมในการทำ CPR ควรกดหน้าอก 30 ครั้งเป่าปาก 2 ครั้ง
– ส่วนในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่จมน้ำ หลักในการช่วยเหลือควรเป่าปากก่อน 5 ครั้ง จึงเริ่มทำ CPR ลักษณะในการเป่าปากให้เป่าให้สุดลม จำนวน 2 ครั้ง แล้วเช็คดูว่าขณะที่เป่าเข้าไปนั้นลมเข้าที่หน้าอก หรือหน้าท้องหากเป่าแล้วหน้าอกฟูขึ้นนั่นหมายถึง อากาศเข้าปอด หากเป่าแล้วหน้าท้องฟูขึ้นนั่นแสดงถึงการเป่าปากที่ผิด
เมื่อไรควรหยุดทำ CPR
ควรทำ CPR ไปเรื่อยๆ จนกว่าทีมกู้ภัย หรือหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จะมาถึง แล้วเข้าช่วยเหลือด้วยเครื่อง AED อีกครั้ง ก่อนนตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล
อย่างไรก็ตามนะคะ ระหว่างการทำ CPR เราควรเรียกคนมาช่วย รีบโทรแจ้ง 1669 / 1745 เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ให้เร็วที่สุด หากสามารถนำส่งโรงพยาบาลด้วยตัวเองได้ ก็สามารถทำ CPR ระหว่างนำส่งโรงพยาบาลได้เช่นกันค่ะ ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนให้ทุกๆคนมา ฝึกการทำ CPR ไว้นะคะ เพื่อเตรียมความพร้อมหากต้องเจอเหตุฉุกเฉินนั่นเองค่ะ